ลดราคาเกลื่อนเชลฟ์ กุญแจเพิ่มกำลังซื้อ ปลุกจับจ่าย

ราคาสินค้า
คอลัมน์ : จับกระแสตลาด

สัญญาณ “ลบ” เริ่มเด่นชัดเจนมากขึ้นตามลำดับตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” และส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น บวกกับสถานการณ์สงครามที่ทำให้วัตถุดิบหลาย ๆ อย่างขาดแคลนและมีราคาพุ่งขึ้น ติดตามมาด้วยการทยอยปรับขึ้นราคาของสินค้าต่าง ๆ

ล่าสุดปัญหาค่าครองชีพผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับรายได้ และตัวเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เริ่มส่งผลกระทบกับยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นหลาย ๆ อย่าง เริ่มชะลอตัวลง

เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีก ประจำเดือนมิถุนายน 2565 ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ลดลงมาอยู่ที่ 48.9 ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพฤษภาคมที่ 53.3 จุด ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ปัจจัยจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และแม้ว่ามีแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง

โดยพบว่ายอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จจะเพิ่มขึ้น 6.5 จุด มาอยู่ที่ระดับ 52.2 แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น (เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 7%)

ขณะที่ความถี่ในการจับจ่าย กลับลดลง 5 จุด อยู่ที่ระดับ 50.0 และยอดขายสาขาเดิม ปรับลดลง 6.5 จุด

ขณะที่ “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้เริ่มมีสินค้าบางกลุ่มที่มียอดขายลดลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ จากรายได้ที่สวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จึงประหยัดและจับจ่ายน้อยลง

เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกรายย่อยที่จะไม่สต๊อกสินค้าไว้มาก ซื้อมาแค่พอขาย และจากยอดขายที่ลดลงทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์ ต้องหันมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น โดยเฉพาะการลดราคา

เช่นเดียวกับ “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า “จากการคุยกับผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งหลาย ๆ ราย ขณะนี้สินค้าหลาย ๆ อย่างเริ่มขายได้ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ รวมถึงสินค้าในเครือสหพัฒน์เองมีบางรายการที่หลุดเป้า บางรายการที่ยังทำได้ตามเป้า ซึ่งคาดว่าสินค้าในเซ็กเมนต์เดียวกันได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ปัญหาหลักมาจากผู้คนระวังการจับจ่ายและซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น เมื่อยอดขายทำไม่ได้ตามเป้า จึงมีการปรับเป้าให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ต้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

สิ่งดังกล่าวบ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่าย จากปัญหากำลังซื้อที่อ่อนแอ ทำให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น ลดการบริโภค และนี่ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับเป็นช่วงของโลว์ซีซั่นของหลาย ๆ สินค้า จึงเป็นที่มาของการที่บรรดาซัพพลายเออร์ ต้องเร่งจับมือกับค้าปลีกจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายครั้งใหญ่ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วน

 

 

อัดโปรฯลดราคาปลุกยอด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจบรรยากาศการจับจ่ายของค้าปลีก 2 ค่ายใหญ่ “โลตัส-บิ๊กซี” พบว่ามีการร่วมกับซัพพลายเออร์รายใหญ่ ทั้งสินค้าผงซักฟอก แชมพู ครีมนวดผม สบู่ โลชั่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม จัดแคมเปญ สำหรับช่วงเดือนกรกฎาคมนี้กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการลดราคาที่หลากหลายมิติ รวมถึงแคมเปญ ซื้อ 1 แถม 2 ซื้อ 2 แถม 1 ที่มีให้เห็นแทบทุกสินค้า

เริ่มจากโลตัสที่ซัพพลายเออร์รายใหญ่ทั้งยูนิลีเวอร์, พีแอนด์จี, ไลอ้อน, คอลเกต, บีเจซี, เนสท์เล่, นีโอ คอร์ปอเรท, ไอ.พี. เทรดดิ้ง ฯลฯ ที่ยกขบวนสินค้ามาจัดรายการพิเศษในรูปแบบเดียวกัน ทั้งการลดราคาและคูปองส่วนลด เช่น ผงซักฟอง เปา (ไลอ้อน) จาก 170 บาท ลดเหลือ 139 บาท (ลด 31 บาท) พร้อมแถมน้ำยาปรับผ้านุ่ม, น้ำยาปรับผ้านุ่ม ดาวน์นี่ (พีแอน์จี) แพ็ก 2 แถม 1 จาก 138 บาท ลดเหลือ 135 บาท, วาสลีน โลชั่น (ยูนิลีเวอร์) 1 แถม 1 จาก 349 บาท ลดเหลือ 289 บาท (ลด 60 บาท), ดีนี่ เบบี้โลชั่น (นีโอ คอร์ปอเรท) 1 แถม 1 จาก 189 บาท ลดเหลือ 289 บาท (ลด 57 บาท)

