จีดีพีจะโตหรือไม่ ?

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

หลังศาลรัฐธรรมนูญรับตีความคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ของ 40 สว. ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน จากกรณีการแต่งตั้งบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี และมีมติ 5:4 ไม่สั่ง นายกรัฐมนตรี “หยุดปฏิบัติหน้าที่ิ (23 พ.ค. 2567)

ดังนั้น ถัดมาวันจันทร์ที่ 27 พ.ค. ท่านนายกฯคงกลับมาจากปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ตามที่ท่านสั่งการข้ามประเทศมาจากญี่ปุ่น หลังจากที่ สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรก (20 พ.ค.) ปรากฏว่าจีดีพีไทย ติดอันดับรั้งท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน

หากพลิกกลับไปอ่านถ้อยแถลงของสภาพัฒน์จะพบว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4/2566 และแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 2.5) ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในปี 2566

ผลจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.9 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ขณะที่ลงทุนภาครัฐยังคงลดลง และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า การลงทุนภาครัฐ ลดลงร้อยละ 27.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 20.1 ในไตรมาส 4/2566 โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลงร้อยละ 46.0 จากการลดลงร้อยละ 33.4 ในไตรมาส 4/2566 ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 2.8 จากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาส 4/2566

Advertisment

ถือว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อยเลยทีเดียว และต้องเร่งหาทางแก้ไขเยียวยาเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว

ต้องยอมรับว่าไม่เพียงเฉพาะปมปัญหาความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เท่านั้น ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังเต็มไปด้วยอุปสรรคอีกหลายอย่าง ทั้งภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันทางการค้า ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ

แน่นอนว่าแนวทางการบริหารจัดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลืออยู่ กุญแจสำคัญน่าจะมาจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ด้วยการเร่งรัดงบประมาณประจำปี 2567 การเร่งการเบิกจ่ายงบฯเหลื่อมปีและงบฯรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถเบิกจ่ายได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นี่ก็ปลายเดือน พ.ค. อีกเดือนเดียวก็จะสิ้นไตรมาส 2 ของปีแล้ว และอีกด้านหนึ่งก็เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญที่เหลืออยู่ในเวลานี้ จีดีพีไตรมาส 2-3 จะออกหัวหรือก้อย

Advertisment

ที่ผ่านมา เท่าที่พูดคุยกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการคนทำมาค้าขาย ตอนแรกส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นใจ “มองบวก” และฟันธงว่า อย่างไรเสียเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก

เหตุผลเพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่จะค่อย ๆ ทยอยออกมาในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ซึ่งน่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ และช่วยให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวเร็วขึ้น

แต่ล่าสุด ตอนนี้ทุกคนเริ่มไม่แน่ใจ และมีความกังวลในหลาย ๆ เรื่อง

เริ่มจากการเห็นสัญญาณ “กำลังซื้อ” ผู้บริโภคมีความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงเฉพาะกลุ่ม C-D ที่กำลังซื้อไม่ค่อยดีนักจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่ม A-B ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ มีรายได้มีกำลังซื้อสูง ก็เริ่มระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น คิดมากขึ้น

นี่อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความไม่เชื่อมั่นเริ่มเกิดขึ้น

ถัดมา สด ๆ ร้อน ๆ จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ของ 40 สว. แม้นายกฯจะยังไม่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ในมุมของนักธุรกิจ นักลงทุน ตราบใดที่เรื่องยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ก็คงต้อง Wait&See ไปก่อน

นี่คือตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน