คอลัมน์ : SD TALK ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์-เรื่อง https://tamrongsakk.blogspot.com
เมื่อมีการปรับขึ้นเงินเดือน คนที่เข้าทำงานใหม่ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศโดยกระทรวงแรงงาน หรือการที่บริษัทปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับการจ้างคนเข้าใหม่เพื่อหนีผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือปรับเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดเพื่อจูงใจคนจบใหม่ให้อยากมาทำงานกับบริษัทก็ตาม
แน่นอนว่าบริษัทต้องคิดถึงคนเก่าที่เข้ามาก่อนเหมือนกันนะครับ ว่าควรจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือนคนเก่าที่เข้ามาก่อนที่จ้างมาด้วยอัตราการจ้างเดิมด้วยหรือไม่ เพราะถ้าไม่ปรับให้อาจทำให้คนเก่าที่มีฝีมือ รู้งานดีลาออกไปได้
จึงเป็นที่มาของสูตรที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ ว่าจะมีวิธีการปรับคนเก่ายังไงกันบ้างตามนี้ครับ
วิธีที่ 1 : ปรับเงินเดือนเฉพาะพนักงานใหม่ โดยไม่ต้องปรับให้กับพนักงานเก่า
วิธีนี้มักจะใช้กับบางกรณี เช่น กรณีที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 331 เป็น 353 บาทต่อวัน บริษัทไม่ต้องปรับค่าจ้างให้คนเก่าที่เข้ามาก่อน โดยคิดว่าถ้าหากพนักงานเก่าที่ทำงานมาก่อนไม่พอใจแล้วลาออกไป บริษัทสามารถหาคนใหม่มาทำงานแทน
แล้วใช้เวลาในการฝึกสอนงานน้องใหม่ไม่นานสามารถทำแทนคนเก่าที่ลาออกไปได้ แต่การเลือกใช้วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้กับงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานที่จะต้องใช้เวลาในการสร้างทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถในงานนะครับ
วิธีที่ 2 : ปรับเงินเดือนพนักงานเก่าทุกคนเท่าเงินเดือนที่เพิ่มให้พนักงานใหม่
วิธีปรับเงินเดือนแบบนี้ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน แถมทำแบบตรงไปตรงมาตามหัวข้อคือ บริษัทปรับเงินเดือนให้กับพนักงานเก่าทุกคนเพื่อให้เงินเดือนสูงกว่าพนักงานที่จะเข้ามาใหม่ ในอัตราเดียวกับที่พนักงานใหม่ได้ปรับ
เช่น บริษัทจะปรับเงินเดือนพนักงานจบปริญญาตรีเข้าใหม่จากเดิม 16,000 บาท เป็น 17,000 บาท บริษัทจะปรับเงินเดือนพนักงานเก่าที่จบปริญญาตรีที่เข้ามาก่อนหน้านี้ในอัตราคนละ 1,000 บาทเท่ากันทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้พนักงานเก่าจะแฮปปี้และรู้สึกว่ายุติธรรม
วิธีนี้เรียกอีกอย่างหนี่งว่าเป็นการปรับแบบ Across The Board
การปรับวิธีนี้บริษัทต้องคิดให้ดี เพราะจะต้องใช้งบประมาณในการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบกับต้นทุนด้านบุคลากร (staff cost) ที่สูงมากกว่าทุกวิธี แต่ถ้าบริษัทมีตังค์ หรือกระเป๋าหนักพอก็เลือกวิธีนี้ได้เลย แต่จากประสบการณ์ของผมผู้บริหารของบริษัทมักจะไม่ใช้วิธีนี้ครับ
วิธีที่ 3 : ปรับเงินเดือนพนักงานเก่าหนีผลกระทบคนใหม่แบบคลื่นกระทบฝั่ง หรือ compression adjustment
วิธีนี้มักจะเป็นวิธียอดนิยมที่มักจะใช้ในหลายบริษัท โดยมีหลักการสำคัญคือ หาจุดตัดให้เจอว่าบริษัทควรกำหนดจุดตัดเอาไว้ที่เท่าไหร่ดีที่เป็นจุด ซึ่งถ้าพนักงานเก่าที่ปัจจุบันได้รับเงินเดือนเท่ากับจุดตัดหรือมากกว่านี้จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนอีก เพราะถือว่าพ้นผลกระทบจากการปรับค่าจ้างเงินเดือนคนใหม่แล้ว
ส่วนพนักงานเก่าที่มีเงินเดือนน้อยกว่าจุดตัดลงไป จะได้รับการปรับเงินเดือนเพื่อหนีผลกระทบจากการปรับเงินเดือนคนใหม่ ยิ่งพนักงานเก่าที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าจุดตัดลงไปเท่าไหร่จะได้รับการปรับเงินเดือนมากขึ้นเท่านั้น
สูตรในการปรับเงินเดือนแบบคลื่นกระทบฝั่งเป็นดังนี้
1.จุดตัด=ค่าจ้างเริ่มต้นใหม่ + ค่าคงที่ x (ค่าจ้างเริ่มต้นใหม่-ค่าจ้างเริ่มต้นปัจจุบัน)
2.ค่าจ้าง (ใหม่)=ค่าจ้างปัจจุบัน + (จุดตัด-ค่าจ้างปัจจุบัน) หาร 2
ตัวอย่างของวิธีการใช้สูตรนี้ ผมเขียนไว้โดยเฉพาะแล้วหลายครั้ง ให้ท่านที่สนใจไปติดตามหาอ่านได้ในบล็อกของผมนะครับ https://tamrongsakk.blogspot.com ไป Search คำว่า “คลื่นกระทบฝั่ง” ในบล็อกนะครับ จะมีทั้งคำอธิบายและตัวอย่างให้ดูครบถ้วน
วิธีที่ 4 : ปรับเงินเดือนตามนโยบายของฝ่ายบริหาร
การปรับแบบนี้จะเป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารครับ ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนตายตัว อาจใช้สูตรใด ๆ ที่ HR หรือฝ่ายบริหารในบริษัทนั้น ๆ คิดขึ้นมาเอง เพื่อให้เหมาะกับงบประมาณการปรับเงินเดือนของบริษัทที่มีอยู่ หรือบริบทเฉพาะของบริษัทนั้น ๆ
ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้คงพอทำให้ท่านเกิดไอเดียหาวิธีการปรับเงินเดือนที่เหมาะสมกับบริษัทของท่านบ้างแล้วนะครับ