ดร.นิเวศน์ วิเคราะห์ “เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น” ในอีก 10 ปี คาด GDP ไทยรั้งท้ายอาเซียน

ดร.นิเวศน์ กูรูนักลงทุนวีไอ ชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ ปัญหาถาวร ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง วิเคราะห์ “เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น” ในอีก 10 ปีข้างหน้า “อินโดนีเซีย” ยังคงเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีขนาดจีดีพีถึง 2.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่น่าตกใจสุด “ประเทศไทย” กลายเป็นประเทศที่มีขนาด GDP “เล็กที่สุด” ที่ 624,356 ล้านเหรียญ จากที่เป็นประเทศ “ใหญ่ที่สุดอันดับสองในปัจจุบัน”

วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หลังจากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 2567 ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศหลัก ๆ ในกลุ่มอาเซียนถูกประกาศออกมาเมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา รัฐบาลและนักวิชาการไทยต่างก็รู้สึกตกใจและผิดหวังกับตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยที่ 1.5% และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตสูงกว่ามาก

นอกจากนั้น ตัวเลขนี้ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการเติบโตในปีก่อนทั้งปีที่ 1.9% ด้วย ในขณะที่ตัวเลขของประเทศอื่น ๆ นั้นดูเหมือนว่ากำลังฟื้นตัวและการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาก และก็สูงใกล้เคียงกับช่วงปีก่อน

การเติบโตของ GDP เวียดนามนั้น แม้ว่าจะลดลงจากระดับ 6% ปีที่แล้ว ก็บวก 5.7% ในไตรมาส 1 ปีนี้ และเป็นระดับที่ “สูงที่สุด” ในอาเซียน เท่า ๆ กับฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซียนั้นเติบโตรองลงมาที่ 5.1% มาเลเซีย 4.2% และสิงคโปร์ก็ยังโต 2.7% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ไม่เลวเมื่อคำนึงถึงว่าสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวสูงเกือบที่สุดในโลกอยู่แล้ว โดยที่ไทยอยู่ในอันดับสุดท้าย ซึ่งก็เป็นอันดับที่ไทยได้มาหลายปีที่ผ่านมา

ตัวเลขการเติบโตของสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของ “เศรษฐกิจโลก” และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุดก็เติบโตถึง 3% ซึ่งก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกนั้นไม่ได้ซบเซาหรือตกต่ำ ที่จริงอาจจะต้องถือว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างดีในไตรมาส 1 นี้

Advertisment

ยิ่งดูที่เศรษฐกิจจีน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บอกว่ากำลังมีปัญหาเนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และทำ “สงครามการค้า” กับอเมริกา แต่ก็ยังโตได้ 5.3% ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงจากก่อนช่วงโควิด-19 แต่ก็ถือว่ามีการฟื้นตัวพอสมควรจากช่วงโควิดเช่นเดียวกับประเทศหลัก ๆ ของอาเซียน

เศรษฐกิจไทยโตต่ำ ปัญหาถาวร ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้าง

ดังนั้น การที่เศรษฐกิจไทยโตน้อยมาก จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก แต่น่าจะเป็นเรื่องของประเทศไทยและเศรษฐกิจของไทยเองมากกว่า และปัญหาของไทยก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา “ชั่วคราว” ที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงปีสองปีนี้ แต่อาจเป็นปัญหา “ถาวร” ที่จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะนั่นอาจจะเป็นปัญหาเชิง “โครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตเร็วต่อไปได้ และในที่สุดอาจจะถดถอยลงไปด้วยซ้ำ ว่าที่จริงเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ก็เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% เท่านั้น

ปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตเร็วต่อไปได้นั้น น่าจะมีหลายอย่าง แต่ตัวหลักน่าจะอยู่ที่โครงสร้างของประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ประชากรเกิดใหม่น้อยลงมาก และระบบการศึกษาของไทยที่ไม่สามารถพัฒนาและตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ลองมาดูว่ามีปัญหาอย่างไร

