ดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา เร็วที่สุดแห่งซูเปอร์คาร์

เทสต์คาร์ : อมร พวงงาม

 

วันก่อน คุณพี่หนุ่ม “ฉัตรชัย แก้วผ่องศรี” จีเอ็ม แอสตัน มาร์ติน แบงคอก ใน เครือเอ็มจีซี เอเชีย

ชักชวนไปทดลองขับ แอสตัน มาร์ติน ดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา

โอกาสดี ๆ แบบนี้ ผมไม่ปล่อยผ่านเด็ดขาด

เริ่มต้นก็ต้องเข้าคอร์สอบรมที่ไปที่มากันก่อนที่จะสัมผัสตัวรถกันอย่างจริงจัง

ซูเปอร์คาร์คันนี้ราคารวม ๆ เกือบ 30 ล้านบาท

ถ้าไม่สาธยายให้เห็นถึงตำนาน ประสบการณ์ของแบรนด์ซึ่งทอดยาวมากว่า 100 ปี

เสียดายตาย

“ฉัตรชัย” จัดเป็นลูกหม้อมาสเตอร์กรุ๊ปคนหนึ่ง

คนนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ก่อนหน้านี้ก็อยู่มิลเลนเนียม ออโต้

ดีลเลอร์บิ๊กบึ้มของบีเอ็มดับเบิลยู

ถ้าจะบอกว่าปี 2563 ค่ายใบพัดสีฟ้าขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดรถหรู

คนนี้ออกแรงดันไม่ใช่น้อย

กลับมาที่แบรนด์ “แอสตัน มาร์ติน” นับแต่แจ้งเกิดจากการเข้าร่วมวงการมอเตอร์สปอร์ตโดยชนะเลิศเลอมังส์ปี 1959

สิริรวมถึงปีนี้ก็ราว ๆ 108 ปี

ถ้าจะให้พูดถึงคอลแบรนด์ แอสตัน มาร์ติน

มักจะมีคำพูดนี้เก๋ ๆ เสมอว่า การสร้างสิ่งสวยงามให้เกิดขึ้นบนโลกจะทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น

แอสตัน มาร์ติน จึงได้สร้างรถขึ้นมาโดยใช้หลักการ “อัตราส่วนที่เหมาะสม” หรือ “โกลเดนเรโช”

อัตราส่วนนี้อยู่บนรถแอสตัน มาร์ติน ทุกคัน นอกจากความสมส่วนแล้วยังสวยด้วย

และแอสตัน มาร์ติน ทุกคันเป็นงานศิลปะ

หรืองานแฮนด์บิลด์

พนักงานทุกคนที่ประกอบรถจะไม่ใช่ “เวิร์กเกอร์” แต่จะเรียก “อาร์ตติสต์”

เพราะรถทุกคันใช้มือประกอบ ทำเสร็จจะมีคนมาตรวจสอบแล้วลงลายมือชื่อ

เหมือนกับภาพวาดของศิลปิน ทุกคันจึงเป็นงานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้โลกสวยงาม

ส่วนคันที่เราจะได้สัมผัสกันวันนี้ เป็น “ดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา” เครื่องยนต์ 12 สูบ

แอสตัน มาร์ติน ดีบี 11 ตัวก่อนหน้านี้เปิดตัวเมื่อปี 2016 เป็นเครื่องยนต์ V12 สูบ มีแค่ 600 แรงม้า

แต่ตัวนี้ทำแรงม้าได้ถึง 715 แรงม้า

ถือว่าแรงที่สุด สำหรับซูเปอร์คาร์ที่จดทะเบียนวิ่งบนท้องถนนได้

จากโปรดักต์ที่เป็นศิลปะ เอามาผสมผสานแล้วกลายเป็นรถสปอร์ตที่วิ่งได้เร็วที่สุด

นี่ถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก แต่แอสตัน มาร์ตินก็ทำสำเร็จ

ปี 2020 แอสตัน มาร์ติน ชนะเลิศเลอมังส์ด้วยตัวถังของนิวแวนเทจที่เวิลด์เอนดูแรนซ์

ตอกย้ำว่าในอดีตที่เราเคยชนะ เรายังไม่หยุดพัฒนา

ปีนี้แชร์โฮลเดอร์ใหม่ นำแอสตัน มาร์ติน เข้าสู่ฟอร์มูล่า-1

วันที่ 28 มีนาคมนี้ ที่บาห์เรน เราจะได้เห็นแอสตัน มาร์ตินลงสนามแข่งขันเป็นครั้งแรก

และนี่คือสิ่งที่แอสตัน มาร์ติน กำลังจะก้าวเดินต่อไปในอนาคต

เห็นทิศทางกันแล้ว ทีนี้ก็ไปสัมผัสรถกันเลย

ดีบีเอส ซูเปอร์เลจเจรา ตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มซูเปอร์ จีที ที่สามารถใช้งานได้ทุกวัน

เป็นรถที่ขับสบาย ไม่ต่างจากรถหรู ๆ คันหนึ่ง แต่มีกำลังแรงม้าหายห่วง

รูปทรงบึกบึนที่สุดของแอสตัน มาร์ติน หรูหราทั้งภายนอกและภายใน วัสดุที่ใช้คุณภาพสูงที่สุด จัดเป็นในกลุ่มรถสะสม

