อุตฯยานยนต์อ่วมทั้งปี ปิดโรงงาน-ผู้ผลิตชิ้นส่วนระส่ำ

อุตฯยานยนต์ 2 ล้านล้านดิ่งหนัก รง.ผลิตเลื่อนเปิดยาว “โตโยต้า-นิสสัน” ปิดต่อถึงสิ้น พ.ค. เหตุรถค้างสต๊อกลอตใหญ่ หลังส่งออกไม่ขยับ-ยอดขายในประเทศหดตัวกว่า 50% ผู้ผลิตชิ้นส่วนในระบบกว่าหมื่นรายกระอัก ไม่มีออร์เดอร์จากค่ายรถ คาดเดี้ยงยาวถึงปลายปี หวัง “ปิกอัพ” ฟื้นก่อนช่วยพยุง บิ๊กรถยนต์ยื่นหนังสือรัฐบาลอัดมาตรการดันรถเก่าออกจากตลาด หนุนซื้อรถใหม่

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรถยนต์ปี 2563 ถือว่าเผชิญความท้าทายอย่างมาก จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายรถยนต์ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.) ต้องถือว่าตกต่ำที่สุดในช่วง 10 ปี โดยครั้งล่าสุดคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย เมื่อปี 2554 แต่ครั้งนี้หนักกว่ามาก เพราะอุตสาหกรรมถูกทำลายทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิต ซัพพลายเชนชิ้นส่วน ตัวแทนจำหน่าย อุปกรณ์ตกแต่ง ลีสซิ่ง ประกันภัย ฯลฯ ไปจนถึงผู้บริโภค

ยอดขายทรุดกว่า 50%

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากตัวเลขยอดขายรถในประเทศเดือนมีนาคม 2563 ทำได้ 60,105 คัน ซึ่งเป็นการลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 41.7% แต่ในเดือนเมษายน 2563 พบว่า ตัวเลขทรุดหนักลงจากเดือนมีนาคมอีกกว่า 50% คือ ทำยอดขายได้แค่ 33,300 คัน ทำให้ยังมีรถยนต์จำนวนมากค้างอยู่ในสต๊อกทั้งของผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อ และค้างอยู่ในมือตัวแทนจำหน่าย แม้ว่าแต่ละค่ายรถยนต์จะประกาศปิดไลน์การผลิตชั่วคราวเพื่อปรับสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายไปบ้างแล้วก็ตาม โดยยอดผลิตรถยนต์ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2563) ประเทศไทยผลิตรถยนต์จำนวน 453,682 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 20%

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ โดยก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประเมินว่า หากโควิดยืดเยื้อไปจนถึงเดือนกันยายน เป้าการผลิตรถยนต์ที่ตั้งไว้ 2 ล้านคันต่อปี จะเหลือเพียงครึ่งเดียวคือ 1 ล้านคันเท่านั้น เม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท จะเหลือแค่ 1 ล้านล้านบาท และในอุตสาหกรรมรถยนต์น่าจะมีคนตกงานถึง 7.5 แสนคน”

สำหรับยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรกปี 2563 มีทั้งสิ้น 200,064 คัน ลดลง 24.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 78,385 คัน ลดลง 23.6% รถเพื่อการพาณิชย์ 121,679 คัน ลดลง 24.4%

ขณะที่ตัวเลขส่งออกกลุ่มยานยนต์ เดือนมี.ค. 2563 ลดลง 0.71% และกลุ่มชิ้นส่วนลดลง 12.9% โดยคาดว่าทั้งการส่งออกกลุ่มยานยนต์จะติดลบ 10 %

ชิ้นส่วนจ๊าก ค่ายรถเลื่อนผลิต

นายสุพจน์ สุขพิศาล รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย หรือ TAPMA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่น่ากังวลมากที่สุดตอนนี้ คือ ค่ายรถยนต์ประกาศเลื่อนการผลิตยาวออกไปเรื่อย ๆ ช่วงแรกก็อยู่แค่สิ้นเดือนเมษายน ตอนนี้ขยายกันไปอีก 1 เดือน ซึ่งตรงนี้จะทำให้กระทบกันเป็นลูกโซ่ทั้งซัพพลายเชน ขณะนี้ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนหลายรายต้องหยุดงาน บางแห่งถ้ามีออร์เดอร์ก็เบนเข็มไปผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ป้อนโรงงานที่ปรับไลน์ผลิตไปสนับสนุนภาครัฐ

