รีวิว รถเมล์ EV ไทยประดิษฐ์ สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น ปลื้มยอดจอง 300-400 คัน

รถบัส EV ขนาด 12 เมตร ผลิตโดยสกุลฎ์ซี

ส่องสเปกรถเมล์ EV 2 รุ่นฝีมือคนไทย เก็บตกงานมอเตอร์โชว์ต้นเดือน เม.ย. เผยเร่งผลิตรถบัส 7 เมตร ทยอยส่งมอบหลังยอดจองอื้อ 300-400 คัน ก่อนอวยโฉมรถบัส 12 เมตร รอสัญญาณรัฐไฟขียว พร้อมเดินสายพานผลิตทันที 

วันที่ 15 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ควันหลงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 รูดม่านเก็บฉากลงเป็นที่เรียบร้อยไปตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยทำยอดจองรถยนต์ในงานรวม 31,896 คัน มอเตอร์ไซค์ 2,040 คัน รวมเป็น 33,936 คันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 13.6%

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญในงานนี้ นอกจากการออกจำหน่วยรถยนต์และมอเตอร์ไซด์รุ่นใหม่แล้ว ยังมีการนำเสนอโซนพิเศษในงานคือ  “EV Smart City” เพื่อจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

โดยผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำต่างนำผลิตภัณฑ์มาโชว์ตัวครบครัน อาทิ BMW, Great Wall Motor, MG, MINI, Mitsubishi Motors, Nissan, Porsche , Volvo และอรุณ พลัส ในเครือ ปตท.ที่พารถยนต์ไฟฟ้าในมือออกงานมอเตอร์โชว์เป็นงานแรกเช่นกัน

บรรยากาศงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา

นอกจากค่ายรถต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น  ยังมี บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยนำนวัตกรรม การต่อรถเมล์โดยสารฝีมือคนไทยจำนวน 2 รูปแบบ มาจัดแสดงและเปิดจองในงานครั้งนี้ด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” เก็บตกรายละเอียดงานนี้มาให้อ่านกัน

ฟีดแบ็กดี คนสนใจ 30-40 คันในงานมอเตอร์โชว์

นายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมที่บูธมีทั้งแบบบุคคลและองค์กร โดยส่วนมากมาดู เพราะต้องหาซื้อสำหรับใช้รับ-ส่งพนักงานของบริษัท ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาติดต่อและให้ความสนใจประมาณ 30-40 คัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้จอง เพราะยังกังวลกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านโรคโควิด-19 จึงยัง wait & see กันอยู่

สำหรับแบบรถที่เอามาโชว์ในงานครั้งนี้ มี 2 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ รถบัสรุ่น C-BUS ขนาด 7 เมตร และ รถบัส EV ต้นแบบขนาด 12 เมตร ซึ่งได้รับรองขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว

สเปกของรถบัสรุ่น C-BUS ปัจจุบันเพิ่งเปิดสายการผลิตเมื่อต้นปี 2565  โดยกำลังทยอยเคลียร์ยอดจองของรถรุ่นนี้ตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยยอดจองทั้งหมดอยู่ที่ 300-400 คัน ซึ่งทางสกุลฎซีมีศักยภาพในการต่อรถเองทั้งหมด

รถบัสรุ่น C BUS จัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา

ข้อมูลเบื้องต้น รถประกอบที่โรงงานของบริษัทที่ จ.สุพรรณบุรี กำลังการผลิต 12 คัน/วัน โครงสร้างเป็นอะลูมิเนียมเกรดพิเศษทั้งหมด คุณสมบัติเบื้องต้น มีดังนี้