รหัสดีบีเอส ไม่ได้มีออกมาบ่อย ๆ แอสตัน มาร์ติน อายุกว่า 100 ปี แต่มีดีบีเอสไม่ถึง 5 รุ่น เพราะฉะนั้น ต้องพิเศษจริง ๆ

โดยเฉพาะแบรนด์แอสตัน มาร์ติน ได้รับเลือกให้เป็นพาหนะประจำตัว “เจมส์ บอนด์”

เอกลักษณ์เด่น ๆ ของดีบีเอส ด้านหน้าเน้นความดุดันมาก่อน

กระจังหน้า แบบรังผึ้งมีความเป็นเรซซิ่ง และ S-curve ต่าง ๆ ยังคงเป็นเอกลักษณ์

มีขนาดใหญ่เพื่อรับอากาศเข้าระบายความร้อน

ไม่เฉพาะแค่เครื่องยนต์ แต่จะรวมไปถึงอื่น ๆ ด้วย

เนื่องจากภายในช่องฝากระโปรงจะมีช่องทางเดินของอากาศที่จะสู่ระบบเบรก รังผึ้งต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแอโรไดนามิกไปในตัว

ซูเปอร์เลจเจรา เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า “เบา”

ดังนั้น วัสดุที่ใช้กับตัวถัง หลัก ๆ ก็จะเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ เช่น ฝากระโปรงหน้า อันนี้มาทั้งชิ้น

เวลาเปิดยกขึ้นทั้งแก้มด้านข้างด้วย เปิดจากด้านหลัง เป็นลักษณะของรถจีทีโดยแท้จริง

ส่องเข้าไปบริเวณล้อยังเห็นครีบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอโรไดนามิกล้วน ๆ

สำหรับการเปิด-ปิดฝากระโปรงหน้า ห้ามปล่อยกระแทกเด็ดขาด วางเบา ๆ เป็นแบบซอฟต์โคลส

ตัวเส้นสายดูบึกบึนถอดแบบมาจากรถแข่ง เพื่อช่วยทางด้านอากาศพลศาสตร์

สำหรับรถที่มีแรงบิดสูง ๆ มักจะให้ความสำคัญกับ “ดาวน์ฟอร์ซ”

ดีบีเอสออกแบบให้มีแรงกดด้านหน้าด้วยลิ้นหน้าแบบคาร์บอนไฟเบอร์

ตัวลิ้นนี้ไม่ใช่แค่เพิ่มแรงกดอย่างเดียว แต่มันสามารถจัดเรียงอากาศเข้าช่วยระบายความร้อน

ลมเข้าจากด้านหน้า จะมีมวลอากาศหมุนวนอยู่ในซุ้มล้อด้านหน้า

แล้วจัดเรียงอากาศให้วิ่งไปข้างรถแล้วไหลออกท้ายรถ เพื่อให้มีความสมดุลและลงตัวที่สุด

เทคนิกนี้เก็บเกี่ยวจากการเข้าร่วมกับฟอร์มูล่า-วัน  เลยได้ประโยชน์มาเยอะ

ผมว่ารถที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูง ๆ ใครก็ทำได้

แต่วิ่งด้วยความเร็วสูง แล้วรถยังนิ่งเกาะถนนได้อย่างเป็นเยี่ยม อันนี้แหละเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

ด้านท้ายก็จะมีแอโรไดนามิกที่จะมาส่งแรงกด เป็นดาวน์ฟอร์ซด้านท้ายรถ

สปอยเลอร์หลังจะทำหน้าที่รับลมมาจากหลังคา รับรองได้เลยไม่ว่าจะย่านความเร็วไหน

ท้ายไม่ลอยแน่ ๆ ยังมีลมที่วิ่งจากซีดัก หรือช่องรับลมที่เสาซี ช่วยกดส่วนท้ายอีกแรงด้วย

รู้ใช่มั้ยว่าเครื่องยนต์ วี 12 5.2 ลิตร ทวินเทอร์โบ

แรงบิด 900 นิวตันเมตร ทำงานที่ 1,800-5,000 รอบต่อนาที

ใต้ฝากระโปรงมีม้ายั้วเยี้ย 700 กว่าตัว ท็อปสปีดทะลุ 340 กม./ชม.

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้แค่ 3.4 วินาที

ต้องการแรงกดส่วนท้ายมากแค่ไหน ?

