Market-think : ก่อน-หลัง

เศรษฐา ทวีสิน สรกล อดุลยานนท์ โพลเลือกตั้ง
เศรษฐา ทวีสิน
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เคยมีคนถามผมว่า “โพล” ของสำนักไหนน่าเชื่อถือที่สุด

เพราะบางทีสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นเดียวกัน แต่ผลของโพลแต่ละสำนักแตกต่างกัน

เราไม่รู้ว่าโพลของใครถูกต้อง

เพราะพิสูจน์ไม่ได้

ดังนั้น วิธีวัดความแม่นยำของสำนักโพล ผมจะดูจากผลงานในอดีต

ผลงานที่สามารถวัดผลได้

ดีที่สุด คือ โพลเลือกตั้ง

เพราะทำโพลก่อนเลือกตั้งว่าพรรคไหนจะชนะ ชนะเขตไหนบ้าง ปาร์ตี้ลิสต์จะได้เท่าไร

ถ้าโพลอื่น ๆ เราวัดผลไม่ได้

แต่โพลเลือกตั้งวัดผลได้

ทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมา เราจะรู้เลยว่าใครแม่น ใครไม่แม่น

บางสำนักก็ไม่แม่นเพราะการกระจายกลุ่มตัวอย่างไม่ดี ผิดกลุ่ม หรือรูปแบบการสำรวจไม่ปรับตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

แต่บางสำนักไม่แม่นเพราะ “มั่ว”

หรือรับจ้างทำโพล

ถ้าโพลผลการเลือกตั้งของสำนักไหนใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ผมก็จะเชื่อโพลความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางสังคมของสำนักนั้นมากกว่าสำนักอื่น

วิธีการแบบนี้ผมใช้กับหลาย ๆ เรื่อง

อย่างเช่น ตอนนี้ผมสนใจวิธีการทำงานของ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่

คุณเศรษฐา เป็นนักธุรกิจมาก่อน “วิธีคิด-วิธีทำงาน” เขาย่อมติดนิสัยภาคเอกชน

ที่มุ่ง “เป้าหมาย” และ “ความเร็ว”

คิดและทำเพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผลเร็วที่สุด

แต่พอมาทำงานการเมือง การตัดสินใจทุกเรื่องไม่ใช่มีผลต่อเรื่อง “งาน” เท่านั้น

ความรู้สึกของประชาชนก็สำคัญ

“กระบวนการ” จึงสำคัญไม่แพ้ “เป้าหมาย”

เร็ว-ช้า-หนัก-เบา

หรือทำอะไร “ก่อน” หรือ “หลัง” ก็สำคัญ

และเนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรี ทุกจังหวะก้าวของเขาจะถูกจับตามอง และถูกวิพากษ์วิจารณ์

นี่คือ บทเรียนที่ดีสุดที่เรานำไปปรับใช้ได้

อย่างล่าสุด มีบทเรียนเรื่องการเรียงลำดับความสำคัญของงาน

ควรทำอะไรก่อน อะไรควรทำทีหลัง

อย่างเช่น เรื่องการรับฟังปัญหาหรือแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

หลังจากคุยกับคนทำงานในภาคการท่องเที่ยว ทั้งการท่าอากาศยานฯ และผู้บริหารสายการบินแล้ว

คืนก่อน คุณเศรษฐาโพสต์ภาพการพบปะกับนักธุรกิจใหญ่หลายคนในทวิตเตอร์ส่วนตัว

ทั้งคุณวิชิต สุรพงษ์ชัย-คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ของเอสซีบีเอกซ์ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ไทยเบฟฯ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซี.พี. คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา คิง เพาเวอร์

คุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ช.การช่าง คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคุณจรีพร จารุกรสกุล ดับบลิวเอชเอ

เป็นการขอความคิดเห็นจากภาคเอกชน

ถ้าในอดีต ภาพแบบนี้จะดีมาก เพราะเหมือนกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจใหญ่

แต่วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไป คำว่า “ทุนผูกขาด” และ “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ไม่แปลกที่กระแสที่ออกมาจึงไม่ดีนักสำหรับคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย

เหมือนกับไปรับฟังแต่ “ทุนใหญ่”

วันต่อมา คุณเศรษฐาจึงไปรับฟังความเดือดร้อนของพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดนัด

เหมือนแสดงให้เห็นว่ารับฟังทุกฝ่าย

เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ

เพราะเพียงแค่เรียงลำดับ “ก่อน-หลัง”

“ความรู้สึก” ของคนจะเปลี่ยนไป

ถ้าไปเยี่ยมพ่อค้า-แม่ค้าก่อน แล้วค่อยไปพบนักธุรกิจใหญ่ คนจะรู้สึกแบบหนึ่ง

แต่เมื่อไปเยี่ยมนักธุรกิจใหญ่ก่อน ความรู้สึกก็ไปอีกทาง

การแขวนป้ายทางการเมืองว่าเป็น “รัฐบาลคนรวย” หรือ “รัฐบาลคนจน”

อาจเพียงแค่ไปเยี่ยมใครก่อนเท่านั้นเอง

คุณเศรษฐาอาจคิดถึง “เป้าหมาย” เป็นสำคัญ

ลืมเรื่อง “กระบวนการ”

คิดเพียงแค่ว่าถ้าได้รับความร่วมมือจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะง่ายขึ้น

เพราะคนกลุ่มนี้ขยับทีนึง ผลที่เกิดขึ้นมหาศาล

แต่เขาลืมไปว่าตอนนี้เขาเป็น “นักการเมือง”

ความรู้สึกของสังคมมีความสำคัญ

เพราะตอนลงคะแนนเลือกตั้ง มหาเศรษฐีหรือพ่อค้าตลาดนัดก็มี 1 เสียงเท่ากัน

ต้องบาลานซ์ความรู้สึกของสังคมให้ดี ๆ

เพราะในทางการเมือง

“ความเชื่อ” คือ “ความจริง”