ดีมานด์ “ยา-วัคซีน” พุ่ง ฮิตาชิ-ฟูจิฟิล์ม ทุ่มอัพเกรดโรงงาน

MARKET MOVE

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ยา วัคซีน อุปกรณ์ หรือการบริการ ทวีความสำคัญมากขึ้น จนกลายเป็นโอกาสที่หลายบริษัทไม่อาจมองข้ามได้ และต้องหันมาลงทุนหวังร่วมกระแสเติบโตนี้

ล่าสุด ฮิตาชิ และฟูจิฟิล์ม เป็น 2 ยักษ์อุตสาหกรรมและเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น ประกาศเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสุขภาพ ระดับตั้งแต่หมื่นล้านถึงแสนล้านเยน เพื่อเพิ่มศักยภาพหน่วยวิจัยพัฒนา โรงงาน รวมถึงเตรียมซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสริม หวังสร้างความได้เปรียบเพื่อช่วงชิงดีมานด์ที่กำลังเติบโต

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ฮิตาชิประกาศแผนลงทุนมูลค่า 3 แสนล้านเยน หรือคิดเป็น 8.9 ล้านบาท ขณะที่ฟูจิฟิล์มเตรียมลงทุน 9 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ในธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต เมื่อการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง

ฮิตาชิระบุว่า เม็ดเงินลงทุนนี้ 100 ล้านเยน จะใช้ในหน่วยงานวิจัยพัฒนาด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ อาทิ ระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงของการติดโรคติดต่อ และเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม ส่วนอีก 150 ล้านเยน สำรองไว้เพื่อซื้อหรือควบรวมกิจการที่มีศักยภาพในช่วงปีงบประมาณ 2564-2566

Advertisment

หลังจากก่อนหน้านี้ ยักษ์อุตสาหกรรมรายนี้ตัดสินใจขายธุรกิจถ่ายภาพทางการแพทย์ อาทิ ซีทีและเอ็มอาร์ไอ ให้กับฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการผันตัวไปโฟกัสด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ เช่น ระบบวิเคราะห์โมเลกุลเพื่อวินิจฉัยมะเร็งจากตัวอย่างเลือด หรือเอไอสำหรับเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ สร้างศูนย์ข้อมูลสำหรับโรงพยาบาล รวมถึงผนึกกำลังกับบริษัทในเครือพัฒนาการรักษามะเร็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ฮิตาชิหวังจะเพิ่มยอดขายจากธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพให้แตะ 3.6 แสนล้านเยน ภายในสิ้นปีงบฯ 2567 หรือเพิ่มขึ้น 70% จากตัวเลขคาดการณ์รายได้จากธุรกิจการแพทย์ในปีงบฯ 2564 นี้

เป็นไปในทิศทางเดียวกับฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง ที่จะใช้เม็ดเงิน 9 หมื่นล้านเยน อัพเกรดโรงงานฟูจิฟิล์ม ดิโอซินท์ ไบโอเทคโนโลยี ซึ่งมีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงเซลล์ เพาะเลี้ยงเชื้อ ผลิตวัคซีน และอื่น ๆ เพื่อรองรับดีมานด์ที่กำลังพุ่งสูงขึ้น หลังหลายบริษัทเร่งวิจัยพัฒนายาและวัคซีนโควิด-19 แต่การพัฒนายาและวัคซีน รวมถึงการผลิตต้องอาศัยทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีระดับสูง ราคาแพง บริษัทยาหลายแห่งจึงเลือกการจ้างผลิตมากกว่าที่จะลงทุนเอง

กลายเป็นโอกาสของบริษัทที่มีโรงงานในมืออย่าง ฟูจิฟิล์ม ดิโอซินท์ ไบโอเทคโนโลยี ซึ่งฟูจิฟิล์มลงทุนร่วมกับมิตซูบิชิ และมีสาขาในหลายประเทศทั่วโลก

Advertisment

โดยฟูจิฟิล์มคาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะสามารถเพิ่มกำลังการเพาะเลี้ยงเซลล์ของโรงงานในสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน (recombinant protein vaccines) หนึ่งในเทคนิคที่หลายบริษัทนำมาใช้ผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 ด้วย

ขณะเดียวกัน ฟูจิฟิล์ม ดิโอซินท์ ไบโอเทคโนโลยี ยังเดินหน้าขยายโรงงานในสหราชอาณาจักร ด้วยการขยายพื้นที่ฝ่ายวิจัยและผลิต เพื่อเพิ่มกำลังผลิตยาแบบพันธุกรรมบำบัดขึ้นอีก 10 เท่า และเพาะเลี้ยงเซลล์ให้ได้มากขึ้น 3 เท่า

โปรเจ็กต์นี้ถือเป็นการลงทุนต่อเนื่องของฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง จากก่อนหน้านี้ที่เคยประกาศแผนขยายโรงงานในเดนมาร์ก และการตั้งโรงงานแห่งใหม่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาไปแล้ว

ทั้งนี้ ปีงบฯ 2563 ธุรกิจรับจ้างพัฒนาและผลิตสารชีวภาพของฟูจิฟิล์ม มีรายได้ 1 แสนล้านเยน เติบโตถึง 70% จากปีก่อนหน้า และมีเป้าทำรายได้ให้ถึง 2 แสนล้านเยน ภายในปีงบฯ 2567 และเติบโตต่อเนื่องปีละ 20%

ด้านผู้เชี่ยวชาญในวงการเชื่อว่า อุตสาหกรรมการพัฒนาและการผลิตสารชีวภาพเติบโตประมาณปีละ 10% และหลังจากนี้มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วขึ้นอีก จากดีมานด์การผลิตยา วัคซีนโควิด-19

ปัจจุบัน ฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่า 10% ตามหลังรายใหญ่อย่างลอนซ่า ของสวิตเซอร์แลนด์

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในวงการนี้เริ่มส่อแววดุเดือด เมื่อผู้เล่นรายอื่น ๆ อาทิ ซัมซุง ไบโอโลจิก ลงทุน 1.7 ล้านล้านวอน สร้างโรงงานแห่งใหม่เมื่อปีที่แล้ว ส่วนเอจีซี ไบโอโลจิก ได้ทุ่มงบฯซื้อโรงงานแอสตร้าเซนเนก้าในสหรัฐ

จากนี้ไปต้องจับตาว่า การขยายตัวของแต่ละรายจะส่งผลกับการพัฒนา-ผลิตวัคซีนโควิด-19 อย่างไร