  • มีความกว้าง 2.1 เมตร ยาว 7.1 เมตร และสูง 2.856 เมตร
  • ภายในห้องโดยสารสูง 1.9 เมตร
  • รองรับที่นั่งได้ 21 คน (รวมที่นั่งคนขับแล้ว)
  • ความยาวช่วงล้อ 3.870 เมตร
  • ความกว้างช่วงล้อ หน้า/หลัง  1.655 /1.520 เมตรตามลำดับ
  • ระยะยื่นของรถ หน้า/หลัง 1.280/ 1.950 เมตร
  • ความเร็วสูงสุดของรถอยู่ที่ 100 กม./ชม.
  • ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลัง 100 ลิตร
  • คัทซี ใช้ของฮีโน่ รุ่น XZU72OR
  • ระบบเบรก แบบไฮดรอลิค ประกอบด้วยก้านเบรคแบบตัวนำคู่กระทำทุกล้อ สองวงจรอิสระ หม้อลม สุญญากาศช่วยเบรก
  • ระบบป้องกันล้อล๊อค แบบ ABS
  • ยางรถที่ใช้ 215/75R17.5R (ยางเรเดียล)

รถบัสรุ่นนี้มีให้เลือก 2 แบบคือ 1.แบบใช้น้ำมันดีเซล ราคาที่ 2.3 ล้านบาท และ 2. แบบใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ราคาที่ 3.3 ล้านบาท โดยตอนนี้บริษัทร่วมกับ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL ทำแคมเปญผ่อนยาวนาน เริ่มต้นไม่เกิน 26,000 บาทในช่วงแรก และปีท้ายๆ ในระดับไม่เกิน 18,000 นานสุด 12 ปี

ขณะที่รถบัสต้นแบบขนาด 12 เมตร ผลิตที่โรงงานใน จ.สุพรรณบุรีเช่นกัน กำลังการผลิต 1 คัน/วัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หากมีความต้องการในตลาดก็พร้อมผลิตป้อน และเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกแล้วด้วย

โดยรถบัสขนาด 12 เมตรนี้ มีสเปกดังนี้

  • ชานต่ำ
  • กว้าง 2.55 เมตร ยาว 11.85 เมตร สูง 3.15 เมตร
  • จุผู้โดยสารได้ 38 ที่นั่ง, ยืน 40 คน และรองรับรถเข็น 2 คัน หากลดที่สำหรับรถเข็น จะได้ที่ยืนอีก 5 คน
  • ความยาวช่วงล้อ 6 เมตร
  • รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 12 เมตร
  • ล้อ 275 ยาง 80R22.5 (Radial)
  • ขับเคลื่อนแบบ Center Drive
  • ประเภทมอเตอร์ IM-AC Motor
  • กำลังมอเตอร์ต่อเนื่อง 110 kW  สูงสุด 220 kW
  • แรงบิดสูงสุด 3,000 Nm
  • ความเร็วสูงสุด 100 กม.ชม.
รถบัสต้นแบบ 12 เมตร ใช้พลังงาน EV

ส่วนคุณสมบัติแบตเตอรี่ที่รองรับ มีสเปกโดยรวม ดังนี้

  • ใช้ระบบ Li-ion Battery
  • ขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้ 285.7 kWh
  • ชาร์จ 1 ครั้ง วิ่งได้สูงสุด 220 กม.
  • อัตราสิ้นเปลืองพลังงาน 1.10 kWh/กม.

สำหรับการจัดจำหน่ายขณะนี้ยังไม่มีแผนในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในปี 2566 แต่ประเมินคร่าว ๆ หากจัดจำหน่ายจริง ๆ รถบัสขนาด 12 เมตรนี้ จะมีราคาอยู่ที่คันละ 7 ล้านบาท

นี่คือสเปกและราคาคร่าว ๆ ของรถเมล์ 2 แบบที่ผลิตโดยคนไทยและยืนยันว่าสายพานการผลิตต่าง ๆ พร้อมแล้ว มาตรฐานต่าง ๆ ได้รับการรับรองตามหลักสากล

แต่ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กำลังง่วนกับการเข็นแผนฟื้นฟู ขสมก. จะหันมามองหรือไม่? หรือต้องออกไปขายสร้างชื่อที่ต่างประเทศก่อน ภาครัฐไทยจึงสนใจ ก็ต้องรอดูกัน