ปิดฉากร้านโคเลตต์ สุดต้านกระแสแฟชั่นอีคอมเมิร์ซ

คอลัมน์ MARKET MOVE

ถือเป็นเหตุการณ์ช็อกวงการแฟชั่นและดีไซเนอร์ เมื่อ โคเลตต์Ž (Colette) ร้านสินค้าแฟชั่นและคาเฟ่ชื่อดังซึ่งได้รับการยกย่องจากนิตยสารฟอร์บสว่าเป็นร้านที่นำเทรนด์ที่สุดในโลก ได้ประกาศอย่างกะทันหันผ่านทางเว็บไซต์ของร้านว่าจะปิดกิจการในวันที่ 20 ธ.ค.ปี 2560 นี้ หลังจากดำเนินกิจการต่อเนื่องมานาน 20 ปี โดยให้เหตุผลว่า โคเลตต์ รุสโซŽ ผู้ก่อตั้งร้านต้องการเกษียณตนเอง

ทั้งนี้ โคเลตต์Ž เป็นร้านสินค้าแฟชั่นมัลติแบรนด์ผสมคาเฟ่ ขนาด 3 ชั้น รวมพื้นที่ 743 ตร.ม. ตั้งอยู่บนถนนรูเซนฮอนอเร ในย่านแฟชั่นของกรุงปารีส ก่อตั้งโดย โคเลตต์ รุสโซŽ และลูกสาว ซาร่า แอนเดลแมนŽ เมื่อเดือน มี.ค.ปี 2540 มีจุดเด่นด้านสินค้าแฟชั่นที่ดีไซน์โดดเด่นล้ำสมัย จนได้รับการยอมรับจากสื่อและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่างนิตยสารฟอร์บสและ คาลล์ ลาเกอร์เฟลŽ ดีไซเนอร์ของชาแนลที่เป็นลูกค้าขาประจำ เพราะ สินค้าของร้านนี้หาไม่ได้ที่อื่นŽ

จุดเด่นนี้ช่วยดึงดูดลูกค้าทั้งนักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องในวงการแฟชั่นให้มาอุดหนุน โดยที่ผ่านมามีการคอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์ดังหลายราย อาทิ บาเลนเซียกา (Balenciaga), แอร์เมส (Hermes), อิเกีย (Ikea), เวสป้า (Vespa), แวน (Van) และอื่น ๆ เพื่อผลิตสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่น

โดย ซาร่า แอนเดลแมนŽ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับตนเองเช่นกัน แต่เชื่อว่าร้านโคเลตต์นั้นจะไม่สามารถรักษาตัวตนไว้ได้ หากไม่มีโคเลตต์ รุสโซเป็นผู้บริหาร จึงตัดสินใจปิดตัวแทนที่จะขายกิจการให้บุคคลภายนอก

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ร้านจะยังดำเนินกิจการตามปกติจนกว่าจะถึงกำหนดปิดตัว รวมถึงแผนคอลลาบอเรชั่นกับ ชาแนลŽ (Chanel) และ แซงต์ โลรองต์Ž (Saint Laurent) ที่ได้ประกาศออกไปก่อนหน้าแล้วส่วนตัวอาคารและพนักงานนั้นอยู่ระหว่างการเจรจากับแบรนด์แซงต์ โลรองต์ให้มารับช่วงต่อด้วยการเปิดสาขาใหม่ ซึ่งหากสำเร็จพนักงานจะถูกโอนย้ายไปสังกัดกับแซงต์ โลรองต์โดยอัตโนมัติ

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า นอกจากการเกษียณตัวเองของผู้ก่อตั้งแล้ว แรงกดดันจากอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจเองมีส่วนในเรื่องนี้ ตามที่ ซาร่า แอนเดลแมน เคยระบุว่า รายได้ของร้านลดลงตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากเหตุก่อการร้ายหลายครั้งยังทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้บริโภคท้องถิ่นเริ่มซื้อสินค้าแฟชั่นทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับค่าเช่าพื้นที่ในย่านดังกล่าวซึ่งขยับตัวขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับสัดส่วนยอดขายของร้านเองที่จากยอดรวม 28 ล้านยูโร หรือประมาณ 32 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นมาจากออนไลน์ถึง 25%

เหตุการณ์นี้นอกจากแสดงถึงสภาพเศรษฐกิจในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายแล้ว ยังสะท้อนภาพแรงกดดันจากอีคอมเมิร์ซที่มีต่อร้านค้าออฟไลน์ ซึ่งแม้แต่ร้านระดับตำนานยังไม่อาจต้านทานได้