AI ยุคแรกมาพร้อมความเหลื่อมล้ำ

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

มีโอกาสกลับไปอัพเดตความรู้ในหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สัปดาห์ล่าสุด “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาพูดเรื่องเทคโนโลยี Generative AI กับผลกระทบทางธุรกิจและการศึกษาไทย

เทคโนโลยีที่ฮอตที่สุดในเวลานี้ หนีไม่พ้นเทคโนโลยี AI

เมื่อโลกเปลี่ยนจากยุค Mobile First มาเป็น AI First คนที่ใช้ AI เป็นจะมาแทนที่คนที่ใช้ไม่เป็น องค์กรที่ใช้ไม่ได้ หรือไม่ได้ใช้จะโดนแทนที่ด้วยองค์กรที่นำมาปรับใช้

AI จะเข้ามาช่วยหรือทดแทนงานกว่า 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลก

ว่ากันว่าเทคสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นในยุคต่อไปอาจมีพนักงานแค่ 10 คนเท่านั้น

Advertisment

เทคโนโลยี AI จึงส่งผลกระทบมหาศาล

ในโลกที่ซับซ้อนวุ่นวาย เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่แน่นอน และคลุมเครือ หรือ Vuca World” (โลกแห่งความพลิกผัน) ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและคาดการณ์ไม่ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

“ดร.สมเกียรติ” ฉายภาพพัฒนาการของเทคโนโลยี AI โดยแบ่งได้เป็น 3 ยุค

ยุคแรกที่ถือเป็นปรากฏการณ์ และหมุดหมายสำคัญ เกิดขึ้นในปี 1996 เมื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มชื่อ “ดีป บลู” (Deep Blue) เอาชนะแชมป์โลกหมากรุกสำเร็จเป็นครั้งแรก

Advertisment

“ดีป บลู ทำงานโดยมีคนคอยสอน ใส่ความรู้ป้อนเข้าไป แต่แม้ว่าจะชนะแชมป์หมากรุกได้แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถเอาชนะคนในเกมหมากล้อมที่มีความซับซ้อนมากกว่ามากได้”

ถ้าหมากรุกซับซ้อน 10 ยกกำลัง 120 หมากล้อมจะอยู่ในระดับ 10 ยกกำลัง 360

20 ปีผ่านไป Alpha Go ก็ทำสำเร็จ กำชัยชนะเหนือแชมป์โลกหมากล้อมของเกาหลีและจีนได้

ด้วยความที่หมากล้อมเป็นเกมที่คนจีนเล่นมาแล้วหลายพันปี เหตุการณ์นี้จึงถือได้ว่า “ช็อกโลก” และนำไปสู่ยุคที่สองของ AI

แต่เพียงปีเดียวหลังชัยชนะของ Alpha Go ก็มีโปรแกรมใหม่ชื่อ “Alpha Go Zero” เอาชนะ “อัลฟ่าโกะ” ได้สำเร็จด้วยคะแนน 100 กระดานต่อ 0

“อัลฟาโกะชนะคนได้โดยการเอาข้อมูลที่มีมาดู คนไม่ได้สอนตรง ๆ ว่าให้ทำยังไง แต่ให้ดูตัวอย่างเยอะ ๆ ก็คือจำนวนหมากล้อมที่คนเล่นกันเยอะ ๆ เก็บข้อมูลมาหาวิธีการเดินที่ดีที่สุด และคิดวิธีแปลก ๆ ที่คนไม่เคยเดิน มีวิธีที่ล่อได้ดูเหมือนเสียท่า ทำให้คนมาติดกับดักได้ ส่วนอัลฟ่าโกะ ซีโร่ จะสอนให้อยู่กับตัวเอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจึงชนะ”

สำหรับยุคที่ 3 ของเทคโนโลยี AI เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน จากการมาถึงของ Chat GPT (เปิดตัว 30 พ.ย. 2022)

“AI เรียนรู้อย่างไร เช่น อยากให้คอมพิวเตอร์แยกภาพหมากับแมวได้ ก็เอารูปหมาหลาย ๆ ท่าจำนวนมากป้อนเข้าไป เช่นกันกับรูปแมว แล้วลองถามดูว่าคืออะไร เหมือนเครือข่ายสมองต่อกันแบ่งเป็นชั้น ๆ เรียกว่า ดีป เลิร์นนิ่ง สมัยก่อนมีแค่ชั้นเดียว ตอนนี้เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นชั้น จึงทำอะไรที่มีความซับซ้อนมาก ๆได้”

AI ยุคใหม่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น แต่งเพลง, แต่งเรียงความ, ตอบคำถาม วิเคราะห์ความรู้สึก, สรุปข้อมูล เป็นต้น และในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้มาก “AI” จะทำงานแทน “มนุษย์” ได้สารพัด ตั้งแต่งานนักข่าว นักประชาสัมพันธ์ นักกฎหมาย สถาปัตย์ วิศวะ วิทยาศาสตร์ ธุรกิจ และการเงิน

ว่ากันว่า เกือบครึ่งของงานด้านกฎหมายมีโอกาสโดนแทนที่ด้วย “เอไอ” เพราะเน้นสกัดข้อมูลจากเอกสาร สอบทานธุรกิจ สัญญา และความเห็นกฎหมายทำให้บริษัทกฎหมายใหญ่ ๆ เริ่มนำ “เอไอ” มาช่วยทำงาน เช่น อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ ประกาศใช้เอไอที่ชื่อ “ฮาร์วีย์”

แม้บริษัทบอกว่าจะยัง “ไม่ลดคน ไม่เปลี่ยนวิธีคิดเงิน” แค่นำมาใช้เพื่อให้การทำงานฉลาดขึ้น (ต้องใช้คนกำกับการทำงานของเอไอ)

ใช่หรือไม่ว่า นี่เพิ่งเริ่มต้นถามว่า “เอไอ” พัฒนาต่อไปจะเปลี่ยนอะไรบ้าง

คำตอบคือ 1.เปลี่ยนความได้เปรียบระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทเล็ก 2.อาจเปลี่ยนวิธีคิดเงิน การคิดเงินตามเวลาจะยากขึ้น เช่น ไม่ชาร์จตามเวลา แต่คิดค่าเทคโนโลยี เป็นต้น และ 3.เปลี่ยนจำนวนนักกฎหมายที่ใช้ หรือลดนักกฎหมายมือใหม่ เพราะทักษะเชิงกลยุทธ์ยังต้องใช้มนุษย์

“ดร.สมเกียรติ” ทิ้งท้ายด้วยว่า ในยุคแรกของ AI จะมาพร้อมความเหลื่อมล้ำระหว่างคน หรือบริษัทที่ใช้เป็น และใช้ไม่เป็น แต่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงพลิกผันรวดเร็วเพียงใด ความรู้แบบกว้าง เพื่อให้เรามองภาพรวมแล้วเข้าใจสถานการณ์ได้ ต้องการความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะ หรือความสามารถในการ “เอ๊ะ” เพื่อจะได้ไม่โดน AI หลอกได้ง่าย ๆ

แต่ทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือเร็วเพียงใด คุณสมบัติของผู้ที่มีโอกาสอยู่รอด คือความสามารถในการปรับตัว

ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราจะต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราจะต้องการคนที่ปรับตัวได้”