ทุเรียนจันท์

durian ทุเรียนจันท์ หนุ่มเมืองจันท์ ตุ้มสรกล
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ผมเพิ่งไปเมืองจันท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ได้คุยกับ คุณอุกฤษฎ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี เรื่อง “ทุเรียน” เมืองจันท์

เขาบอกว่าปีนี้ผลผลิตทุเรียนแต่ละสวนน่าจะลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เป็นผลมาจากอากาศแปรปรวน และภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา

แต่มีบางคนบอกว่าจำนวนพื้นที่การปลูกทุเรียนในเมืองจันท์ปีนี้เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ตัวเลขผลผลิตรวมลดลงไม่มากนัก

Advertisment

อีกสัก 2 เดือน รอจนหมดฤดูกาลขายทุเรียน ตัวเลขคงจะชัดเจน

“ทุเรียน” นั้นถือเป็นสินค้าการเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเมืองจันท์สูงมาก และเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย

ลูกค้ารายใหญ่จนเกือบจะเรียกว่าเป็นรายเดียวของ “ทุเรียนไทย” คือ จีน

ที่เมืองจันท์ช่วงหน้าทุเรียน จะมี “ล้งจีน” ผุดขึ้นเต็มไปหมด

Advertisment

ที่พักในจังหวัดเต็มไปด้วยคนจีนที่มาทำธุรกิจซื้อขายทุเรียน

พอส่งออกทุเรียนมากขึ้น ราคาทุเรียนในประเทศก็ขยับสูงขึ้น

วันนี้ “ทุเรียน” กลายเป็นผลไม้ราคาแพงสำหรับคนไทย

ราคาทุเรียนในประเทศขยับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

เพราะส่งออกเป็นส่วนใหญ่

ตอนที่มีข่าวว่าทุเรียนเมืองไทยมีปัญหา ราคาตก

เพจไหนที่แชร์ข่าวนี้จะมีคนเข้ามาคอมเมนต์ดีใจบอกว่าราคาทุเรียนจะได้ลดลงเสียที

คงเป็นความรู้สึกคล้ายตอนที่เราเห็นราคาห้องพักของโรงแรมในภูเก็ตช่วงโควิด

เพราะที่ผ่านมาและวันนี้ ราคาโรงแรมภูเก็ตเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ แล้วสูงกว่ากันมาก

มันเป็นเรื่อง “ดีมานด์-ซัพพลาย” ธรรมดา

แต่จริง ๆ แล้วราคาทุเรียนที่เมืองจันท์ปีนี้ยังปกติ

แม้จะอยู่ใน กทม. แต่ผมใช้วิธีการตรวจเช็กง่าย ๆ คือ เข้าไปในเพจของชาวสวน เขาจะสอบถามราคากันในเพจว่าที่ไหนราคาเท่าไร

มีการเอาป้ายราคารับซื้อของล้งแต่ละแห่งมาลง

ราคาที่ไหนดี เขาก็ไปขายที่นั่น

ทุกจังหวัดมีหมด

อย่างเช่น อยากรู้ราคาทุเรียนที่ล้งรับซื้อวันนี้ เราก็แค่เสิร์ชในเฟซบุ๊กว่า “ราคาทุเรียนจันทบุรีวันนี้”

เพจของชาวสวนจะขึ้นมาพรึ่บเลยครับ

เขาจะแจ้งราคากันในนั้น

แต่ปีนี้มีประเด็นหนึ่งที่มีคนพูดกันเยอะ คือ ยอดส่งออกทุเรียนไปจีนที่เมืองไทยเคยยืนหนึ่งมานาน

ปีนี้อาจแพ้เวียดนาม

เขาเอาตัวเลขยอดไตรมาสแรกมาเทียบกัน ปรากฏว่าไทยแพ้เวียดนาม

คนในวงการทุเรียนก็แย้งว่า เอาตัวเลขไตรมาสแรกมาเทียบไม่ได้

เพราะผลผลิตทุเรียนของไทยจะเริ่มที่ภาคตะวันออกในไตรมาสที่สอง จากนั้นภาคใต้ก็รับไม้ต่อจนถึงปลายปี

ไตรมาสหนึ่ง ทุเรียนเมืองไทยจึงมีน้อย

ในขณะที่เวียดนามมีผลผลิตตลอดทั้งปี และจีนเพิ่งทยอยเปิดให้เวียดนามส่งทุเรียนสดเมื่อ 2 ปีก่อน

กราฟยอดส่งออกของเวียดนามจึงกำลังไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ

แต่ถ้าวันหนึ่ง “เวียดนาม” จะชนะ “ไทย” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

เพราะเวียดนามได้เปรียบไทยมากทีเดียว ทั้งผลผลิตที่มีเกือบทั้งปี และการมีชายแดนติดกับจีน

ทุเรียนสามารถตัดได้แก่กว่าเพราะใช้เวลาในการขนส่งทุเรียนน้อยกว่าไทย และต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่า

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไทยสู้ไม่ได้จริง ๆ

ส่วนทุเรียนไทยยังได้เปรียบเรื่องแบรนด์และความเชื่อถือ เพราะครองตลาดมานาน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ชาวสวนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าเราต้องส่งออกไปจีนเป็นที่ 1

ขอแค่ว่าส่งออกได้มากขึ้นตามปริมาณทุเรียนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนลงทุนปลูกทุเรียนมากขึ้น

นอกจากนั้นก็ขอให้ “ราคา” ทุเรียนยังสูงแบบนี้ ไม่ถูกกดราคา และขายง่ายเหมือนเดิม

เขาขอแค่นี้
ถามว่าเป็นไปได้ไหม ต้องตอบว่าเป็นไปได้ เพราะตลาดจีนนั้นมโหฬารมาก ยังมีคนจีนจำนวนมากยังไม่ได้กินทุเรียน

ยอดบริโภคทุเรียนต่อคนของจีนก็ยังต่ำมาก

ครับ “ทุเรียน” ยังเป็น “โอกาส” ของเมืองไทย

ขอแค่ทำรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นตามเป้า

แต่จะเป็นที่ 1 หรือไม่

ไม่ต้องสนใจมากนัก