ดังนั้น ดีบีเอสจึงต้องเพิ่มดิวฟิวเซอร์ ที่เป็นครีบให้ลมไหลผ่านได้เร็วตรงส่วนท้าย

อันนี้ก็ลอกมาจากฟอร์มูล่า-วัน แต่แอสตันเรียกมันว่าดับเบิลดิวฟิวเซอร์ เป็นครีบอีกชั้นหนึ่งที่ทำให้ลมวิ่งผ่านได้เร็วขึ้น

ต้องยอมรับว่าการออกแบบภายในห้องโดยสารเนี้ยบมาก

ความเป็นซูเปอร์ จีที ซึ่งวิศวกรของแอสตัน มาร์ติน ให้ความสำคัญมาก

ใครจะเชื่อรถที่แรงม้าสูง จะยังคงความสะดวกสบายไว้ครบถ้วน

ภายในดีไซน์ให้ความรู้สึกไม่อึดอัด เบาะนั่งกว้าง นั่งสบาย

แผงข้างประตูมีลักษณะเว้าออกไม่บีบตัว ไม่ต่างจากซีดานหรู ๆ

แผงแดชบอร์ดมีความเรียบง่าย

ไม่ได้ดุดันเหมือนอย่างแวนเทจ ที่หน้าตายังกับค็อกพิตรถแข่ง แต่ดีบีเอสเน้นหรูหรา

ตัวเบาะแม้ว่าจะเป็นสปอร์ตพลัส แต่ก็ไม่โอบกระชับเหมือนบักเก็ตซีต

วัสดุหนังเป็นพรีเมี่ยมสุด ๆ ที่มาของหนังก็ค่อนข้างล้ำลึก

ใช้วัวอายุน้อย เลี้ยงใน พท.ไม่มีแมลงสัตว์กัดต่อย อยู่โซนทางเหนือของสกอตแลนด์ ผลที่ตามมาคือ เรียบไร้รอยย่น ถ้าจมูกถึง ๆ ได้กลิ่นรู้เลยว่าสุดยอด

ดีบีเอสสามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มลักเซอรี่ได้อย่างชัดเจน

พวงมาลัยคลาสสิก กระชับ วางในตำแหน่งที่ดีมาก หัวเข่าไม่ชน

ความเป็นจีที ทำให้ดีบีเอสใช้งานได้หลากหลาย

มีพื้นที่ขนสัมภาระด้านท้ายรถถึง 280 ลิตร

วางถุงกอล์ฟแบบขวาง 1 ใบ ได้สบาย ๆ

ตัวนี้ยังแก้ปัญหา โดยมีพื้นที่เก็บของภายในรถ

ไม่ต้องวางเกะกะบนเบาะ  เป็นช่องตรงกลางมีระบบเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า และไม่ลืมช่องเสียบยูเอสบีสำหรับแก็ดเจตต่าง ๆ

ดีบีเอสใช้โครงสร้างหลักเป็นอะลูมินั่ม เพื่อการลดน้ำหนักผสมผสานกับคาร์บอนไฟเบอร์

น้ำหนักรวมของเหลวประมาณ 1.8 ตันเท่านั้น (เฉพาะเครื่องยนต์เบากว่า ดีบี 11 ราว ๆ 30 กก.)

ถ้ายังไม่สะใจ จะเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไฟเบอร์เพิ่มเติมก็ไม่ว่ากัน

อีกสิ่งหนึ่งที่วิศวกรของแอสตัน มาร์ติน ไม่ปล่อยผ่าน

ก็คือเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ แค่กดคันเร่งเบา ๆ 2,000 กว่ารอบต่อนาทีก็กระหึ่มแล้ว

ดีบีเอสใช้เกียร์ 8 สปีดทอล์กคอนเวอร์เตอร์จากแซดเอฟ

นุ่มนวล สมูตกว่าดับเบิลคลัตช์ เรียนรู้การปรับเปลี่ยนจากสภาพการขับขี่

ตำแหน่งติดตั้งอยู่ท้ายรถ นอกจากบาลานซ์น้ำหนักแล้วยังช่วยลด
ความร้อน

ส่วนเพลาเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเบามาก

โดยมีอุโมงค์อะลูมิเนียมครอบอีกชั้นเพื่อป้องกันความเสียหาย

ส่วนโหมดการขับมีให้เลือก 3 แบบ ปรับทั้งเครื่องยนต์และช่วงล่าง

สามารถแยกกันปรับได้ อันแรก นอร์มอล สบาย ๆ แต่ซิ่งได้

แต่ถ้าอยากดุดัน ขยับขึ้นเป็นสปอร์ต เสียงท่อกระหึ่มมากขึ้น

หรือยังไม่สะใจ จะเป็นสปอร์ตพลัส ก็จะได้แรงบิดมาเต็ม ๆ

แค่กดปุ่มรอบเครื่องยนต์ขึ้นมารอเลยครับ  เกียร์ชิปดาวน์ลงมารอ 
พร้อมกระชากความแรงตามที่เราต้องการ

แถมหยุดได้ตามสั่ง จานเบรกคาร์บอนเซรามิก หน้า 410 มิลลิเมตร หลัง 360 มิลลิเมตร

จับคู่กับล้อแม็กฟอร์จขอบ 21 นิ้ว และยางพิเรลลี่ P Zero หน้า 265/35/21 หลัง 305/30/21

จัดเป็นรถที่ขับสนุกมาก ๆ ที่สำคัญ ใช้งานได้ทุกวันได้ซะด้วย

และไม่ต้องห่วงว่า วอร์แรนตีจะหมดเร็ว เพราะรุ่นนี้

รับประกันคุณภาพ 5 ปี แบบไม่จำกัดระยะทาง