“ที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มที่ทำแต่เฉพาะโออีเอ็ม เนื่องจากต้องรอไลน์ผลิตเปิด แต่ถ้าเป็นกลุ่มตลาดทดแทนก็ยังพอมีออร์เดอร์อยู่บ้าง ตอนนี้บางโรงงานทำ 3 วัน หยุด 2 วัน สลับกันไป แต่ยังจ่ายค่าแรง 75% ตามกฎหมาย”

ทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯประเมินว่า หลายค่ายน่าจะเริ่มกลับมาได้ภายในเดือนพฤษภาคม หรือบางค่ายอาจจะยาวถึงต้นมิถุนายน โดยกลุ่มรถปิกอัพน่าจะเริ่มกลับมาผลิตได้ก่อน เนื่องจากรถปิกอัพส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ ประกอบกับรถประเภทนี้ตลาดหลักอยู่ในต่างจังหวัด และลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อไปใช้งานเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจกันบ้างแล้ว หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ให้บางธุรกิจ

ส่วนกลุ่มรถยนต์นั่ง ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งใช้ทั้งเวลาและบางประเทศมีปัญหาระบบโลจิสติกส์ ประกอบกับดีมานด์ของตลาดรถยนต์นั่งช่วงหลังลดลงเยอะ เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

ขณะนี้ทางกลุ่มชิ้นส่วนพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกเพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะหนักหนาทีเดียว แต่ก็เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ราว ๆ ไตรมาสสุดท้ายของปี และเชื่อว่ายอดการผลิตปีนี้น่าจะอยู่ราว 1.3-1.4 ล้านคัน

ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมมีอยู่ราว 619 ราย จากจำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 1,700 ราย สำหรับผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนเทียร์ 1 ประมาณ 476 ราย เทียร์ 2 ประมาณ 1,210 ราย ที่เหลือก็เป็นเทียร์ 3 ซึ่งเยอะพอสมควร แต่ไม่มีการเก็บตัวเลข

โตโยต้า-นิสสันปิด รง.ถึงสิ้น พ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสการกลับมาเปิดไลน์ผลิตของค่ายรถยนต์มีมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่พอถึงกำหนด แต่ละยี่ห้อจะประกาศขยับไปเรื่อย ๆ โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เลื่อนเปิดโรงงานทั้ง 3 แห่ง คือ โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ, โรงงานบ้านโพธิ์ และโรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา หลายระลอก เดิมประกาศปิดไลน์ผลิตระหว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2563 และต่อมาได้ขยายเวลาปิดเพิ่มไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2563, ครั้งที่ 3 ขยายต่อถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 4 เลื่อนกำหนดการเปิดโรงงานเกตเวย์ ไปวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

และล่าสุดโตโยต้าเลื่อนเปิดโรงงานเกตเวย์ไปอีกถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 โดยบริษัทระบุว่า สถานการณ์การขายทั้งตลาดในประเทศไทยและตลาดการส่งออก การผลิตชิ้นส่วนจากทั่วโลกยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทตัดสินใจปรับช่วงเวลาการหยุดพักสายการผลิตเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับค่ายนิสสัน เดิมมีกำหนดหยุดการผลิตชั่วคราวถึงวันที่ 3 พค. ล่าสุดก็ได้ประกาศขยายไปจนถึง 31 พ.ค.นี้ ทั้งโรงประกอบเครื่องยนต์ และชิ้นส่วน ขณะที่ฟอร์ด ประเทศไทย ปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่ง ได้แก่ ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-20 เม.ย. 2563 และมีการขยายไปถึงวันที่ 15 พ.ค. เช่นเดียวกับมิตซูบิชิ หยุดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 26 เม.ย. และเริ่มเปิดไลน์ผลิตตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.

ส่วนบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งเอกสารแจ้งพนักงานจะกลับมาเดินสายการผลิตรถยนต์ทั้ง 2 โรงงานอีกครั้ง โรงงานสำโรงที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ กำหนดเดินเครื่องในวันที่ 5 พฤษภาคม ส่วนโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา กำหนดวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ อีซูซุประกาศระงับการผลิตของโรงงานทั้ง 2 แห่งชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายน

เช่นเดียวกับบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ก่อนหน้านี้แจ้งหยุดการเดินสายการประกอบรถยนต์ชั่วคราว ของโรงงานทั้ง 2 แห่ง ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม จนถึงวันที่ 30 เมษายน ขณะนี้ได้กลับมาเดินสายการผลิตแล้ว

