สรรพสามิตชงภาษีรถอีวี0% บี้ลงทุนทันทีรับสิทธิ์ยาว3ปี

คลังรับลูกบิ๊กตู่ปั้นไทย “ฮับอีวี” เตรียมคลอดแพ็กเกจ “อีวี 2” หั่นภาษีสรรพสามิต 0% กระตุ้นผู้ประกอบการได้ไฟเขียวบีโอไอเร่งผลิตขายภายใน 2 ปี พ่วง “ไมลด์ ไฮบริด” ชง ครม.เคาะอัตราภาษี 4% ค่ายรถยนต์เฮ “เบนซ์-บีเอ็มฯ” พร้อม ระบุปลั๊ก-อิน ไฮบริดแค่ถอดเครื่องยนต์ออก ก็คือ “เพียวอีวี”

กระแสการผลักดันแพ็กเกจกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย ไฮบริด (hybrid electric vehicle : HEV), ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (plug-in hybrid electric vehicle : PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า (battery electric vehicle : BEV) แม้จะสิ้นสุดการยื่นรับเรื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อปลายปี 2561 แต่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ มีการแตกแพ็กเกจอื่น ๆ เพิ่มเติมทั้งอีโค ไฮบริด, ไมลด์ ไฮบริด หรืออีโค อีวี ซึ่งถือเป็นแพ็กเกจเร่งด่วนในรูปแบบออนท็อปเสริมเข้าไปในแพ็กเกจภาษีเดิม ตั้งใจให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หั่นภาษีรถอีวีเหลือ 0% 

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูหากลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จากเดิม 2% ให้เหลือ 0% ทำได้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเร็วขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีเอกชนจำนวนมากสนใจขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า มาตรการลดภาษีรถยนต์อีวี ที่กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ เพื่อออกประกาศกฎกระทรวงใน 1-2 สัปดาห์นี้เป็นมาตรการต่อยอดแพ็กเกจสนับสนุนที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์อีวีทันที หากทำได้ใน 2 ปี หรือภายในปี 2564 จะได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตให้เป็น 0%

ยกเว้นสรรพสามิต 3 ปี

“มาตรการภาษีสรรพสามิตยกเว้น 3 ปีหรือคิดที่ 0% เป็นมาตรการชั่วคราวที่ให้เพิ่มจากบีโอไอให้ 2% เราคาดการณ์ว่าตอนนี้แต่ละค่ายยื่นบีโอไอกันหมดแล้ว ปลายปี 2562 ถึงช่วงต้นปี 2563 บอร์ดบีโอไอน่าจะมีการทยอยอนุมัติ จากนั้นถ้าผู้ประกอบการเริ่มผลิตภายใน 2 ปี ก็สามารถรับสิทธิ์ยกเว้นภาษีได้เลย”

แหล่งข่าวยอมรับว่า คงต้องมีการกำหนดปริมาณการผลิตด้วย ไม่ใช่ผลิตเพียงไม่กี่คันเพื่อหวังได้ภาษีที่ลดลงเท่านั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ย้ำว่า แนวทางกระทรวงการคลังลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) เหลือ 0% จะเป็นมาตรการชั่วคราวแค่กระตุ้นให้ภาคเอกชนเร่งลงมือผลิต คาดว่าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็ว ๆ นี้

พ่วงภาษีไมลด์ ไฮบริด 4%

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาควรเสนอ ครม.อนุมัติหลักการในส่วนภาษี “ไมลด์ ไฮบริด” ในคราวเดียวกันด้วย ซึ่งมีการประชุมผู้เกี่ยวข้องวันที่ 25 ก.พ.นี้ พิจารณาการกำหนดอัตราภาษี 4% ตามที่ผู้ประกอบการร้องขอเข้ามาว่าเป็นไปได้หรือไม่ โดยต้องดูไม่ให้กระทบกับการส่งเสริมรถยนต์ประเภทอื่นที่มีการส่งเสริมอยู่แล้ว ทั้งอีโคคาร์และแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภท

ส่วนมาตรการภาษีผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ในประเทศไทย จากปัจจุบันยังเป็นยูโร 4 เน้นให้มีการลดราคารถยนต์แก่ผู้บริโภค โดยการผลิตรถลดฝุ่นได้ตามมาตรฐานก็จะได้ลดภาษี

“รัฐบาลต้องการให้ราคารถถูกลง เพื่อจะได้จูงใจผู้บริโภคทำให้อยากซื้อ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตเร่งผลิตรถที่กรองฝุ่นออกมาได้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

คลอดภาษีสรรพสามิตรับยูโร 5

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังเสนอ ครม.พิจารณามาตรการภาษีสรรพสามิตส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 5 โดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อาจเสนอแพ็กเกจภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ หรือแพ็กเกจอีวี 2 ไปในคราวเดียวกันด้วย

โดยมาตรการแพ็กเกจเสริมรถอีวีอาทิ ไมลด์ ไฮบริด อีโค อีวี ต้องทำให้สอดคล้องกับการส่งเสริมบีโอไอ หลักการที่ต่างไปจากมาตรการที่เคยสนับสนุนผ่านบีโอไอ คือ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นพิเศษ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าต้องไปสู่แบตเตอรี่เพียว ๆ ภายในกำหนด เช่น ถ้าลดภาษีให้ 7% เหลือ 2% หรือลดจาก 10% เหลือ 5% (ตัวเลขสมมุติ) เมื่อครบ 3 ปีต้องผลิตให้ได้ตามเงื่อนไข หากทำไม่ได้จะถูกเรียกเก็บภาษีคืน เป็นต้น

“เรามุ่งจูงใจผู้บริโภค แล้วไปกดดันผู้ผลิตเร่งผลิตมาขาย ไม่ได้ไปขึ้นภาษีของเก่า แต่ถ้าทำของใหม่ได้ดีกว่า สามารถลดฝุ่นละอองได้ ก็จะได้อัตราภาษีที่ลดลง”

ปล่อยฝุ่นน้อยภาษีถูกลงอีก

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่าปัจจุบันรถยนต์ดีเซล ยูโร 4 ค่าฝุ่นอยู่ที่ 0.025 มิลลิกรัมต่อ ลบ.ม. ส่วนยูโร 5 อยู่ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อ ลบ.ม. ซึ่งต่ำกว่ามาก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้เกิดการเร่งผลิตยูโร 5 ให้เร็วขึ้นภายใน 3 ปีหน้า จึงใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนให้เกิดเร็วขึ้น

“คงไม่ถึงกับต้องทำยูโร 5 ทั้งระบบ แต่ถ้าเราบังคับว่า ค่าฝุ่นต้องไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัมต่อ ลบ.ม. ก็สามารถติดตัวกรองฝุ่นเข้าไปได้ ทำให้ฝุ่นน้อยลง โดยใช้มาตรการภาษี”

นอกจากนี้ ในส่วนการขอรับส่งเสริมรถอีวีจากบีโอไอว่า ต้องมี 4 องค์ประกอบหลัก1.แบตเตอรี่ 2.แผนกำจัดซากแบตเตอรี่ 3.ระบบมอเตอร์ 4.ระบบไฟ ซึ่งส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศ

ปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ยังสูงถึงคันละเกือบ 2 ล้านบาท แม้ได้สิทธิประโยชน์ภาษีจากบีโอไอ ราคาก็ไม่ได้ลดลงมาก ทางบีโอไอกับกระทรวงอุตฯ จึงผลักดันรถอีโค อีวี เพื่อให้ประหยัดต้นทุนต่อขนาด

ค่ายรถยังตั้งตัวไม่ติด

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อ ผู้บริหารส่วนใหญ่แจ้งว่า ยังไม่ทราบเรื่อง บางรายมองเป็นเรื่องดี กระตุ้นให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเร็วขึ้น แต่บางรายห่วงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม แม้ว่าระยะหลังทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ไม่น่าเพียงพอ ส่วนเมื่อผลิตแล้วตลาดมีความต้องการมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับการลงทุนขึ้นไลน์ผลิต และวอลุ่มการใช้ชิ้นส่วนด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางยี่ห้อมองว่ารัฐบาลปัจจุบันเร่งทำทุกอย่างน่าจะมีผลกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเสริมว่า เมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ ทางผู้บริหารโตโยต้ามีนัดหมายเข้าพบรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าประเด็นเรื่องผลักดันแพ็กเกจเสริมน่าจะได้มีการหารือกันเพิ่มเติมด้วย

สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้ากับทางบีโอไอ ขณะนี้มีค่ายยุโรป 2 ยี่ห้อ คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยูเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติในหมวดรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนค่ายอื่น ๆ แม้ว่ายื่นขอรับส่งเสริมเกือบทุกค่าย

แต่เป็นแค่แพ็กเกจกลุ่มรถยนต์ไฮบริดเท่านั้น เมื่อดูจากความพร้อม เมอร์เซเดส-เบนซ์น่าจะมีความพร้อมมากที่สุด ตั้งแต่การนำรถยนต์ที่เป็นเพียวอีวี ในชื่อรุ่น “อีคิวซี” เข้ามาทำตลาดในไทย การใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 100 ล้านยูโร สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ในโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ สมุทรปราการ พร้อมทั้งประกาศว่าภายในปี 2565 จะผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างน้อย 1 รุ่น

ผู้บริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยระบุชัดเจนว่า รถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่จำหน่ายในปัจจุบัน มีคุณสมบัติเทียบเท่ารถยนต์ไฟฟ้าเพียงแต่ต้องมีเครื่องยนต์ไว้เพราะโครงสร้างพื้นฐานไทยยังไม่พร้อม จึงจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ไว้ช่วยเหลือกรณีไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หมด

บิ๊กตู่ดันไทยฮับอีวี 

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ส่วนหนึ่งของมาตรการระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ที่กำลังเป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ก็คือการพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันสิ่งที่แพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่ ซึ่งต้องเร่งพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น โดยต่างประเทศก็มีปัญหาในเรื่องของอายุการใช้งานเช่นกัน

“จะเห็นได้ว่ามีแบตราคาถูก ราคาแพงถ้าราคาถูกคุณภาพก็ด้อยกว่า ราคาแพงบางทีก็แพงเกินไป เพราะฉะนั้น ประเทศไทยกำลังพัฒนาเรื่องนี้ในพื้นที่ EEC เรื่องแบตเตอรี่และรถไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการ fast track ของเราด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

โดยในรายการได้นำเสนอ roadmap ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือเป็น “EV Hub” ของภูมิภาค และของโลก รวมถึงมีการผลักดันโครงการวิจัยและพัฒนาที่ร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในราคาไม่เกิน 2 แสนบาท (ไม่รวมราคาแบตเตอรี่) หรือถูกลงเรื่อย ๆ ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่เป็น EV ที่ยังแพงอยู่

ทั้งนี้ ในปี 2563 กฟผ.ตั้งเป้าพัฒนาศูนย์บริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชน เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสร้างรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกให้คนไทยได้ใช้งานในอนาคต

ขณะเดียวกันในรายการดังกล่าว ยังได้รายงานถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนต์ EV ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาได้มีมาตรการส่งเสริมรถยนต์ EV รอบที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 7 ราย ที่ผลิตรถยนต์ HEV และ PHEV ที่มีกำลังการผลิตรวมกว่า 269,700 คันต่อปี เงินลงทุนรวม 29,459 ล้านบาท โดยได้เริ่มผลิตรถยนต์ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจะออกมาตรการส่งเสริม EV รอบที่ 2 ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และ BOI ร่วมกันปรับปรุงมาตรการภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างและพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์ไปสู่ฐานการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นเทคโนโลยีหลัก (core technology) ของรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์ BEV และ EV ประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมาตรการส่งเสริม EV รอบที่ 2 นี้ จะแล้วเสร็จและมีผลภายในรัฐบาลนี้

คลิกอ่าน…“มิตซูบิชิ” ฟันธง ปลั๊ก-อินไฮบริด แมตช์กับเมืองไทยที่สุด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!