ขณะที่เนสท์เล่ นอกจากการลดราคาสินค้าแล้ว ยังมีคูปองส่วนลดแจกเพิ่มอีก เช่น ซื้อไมโล เนสวีต้า เนสกาแฟ ครบ 199 บาท (30 มิ.ย.-20 ก.ค.) รับคูปองส่วนลด 35 บาท ส่วนยาสีฟันคอลเกต (30 มิ.ย.-20 ก.ค.) แพ็กคู่ นอกจากลดราคาจาก 112 บาท เหลือ 99 บาทแล้ว หากซื้อสินค้าในเครือคอลเกตครบ 299 บาท จะได้รับคูปองส่วนลดอีก 50 บาท

หรือยูนิลีเวอร์ หากซื้อสินค้าครบตามเงื่อนไข 99 บาท สามารถแลกซื้อสินค้าในราคาพิเศษ เช่น ผงซักฟอกบรีส เพียง 99 บาท จาก 159 บาท หรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม คอมฟอร์ท ราคา 48 บาท จากปกติ 79 บาท เช่นเดียวกับผ้าอ้อมสำเร็จรูป มามี่โพโค ซื้อครบ 1,100 บาท ลด 110 บาท หรือซื้อครบ 899-1099 บาท ลด 80 บาท

สำหรับแคมเปญของบิ๊กซี (7-27 ก.ค.) นอกจากการลดราคาสินค้าจากหน้าป้ายแล้ว ยังมีการแจกคูปองส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าครบตามเงื่อนไขหรือมูลค่าที่กำหนด 20-50 บาท เช่นกัน เช่น ซื้อ เนสกาแฟ เนสวีต้า ไมโล ครบ 299 บาท ได้รับคูปองส่วนลดอีก 20 บาท หรือกรณีของไฮยีน วิกซอล โฟกัส และไอวี่ (ไอ.พี. เทรดดิ้ง) ซื้อครบ 350 บาท รับคูปองส่วนลด 50 บาท

นอกจากนี้ สินค้าหลาย ๆ อย่างยังมีการจัดใส่ถุงเป็นแพ็กคู่ ซื้อ 1 แถม 1 ขายในราคาพิเศษ อาทิ แชมพู+ครีมนวด ซันซิล จาก 199 บาท เหลือ 169 บาท (ลด 30 บาท) รีจอยส์ แชมพู+ครีมนวด จาก 199 บาท เหลือ 179 บาท, แพนทีน 1 แถม 1 จาก 249 บาท เหลือ 229 บาท และนี่ยังไม่นับรวมสินค้าที่มีทั้งการลดราคา และซื้อ 1 แถม 1 หรือซื้อ 2 แถม 1 อีกจำนวนมาก

เช่นเดียวกับด้านความเคลื่อนไหวของค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในต่างจังหวัด อาทิ ธนพิริยะ จังหวัดเชียงราย ที่มี 39 สาขา ได้จัดโปรโมชั่นแพ็กคู่สุดคุ้ม แชมพูและครีมนวดซันซิล (400-425 มล.) ราคา 169 บาท จาก 179 บาท (ถึง 20 ก.ค.) ดาวน์นี่ (รีฟิล) 1.35 ลิตรซื้อ 1 แถม 1 ราคา 179 บาท (13 ก.ค.) เป็นต้น

ปลากระป๋องไม่จัดโปรฯ

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่คอนซูเมอร์โปรดักต์กระหน่ำโปรฯลดราคาออกมากระตุ้นการจับจ่ายกันอย่างหวังผล แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า มีสินค้าบางรายการที่ไม่มีการจัดรายการส่งเสริมการขาย คือ ปลากระป๋อง

ขณะที่บะหมี่สำเร็จรูปมาม่า มีการจำกัดการซื้อไว้ที่ 6 ชิ้น/ครอบครัว น้ำมันพืช 3 ชิ้น/ครอบครัว

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจปลากระป๋องกล่าวในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากปลากระป๋องยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคา จึงทำให้ไม่มีงบฯที่จะมาซัพพอร์ต และไม่สามารถจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายได้ จึงต้องปล่อยไปตามสภาพ ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการปลากระป๋องประสบปัญหาในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งกระป๋อง และวัตถุดิบปลา ที่ผ่านมายอดขายสินค้ากลุ่มปลากระป๋องหลาย ๆ แบรนด์ในร้านค้าต่างจังหวัดเริ่มตกลง มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป จากปัญหากำลังซื้อที่เกิดขึ้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” อธิบายภาพที่เกิดขึ้นว่า “เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบหลักแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ ซึ่งอยู่ระหว่างรอกระทรวงพาณิชย์อนุญาต จึงต้องปรับกำลังผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้สอดคล้องกับสภาพตลาด เบื้องต้นยังผลิตตามความต้องการของตลาด หากมีความต้องการมากก็ผลิตเยอะ แต่ขณะนี้ตลาดไม่มีกำลังซื้อก็ผลิตน้อยลง และหันมาส่งออกมากขึ้น”

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวในการพลิกฟื้นยอดขายให้กลับคืนมาโดยเร็ว ส่วนจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอน่าจะรู้ผล โดยมีปัจจัยในเรื่องของกำลังซื้อเป็นตัวชี้วัด