ดีลเลอร์เทกระจาดขายขาดทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทำให้คนตกงานจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อโดยตรง รวมทั้งการแพร่ระบาดทำให้อีเวนต์ขายรถยนต์อย่างงาน “มอเตอร์โชว์” ซึ่งเดิมกำหนดจัดปลายเดือนมีนาคม ถูกขยับออกไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคม ส่งผลสต๊อกรถยนต์ยังค้างอยู่กับดีลเลอร์เป็นจำนวนมาก ตอนนี้หลายโชว์รูมเริ่มแบกภาระดอกเบี้ยไม่ไหว ใช้วิธีระบายสต๊อก ถล่มราคาขายต่ำกว่าทุน เลือกกำเงินสดเพื่อเสริมสภาพคล่องของตัวเอง คลิกอ่าน (ขายรถดิ้นทุบราคาล้างสต๊อก ดีลเลอร์เฉือนเนื้อกำเงินสดรักษาสภาพคล่อง)

ร้องรัฐฟื้นอุตฯรถยนต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ภาคเอกชนได้ยื่นข้อเสนอแนะและขอความช่วยเหลือมายังกระทรวง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับค่ายรถไปแล้วบางส่วน และเตรียมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือตามที่เอกชนร้องขอ กำลังพิจารณาว่าจะทำได้ หรือทำไม่ได้ เพื่อจะทำให้ออกมาเป็นรูปธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เสนอแนวคิดการให้รัฐสนับสนุนเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่งสำหรับรถเก่าที่นำไปเทิร์นเพื่อซื้อรถใหม่ ซึ่งจะไม่เพียงกระตุ้นทั้งยอดขาย แต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ลงไปด้วย เช่นเดียวกับที่สหรัฐ และเยอรมนี เคยใช้เมื่อตอนฟื้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งไทยก็ควรใช้โมเดลนี้เช่นกัน

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำลังทบทวนมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้นหลังจบวิกฤตโควิด เพื่อเป็นส่วนในการช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้ ทั้งนี้ หากรัฐสามารถออกมาตรการช่วยกระตุ้นยอดขายได้จริง หลังจบโควิดที่คาดว่าช่วงเดือน ก.ย. 2563 บวกกับค่ายรถทำโปรโมชั่น อาจทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวได้ช่วงไตรมาส 4

แหล่งข่าวยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐใช้วิธีกระตุ้นยอดขายด้วยการออกมาตรการรถคันแรก ฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยปี 2554 แต่วิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากน้ำท่วม บีโอไอจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน

 

ซัมมิทคาดฟื้นตัวปลายปี

นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหารบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้บริษัทผลิตตามปฏิทินการทำงานของลูกค้า ที่เพิ่งจะมีความชัดเจนหลังจากค่ายรถยนต์ได้ประกาศหยุดไลน์ผลิตในช่วงที่ผ่านมา

โดยขณะนี้ บริษัทได้ใช้แผนการผลิตตามลูกค้าที่มีมาให้ในช่วง 3 เดือน คือ พ.ค.-ก.ค. ซึ่งเป็นแผนคาดการผลิตใหม่ตามสภาพความต้องการของตลาดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเศรษฐกิจโดยรวม โดยการผลิตจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ของค่ายรถยนต์ และเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. ค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนจะกลับไปใช้การคาดการณ์การผลิตตามแผนงานเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี

ส่วนบริษัทยังคงเดินหน้าผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรับกับความต้องการของค่ายรถยนต์ ซึ่งมีเพียงค่ายรถยนต์ 1-2 รายที่มีการชะลอ การผลิตชิ้นส่วนสำหรับโมเดลใหม่ออกไป 1-2 เดือน

“ที่ผ่านมาเราพยายามรักษาพนักงานซับคอนแท็กต์ และพนักงานประจำไว้ให้มากที่สุด และโชคดีที่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมายังมียอดของตลาดส่งออกในบางประเทศเข้ามาทำให้สามารถรักษาการผลิตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง”

นายกรกฤชกล่าวเพิ่มเติมในฐานะเลขาสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าช่วง พ.ค.จะเป็นช่วงยอดผลิตรถหดตัว 50-70% โดยบริษัทที่ส่งออกเยอะจะตกลงมากหน่อย 70-75% เพราะตลาดส่งออกทั่วโลกก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจผู้ผลิตทุกคนต้องปรับตัว ส่วนตัวมองว่ายานยนต์น่าจะฟื้นตัวช้า เพราะไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมากนัก