Market-think : ราคา “ยุติธรรม”

justice
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เมื่อหลายปีก่อน มีนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินใจกลางเมืองผืนใหญ่

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงนี้

เจรจาต่อรองทั้งในเมืองไทย บินไปคุยที่ต่างประเทศ

ตกลงราคากันได้แล้ว

เหลือเรื่องเดียวที่ตกลงกันไม่ได้

คือ ในสัญญามีการระบุว่า หากมีปัญหาขัดแย้งกัน จะต้องยึดถือกฎหมายของสิงคโปร์เป็นหลัก

ไม่ใช่กฎหมายไทย

ตลกมาก ที่ดินก็อยู่ในเมืองไทย เจ้าของที่ดินก็เป็นคนไทย ทำสัญญากันในเมืองไทย

แต่ไม่ยึดกฎหมายไทย

ผมถามนักธุรกิจคนนั้นว่า กฎหมายไทยมีปัญหาอะไร

ทำไมบริษัทนั้นจึงไม่ยอมรับ

คำตอบที่ได้เจ็บปวดมากครับ

เขาบอกว่า เนื้อหาของกฎหมายไทยไม่มีปัญหาอะไรมาก

แต่ที่มีปัญหามาก คือ กระบวนการยุติธรรม

เขาไม่ได้บอกว่า กระบวนการตรงจุดไหน แต่บอกว่า ไม่โปร่งใส

บางขั้นตอนสามารถทุจริตคอร์รัปชั่นได้

คนต่างชาติเสียเปรียบ

เขายกตัวอย่างคดีการเมืองหลายคดีที่สวนกับความรู้สึกของประชาชน

ที่ฮือฮาที่สุดของคนต่างชาติ คือ กรณีของคุณสมัคร สุนทรเวช ทำกับข้าวแล้วหลุดจากเก้าอี้

อ้างอิงพจนานุกรม แทนที่จะเป็นกฎหมาย

สุดท้ายการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะตกลงกันไม่ได้

ผมจำเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ด้านหนึ่งคิดว่าเป็นเรื่องตลก

เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะมีบริษัทต่างชาติคิดแบบนี้

แต่อีกด้านหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่า อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้

เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาจริง ๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ

คดีความเรื่องความขัดแย้งต่าง ๆ คนต่างชาติอาจไม่รู้รายละเอียด

เขาจะรู้เฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ที่เป็นข่าว

นั่นคือ เรื่องการเมือง

คำตัดสินคดีที่ขัดแย้งกับหลักการสากล จะทำให้นักธุรกิจต่างชาติคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเรื่องทางธุรกิจก็มีโอกาสเป็นแบบนี้

เขาคงไม่คิดว่าเรื่องการเมืองอาจจะไม่ยุติธรรม

แต่เรื่องธุรกิจตัดสินแบบยุติธรรม

ลองนึกถึงเวลาเราไปลงทุนในต่างประเทศ ฉากทัศน์หนึ่งที่ต้องคิด คือ จุดที่เลวร้ายที่สุด

ถ้าขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน เราจะพึ่งพาใคร

ที่พึ่งสุดท้ายก็คือ กระบวนการยุติธรรม

ต่อให้ทำสัญญารัดกุมอย่างไร แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่ตรงไปตรงมา

คนต่างถิ่นก็เสียเปรียบเจ้าถิ่น

นักลงทุนจะชอบประเทศที่หลักกฎหมายเป็นสากล ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

“ความยุติธรรม” จึงมีราคา

และมีคุณค่ามาก

ทั้งคนที่ต้องอยู่ในกระบวนการตัดสินคดีที่ต้องการความยุติธรรม

และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแบบที่ไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว

ขอแค่ “ยุติธรรม”

และมี “เหตุผล” ที่อธิบายได้

“เหตุผล” คือ “เหตุ” ต้องมาก่อน “ผล”

ไม่ใช่ตั้งธงว่า “ผล” จะเป็นอย่างไร

แล้วค่อยหา “เหตุ” มาอธิบาย