GDP หรือ Gross Domestic Products หรือผลผลิตมวลรวมในประเทศนั้น พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ มูลค่าการทำงานแล้วมีรายได้ของประชากรทั้งประเทศรวมกันในแต่ละปี ถ้าประเทศมีประชากรทำงานมาก เงินรายได้ก็มากตาม วิธีที่จะทำให้รายได้เพิ่มที่สำคัญทางหนึ่งก็คือการเพิ่มขึ้นของคนทำงาน

Advertisment

ซึ่งถ้าประเทศมีเด็กที่เติบโตขึ้นมาและเริ่มทำงานได้มากกว่าคนที่เลิกทำงานเพราะอาจจะเกษียณหรือตาย ก็จะทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่ม มีการเติบโตของ GDP ในกรณีของไทยนั้นดูเหมือนว่าคนที่เกษียณและ/หรือตาย ตอนนี้จะมากกว่าคนที่เติบโตขึ้นมาและเริ่มทำงานในแต่ละปี ผลก็คือ GDP ก็จะลดลงและจะลดลงต่อไป

อีกทางหนึ่งที่จะทำให้รายได้เพิ่มก็คือ การที่คนในประเทศมีรายได้ เช่น เงินเดือนหรือกำไรจากการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็คือมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น GDP ก็จะเพิ่มขึ้น และวิธีที่จะทำให้คนทำงานที่ให้ผลผลิตมากขึ้นในระยะยาวได้นั้น ส่วนใหญ่ก็คือ ให้การศึกษาที่ดีกับประชากรซึ่งจะทำให้สามารถทำงานที่ยากขึ้น ใช้ทักษะที่สูงขึ้น เช่น เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักการเงิน หรือเป็นนักบริหารและทำธุรกิจเป็นต้น

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นก็คือ ให้คนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและ/หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำงานแทนที่ของเดิมที่อาจจะใช้แรงงานมากหรือใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า เป็นต้น

ด้วยวิธีนี้ ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้มากขึ้น ส่งผลให้ GDP เติบโตได้ แต่ทั้งการใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรทันสมัยนั้น ก็ต้องอาศัยคนที่ได้รับการศึกษาที่ดีและทันสมัย

แต่ประเด็นที่ทำได้ยากก็คือ คนทำงานของไทยนั้น จำนวนมากเป็นคนรุ่นเก่าและมีการศึกษาที่ไม่สูงหรือไม่ดีนัก จึงปรับตัวให้หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ยาก เช่นเดียวกับการที่อาจจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์เครื่องมือมาใช้ ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจึงทำได้ยาก ผลก็คือการเติบโตของ GDP จากส่วนนี้ก็จะไม่มาก และอาจจะไม่สามารถชดเชยจำนวนคนที่น้อยลงได้

เมื่อดูประกอบกัน คือคนทำงานก็ไม่เพิ่มแถมจะลดลง และโอกาสที่จะเพิ่มประชากรก็น้อยมากเพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ค่อยยอมมีลูก คนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากนักเพราะการศึกษาไม่ดีพอและการปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ก็ทำได้ยากเพราะอายุมาก การที่คนทั้งประเทศจะสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะยากขึ้น

ดังนั้น GDP ของไทยนับจากนี้คงไม่สามารถเติบโตได้เร็วเหมือนเดิมที่ครั้งหนึ่งเราโตถึงกว่า 10% ต่อปี เป็นเวลาถึง 2-3 ปีติดต่อกัน และส่วนใหญ่ก็โตในระดับ 5-7% เป็นเวลายาวนาน

อีก 10 ปี GDP โตเพียงปีละ 3% ก็เป็นเรื่องยาก

มองไปข้างหน้าอีก 10 ปี ผมคิดว่าการที่จะให้ GDP โต แม้ในระดับเพียงปีละ 3% ก็เป็นเรื่องที่ยาก ผมคิดว่าโอกาสที่จะโตปีละ 2% โดยเฉลี่ยน่าจะสูงกว่า

จริงอยู่ รัฐบาลอาจจะบอกว่าเรา “กำลังปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้น เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไทยมีความสามารถและมีความได้เปรียบประเทศอื่นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า

แต่ภาพใหญ่ก็คือ เราขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว การดึงคนจากอุตสาหกรรมอื่นมาทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยวก็อาจจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่คิด หรือพูดง่าย ๆ GDP ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้มากอย่างต้องการ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ รายได้จากการทำงานในภาคการท่องเที่ยวนั้นอาจจะไม่ได้สูงนัก

ไม่ว่าจะปรับทิศทางเศรษฐกิจไปทางไหน สุดท้ายแล้วมันก็ต้องทำให้คนทำแล้วมีรายได้มากขึ้น ซึ่งก็คือจะต้องเป็นงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นและใช้ทักษะสูงขึ้น ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องมีการศึกษาและมีทักษะที่สูงกว่าเดิม นอกจากนั้น ก็ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น

ฟิลิปปินส์-อินโด-มาเลย์ GDP โตต่อเนื่อง

กลับมาดูที่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่มีคนเพิ่มมากขึ้นนั้น รวมถึงฟิลิปปินส์ที่อาจจะไม่ค่อยคุมกำเนิด อาจจะเนื่องจากเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิค อินโดนีเซียและมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนของการเพิ่มคนน่าจะมากพอสมควร บวกกับการเพิ่มของประสิทธิภาพของคนที่ยังมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ก็น่าจะทำให้ 3 ประเทศนี้สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอัตราล่าสุดต่อไปได้อีก 10 ปี

เวียดนามนั้น การเพิ่มของคนทำงานก็ยังมีมากพอสมควร แต่การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพนั้นน่าจะค่อนข้างสูงอานิสงส์จากคุณภาพและการศึกษาของประชากรที่โดดเด่นเห็นได้จากผลการทดสอบ PISA Test ซึ่งเวียดนามทำได้เหนือกว่าทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นสิงคโปร์ และการที่ประเทศสามารถดึงดูดบริษัทระดับโลกที่เข้าไปลงทุนทำอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีสูงขึ้นต่างก็เข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อการส่งออกไปในตลาดโลกได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ

ทั้งหมดนั้นทำให้ประเทศหลัก ๆ ในอาเซียนยกเว้นไทยที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นน่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงเท่าเดิมต่อไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งผลก็คือ GDP ของเพื่อนบ้านของไทยก็จะโตอย่างรวดเร็วไล่กวดและทิ้งห่างไทยออกไปเรื่อย

โดยตัวเลขที่ผมลองคำนวณดูว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยยังโตต่อในระดับ 2% ต่อปี ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศโตต่อไปในระดับตั้งแต่ 2.7% ของสิงคโปร์ และสูงสุดของเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่ 5.7% อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า?

แน่นอนว่าอินโดนีเซียจะยังคงเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีขนาด GDP ถึง 2.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ ประเทศไทยที่เป็นประเทศ “ใหญ่ที่สุดอันดับสองในปัจจุบัน” ด้วยตัวเลข GDP ที่ 512,190 ล้านเหรียญสหรัฐ จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาด GDP “เล็กที่สุด” ที่ 624,356 ล้านเหรียญ

รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่ประมาณ 650,000 ล้านเหรียญ ที่ถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็กในกลุ่มในแง่ของจำนวนประชากร ส่วนฟิลิปปินส์กับเวียดนามจะแข่งกันเป็นอันดับสองที่ใกล้เคียงกันมาก โดยมี GDP ในระดับ 750,000 ล้านเหรียญขึ้นไป

ในด้านของตลาดหุ้นนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า คงพูดยากกว่าประเทศไหนจะให้ผลตอบแทนการลงทุนดีกว่ากัน เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วขึ้นกับขนาดและคุณภาพของบริษัทที่จะต้องเติบโตและมีขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งในอีก 10 ปี ก็มักจะต้องเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่แข่งขันได้ ซึ่งในกรณีนี้ผมคิดว่าคู่แข่งที่จะชิงความเป็นหนึ่งก็น่าจะเป็นเวียดนามกับอินโดนีเซีย