ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

คอลัมน์ : SD Talk
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT)

แนวคิดการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management) ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจต่างมองหาวิธีดำเนินงานในลักษณะที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น จึงต้องตรวจสอบย้อนกลับไปยังทุกขั้นตอนของการจัดหา การผลิต และการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ เพื่อหาวิธีลดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ง่าย และมีประสิทธิภาพที่สุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมห่วงโซ่อุปทานคือการกำจัดของเสีย ซึ่งทำได้โดยการปรับกระบวนการผลิตให้เหมาะสม ลดการผลิตส่วนเกินให้เหลือน้อยที่สุด ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ และส่งมอบสินค้าให้เส้นทางขนส่งสั้นมีประสิทธิภาพที่สุด

รวมถึงลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ โดยอาจนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ออกแบบธุรกิจ เน้นที่ความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น สามารถใช้ซ้ำ ซ่อมแซมได้ ซึ่งนับเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรที่ลดของเสียและเพิ่มมูลค่าสูงสุด

การใช้พลังงานทางเลือกเป็นกลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่ง การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากน้ำ จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อระบบนิเวศ แต่ยังเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียวในวันที่ระบบการเงินโลกส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน

นับจากนี้ กฎหมาย ข้อบังคับ มาตราต่าง ๆ จะยิ่งจะเป็นสีเขียวมากขึ้น เข้มงวดขึ้น เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านของฐานการผลิตสินค้าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก บริษัทใหญ่หลายแห่งที่เคยใช้ทวีปเอเชียเป็นฐานการผลิต จะเริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่ที่ต้นทางของวัตถุดิบ การผลิต และการบริโภคอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากการขนส่งลดลง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า

Advertisment

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปทั่วโลกต้องเริ่มขยับตัวแล้วเช่นกัน โดยอาจเปลี่ยนเป้าหมายมามุ่งเน้นการทำธุรกิจในภูมิภาค รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ผลิตบนแนวคิดการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

ในระดับองค์กร CEO คือผู้มีบทบาทในการส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนของธุรกิจ โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจน และวัดผลได้ ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้ของเสีย และน้ำให้น้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารฝ่ายจัดซื้อของบริษัทเองต้องเริ่มทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อพัฒนากลยุทธ์การจัดหาอย่างยั่งยืน และร่วมกันปรับปรุงวัตถุดิบต้นทางให้เป็นไปตามมาตรฐานความยั่งยืน

ตัวอย่างการดำเนินงานที่เด่นชัดในเรื่องนี้ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก ด้วยเป้าหมายการขับเคลื่อนความยั่งยืนของธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ซีพีเอฟ 2030 ปฏิบัติการขับเคลื่อนความยั่งยืน (CPF Sustainability in Action 2030) ซึ่งรวมถึงการสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานในการผลิต

Advertisment

ซีพีเอฟได้กำหนดนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ ภายใต้หลักการ 4P ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์และบริการ (Product) แรงงาน (People) กระบวนการผลิต (Process) และการดำเนินงาน (Performance) โดยมีการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้า ตรวจสอบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และวัดผลได้

โดยปี 2565 คู่ค้าสำคัญในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ และเครื่องปรุงในประเทศไทยได้รับการประเมินครบ 100% นอกจากนี้ ยังส่งเสริมศักยภาพ ด้วยงานสัมมนาพัฒนาศักยภาพคู่ค้าธุรกิจทุกปี โดยมีคู่ค้ากว่า 200 บริษัทในประเทศไทยเข้าร่วมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านความยั่งยืนรอบด้าน

การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าของซีพีเอฟ ยังหมายถึงความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ทั้งยามปกติและภาวะวิกฤต ที่ให้ความสำคัญกับดูแลและสนับสนุนคู่ค้าให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป

การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทั้งห่วงโซ่ สำคัญมากที่ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อการทำธุรกิจ จากรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นแต่การแข่งขันเชิงปริมาณ เป็นความร่วมมือและแบ่งปันความรู้เชิงคุณค่า ไม่จำเป็นต้องใช้เพียงเทคโนโลยี

แต่แสวงหานวัตกรรมทางความคิดมาออกแบบธุรกิจรูปแบบที่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนลดการใช้ทรัพยากร ปรับตัวระยะยาว เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ ซัพพลายเออร์ ผู้บริโภค ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน รัฐบาล และชุมชน

ทั้งนี้เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจโลกที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน และยืดหยุ่นสำหรับทุกคน