“กรังด์ปรีซ์” จัดทัพรุกอีสปอร์ต หนีดิจิทัลดิสรัปต์สิ่งพิมพ์ปูพรมอีเวนต์

กรังด์ปรีซ์ปรับใหญ่เล็งขยายธุรกิจสตาร์ตอัพ ต่อยอดความแข็งแกร่ง ทุ่มอีก 10 ล้านผุดสนามกรังด์ปรีซ์ มอเตอร์ พาร์ค ลุยจัดแข่งอีสปอร์ตหวังปั้นนักแข่งมืออาชีพ

นายอโณทัย เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนพัฒนาธุรกิจของกรังด์ปรีซ์ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดจากธุรกิจสื่อและอีเวนต์ในฐานะผู้จัดงานบางกอกมอเตอร์โชว์ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัพ เนื่องจากปัจจุบันในเมืองไทยยังไม่มีใครสนใจและทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ตอัพของอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องอย่างพวกโมบิลิตี้ หรือทำให้สามารถเชื่อมต่อแบบครบวงจรได้

โดยในเร็ว ๆ นี้บริษัทจะจัดให้มีการประกวดสตาร์ตอัพด้านคอมมิวนิตี้ยานยนต์ ดังนั้น ใครจะเข้ามาเกี่ยวข้องจะต้องทำสินค้าหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแวดวงยานยนต์ โดยบริษัทจะคัดเลือกผู้ชนะและสนับสนุนงบประมาณเพื่อไปต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

“นี่คือแนวคิดที่เราจะต้องไปและต้องทำเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เทรนด์ของธุรกิจการจัดงานมอตอร์โชว์ในต่างประเทศเองก็ค่อย ๆ ลดลง แม้จะอยู่ได้อีกเป็น 10 ปีเพราะคนยังสนใจเรื่องรถแต่จะมีลูกค้าเปลี่ยนวิธีการไปยังออนไลน์มากขึ้น” นายอโณทัยกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มขยายธุรกิจการจัดงานมอเตอร์โชว์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา พร้อมจัดตั้งบริษัท จีพีไอ เมียนมา เพื่อดำเนินธุรกิจอีเวนต์เอ็กซิบิชั่น โดยประเดิมจากงานเมียนมา มอเตอร์โชว์ พร้อมตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี การจัดงานดังกล่าวน่าจะเริ่มสร้างรายได้ ส่วนกัมพูชาอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อรอความพร้อมอีกครั้ง

ส่วนความคืบหน้าของสนามกรังด์ปรีซ์ มอเตอร์ พาร์ค สนามทดสอบรถแบบออฟโรดที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่มูลค่า 10 ล้านบาทไม่รวมค่าที่ดิน คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ ส่วนสนามเทรนนิ่งอยู่ระหว่างการตกแต่ง สนามแอดเวนเจอร์ ขนาด 5 กม. จะมีการออกแบบ สนามนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการขับรถออฟโรดในหลากหลายรูปแบบ

“เฟสแรกออฟโรดอะคาเดมีน่าจะเริ่มได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนสนามออฟโรดแอดเวนเจอร์ และสนามทางฝุ่น ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมให้กับรถหลากหลายประเภท แม้แต่กิจกรรมวิ่งเทรล และรองรับกลุ่มผู้ชื่นชอบกีฬาเอาต์ดอร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวเดือนสิงหาคม

นอกจากนี้ บริษัทจะพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอีเวนต์ที่ไม่เฉพาะแต่งานรถยนต์เท่านั้น เนื่องจากบริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพ ล่าสุดกระแสอีสปอร์ตมาแรง บริษัทได้ลงทุนมูลค่า 16 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันแกรนด์ทัวริสโม่ โดยบริษัทเป็นผู้ถือสิทธิ์จัดการแข่งขันแกรนด์ทัวริสโม่ในประเทศไทย ภายใต้ลิขสิทธิ์ถูกต้องจากบริษัทโพลีโฟนีดิจิตัล (Polyphony Digital) ผู้ผลิตเกมของประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการจัดแข่งขันภายใต้ชื่อรายการจีพี อีเรซซิ่ง (GP eRacing) เป็นระยะเวลา 2 ปีนับตั้งเเต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ บริษัทได้จัดการแข่งขัน จัดการแข่งขันจีพี อีเรซซิ่ง “แกรนด์ ทัวริสโม่ สปอร์ต” มีช่องทางเพจเฟซบุ๊ก คือ gperecin มีการจัดการแข่งขันทางออนไลน์ทุกอาทิตย์ เพื่อให้มีการแข่งขันโดยมีผู้ติดตามมากกว่า 6,000 ราย โดยแต่ละสนามจะมีการกำหนดกฎกติกาต่างๆ โดยเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี

นอกจากการจัดการแข่งขันในรูปแบบของออนไลน์แล้ว ยังมีการแข่งขันในรูปแบบของออฟไลน์อีก 4 สนาม และได้เปิดการแข่งขันสนามแรกในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีสนามถัดไปที่เซ็นทรัล ขอนแก่น และเชียงใหม่ กลับเข้ามาแข่งขันในสนามสุดท้ายเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยแต่ละสนามจะคัดเลือก 10 คนที่เวลาดีมาเพื่อชิงแชมป์ในสนามสุดท้ายด้วย และมีรอบไวลด์การ์ดของออนไลน์อีก 2 คน

“ปีนี้เราต้องการเฟ้นหานักแข่งเป็นหลักสังเกตจากคนที่เข้าร่วมการแข่งขันออนไลน์ในแต่ละสัปดาห์ เฉลี่ยมีคนเข้ามาแข่งขันอยู่สัปดาห์ละประมาณ 50 รายนอกจากนี้ เราพยายามคุยกับผู้จัดอีสปอร์ตในประเภทอื่น ๆ อนาคตเราหวังว่าจะมีการสร้างทีมแข่งและนักแข่งอีสปอร์ตของเราขึ้นมา”

สำหรับปี 2563 บริษัทได้วางแผนว่าการแข่งขันอีสปอร์ตจะต้องมี “โปรลีก” โดยเฉพาะทีมแข่งรถจริงที่จะเข้าร่วมการแข่งขันอีสปอร์ต ซึ่งวันนี้มีอย่างน้อย 5 ทีมชั้นนำแล้วที่สนใจ นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าจะเข้าไปจัดลีกการแข่งขันยังสถาบันการศึกษา โดยมองไปที่กลุ่มโรงเรียนนานาชาติเป็นหลักก่อน เพื่อจัดการแข่งขันอย่างน้อย 3-5 แห่งเพื่อจัดลีกการแข่งขันระดับมัธยมก่อน

นอกจากนี้ นายอโณทัยยังกล่าวว่า อนาคตอาจจะมีการจัดรายการแข่งขันเพื่อให้นักแข่งอีสปอร์ตเข้ามาร่วมรายการการแข่งขันในสนามจริง หรือสามารถต่อยอดไปเป็นนักแข่ง หรือเป็นอินทรักเตอร์ในการสอบขับรถเกมให้กับรายการต่อไปโดยปีหน้าบริษัทอาจจะนำนักแข่งตรงนี้ร่วมทีมแข่งเพื่อลงในรายการเอ็นดูแรนซ์ รายการใหญ่ในเมืองไทยเพื่อให้สัมผัสและมีประสบการณ์กับรถจริง ๆ

“อีกเป้าหมายของกรังด์ปรีซ์ คือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอฟไอเอ แกรนด์ ทัวริสโม่ แชมเปี้ยนชิพ อาจจะเป็นระดับทวีปหรือรอบชิงแชมป์โลกรายการใดรายการหนึ่ง โดยส่วนตัวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงหลังจากทางกรังด์ปรีซ์ได้เข้าร่วมกับเอฟไอเอตั้งแต่เริ่มต้น และเชื่อว่าทางเอฟไอเอต้องการหาสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อจัดการแข่งขันเช่นกัน นอกจากนี้ ทางกรังด์ปรีซ์ยังมีแผนที่จะจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในเกมอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกด้วย” อโณทัยกล่าวทิ้งท้าย