ขายรถปีหน้าลุ้นทะลุ 9 แสนคัน ปัจจัยหนุนอื้อ/โปรเปลี่ยนรถคันแรกจูงใจ

ค่ายรถประสานเสียง กำลังซื้อฟื้น รุ่นใหม่-มอเตอร์เอ็กซ์โปกระตุ้นยอด มั่นใจตัวเลขขายแตะ 8.7 แสนคันพร้อมปัจจัยบวกทั้งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นลูกค้ารถคันแรกเริ่มมองหารถคัน ใหม่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นบวก เริ่มส่งแรงกระเพื่อมดันยอดปีหน้าพุ่ง แตะระดับ 9 แสนคัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงาน บรรยากาศ ของงานมหกรรมยานยนต์ หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป ซึ่งเปิดงานอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันก่อน ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดาค่ายรถยนต์ จักรยานยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ตบเท้าเข้าร่วมงาน ร่วมการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างคึกคัก

นายขวัญชัย ประภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน มหกรรมยานยนต์ หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 34 เชื่อมั่น และคาดว่าปีนี้ยอดจองรถยนต์ภายในงานจะไม่น้อยกว่า 40,000 คัน จักรยานยนต์ 7,000 คัน โดยมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 50,000 ล้านบาทและมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคนนั้น เป็นไปได้อย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับบรรดาผู้บริหาร ผู้ที่คลุกคลีกอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ออกมาสะท้อนภาพรวมของ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และฉายภาพในปีหน้า

นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 850,000-860,000 คัน โดยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายน่าจะมียอดขายรวมกันไม่น้อยกว่า 170,000-180,000 คัน และในปีหน้าคาดว่าจะโต 5% หรือมียอดขายรวมที่ 900,000 คัน

ทั้งนี้ เป็นผลจากสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยที่อยู่ในภาวะที่ดีขึ้น ทั้งสภาพเศรษฐกิจ และการเมือง ภาคการส่งออก รวมทั้งความมั่นใจของผู้บริโภค และการส่งรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด น่าจะทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์มีการเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน และมิตซูบิชิ มีแผนที่จะแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างน้อย 2 รุ่นด้วย

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริการ ด้านการขาย และการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการประเมินของบริษัทเชื่อว่า ในปี 2561 น่าจะมีกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์รถยนต์คันแรก เริ่มกลับมามองหารถยนต์คันใหม่เพื่อทดแทนคันเก่า และยังต้องดูว่ามีผู้สนใจเปลี่ยนรถคันใหม่มากน้อยเพียงใด บวกกับปัจจัยบวกรอบด้านทั้งภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้คาดว่าปีหน้าอาจจะมียอดขายขึ้นไปอยู่ระดับ 900,000 คันโต 10% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดขายที่ 830,000 คัน

ส่วนซูซูกิจะมียอดขายที่ 24,600 คันโต 7% มีส่วนแบ่งทางการตลาด 3% และปีหน้าเองก็จะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างน้อย 1-2 รุ่นด้วย

นายรัฐการ จูตะเสน รองประธานฝ่ายขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการประเมินของบริษัทคาดว่า ในช่วงเดือน พ.ย.น่าจะมียอดขายรถยนต์โดยรวมที่ 80,000 คัน และเดือน ธ.ค.อีก 95,000 คันและน่าจะเพียงพอที่จะทำให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมทั้งปีอยู่ที่ 870,000 คัน

“จากตัวเลขทั้งปีที่เราประเมินไว้นั้น เรามองว่ามีความเป็นไปได้ เพราะจากยอดขาย 10 เดือนมียอดเติบโตถึง 12% และโดยปกติ 2 เดือนสุดท้าย ก็เป็นช่วงที่ยอดขายรถยนต์สูงสุดอยู่แล้ว ดังนั้นเราเชื่อว่าตัวเลข 8.7 แสนคันนั้นมีความเป็นไปได้ แม้ว่าอาจจะดูขัดแย้ง แม้ว่าการบริโภคสินค้าอาจจะยังไม่ดีนัก แต่ตลาดรถยนต์มีปัจจัยบวกหลายอย่างทั้งรุ่นใหม่ แคมเปญส่งเสริมการขายและการผ่อนปรนของสถาบันการเงินต่าง ๆ ด้วย”

ส่วนปีหน้า นิสสัน ประเมินว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5% จากปีนี้

ด้านนางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน ประธาน ฟอร์ดอาซียน และกรรมการผู้จัดการฟอร์ด ประเทศไทย เชื่อว่า ตลาดรถยนต์ในปีนี้น่าจะมียอดขายโดยรวมที่ระดับ 850,000 คัน เห็นได้จากยอดขายในช่วง 10 เดือนแรกที่มีการเติบโตอย่างมาก และในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีจะต้องรอดูว่าจะเป็นการขึ้นไปได้ในระดับเท่าใด ส่วนฟอร์ดเองคาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 6.4%

“เราเชื่อว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้น่าจะมีแรงขับต่อเนื่องทำให้ในปีหน้ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับการส่งเสริมของภาครัฐ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ดีขึ้น และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จะเป็นแรงกระตุ้นทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้ เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ยังถือเป็นปีแรกของการสิ้นสุดโครงการรถยนต์ คันแรกที่ครบกำหนดถือครอง 5 ปี ทำให้ลูกค้าสามารถปลดล็อกเพื่อซื้อรถยนต์คันใหม่ได้ส่วนปีหน้า ก็จะมีรถยนต์ในกลุ่มรถคันแรกออกมาอีก ฟอร์ดเชื่อว่าน่าจะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้ยอดขายรถยนต์ปีหน้า โตอย่างน้อย 5% ได้ไม่ยาก

เช่น เดียวกับนางสาวปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่าปีหน้า ยอดขายรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ 850,000-860,000 คัน ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายในปีนี้ และภายในปี 2568 ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยอาจจะกลับขึ้นไปมียอดขายแตะระดับ 1 ล้านคันอีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้