บริหาร “อารมณ์”

MARKET-THUNK : สรกล อดุลยานนท์

การตัดสินใจที่ดีต้องใช้หลักของ “เหตุผล” อย่าใช้ “อารมณ์”

แต่เชื่อไหมครับว่าการตัดสินใจของคนเรา ส่วนใหญ่จะตัดสินใจด้วย “อารมณ์”

เพียงแต่คนฉลาดจะหา “เหตุผล” มารองรับการตัดสินใจของตัวเอง

เป็นเหมือนเสาค้ำยันการตัดสินใจด้วย “อารมณ์”

ไม่ใช่แค่เรื่องงานหรือคนเท่านั้น แต่การตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อก็เป็นเรื่อง “อารมณ์”

การบริหาร “อารมณ์” ลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ต้องจับอารมณ์ของสังคมและตลาดให้ออก

อย่างเช่นกรณีโควิดระลอก 2 ครั้งนี้

อารมณ์ของสังคมเปลี่ยนไปจากครั้งแรก

ครั้งแรก เราไม่รู้เพราะไม่เคยเจอโรคระบาดระดับโลกมาก่อน

เรากลัว

หมอสั่งอะไร หรือรัฐบาลจะให้ทำอะไร เรายอมหมด

ล็อกดาวน์ก็ยอม

ให้ wfh ก็ยอม

เพราะทุกคนยอมรับว่าไวรัสโควิด-19 เป็นศัตรูที่เรามองไม่เห็น

เราต้องระมัดระวังตัวเอง

แต่ครั้งนี้ ความรู้สึกของสังคมเปลี่ยนไป

สังเกตไหมครับว่าคนโกรธรัฐบาลมากกว่าครั้งแรก

เพราะทุกคนป้องกันตัวเอง ทำทุกอย่างที่รัฐบาลบอก

แต่การแพร่เชื้อครั้งนี้มาจากความผิดพลาดของฝ่ายความมั่นคง

ทั้งขบวนการแรงงานเถื่อน และบ่อนการพนัน

พอรัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ ออกมา บังคับให้เจ้าของธุรกิจและประชาชนต้องทำโน่นทำนี่

คนจึงออกมาต้าน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปิดร้านอาหาร จะปรับเงินถ้าไม่โหลดแอป “หมอชนะ” ฯลฯ

เพราะทุกคนรู้สึกว่ารัฐบาลเป็นต้นเหตุและไม่เอาจริงกับต้นเหตุของปัญหา

จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถจับตัวเจ้าของบ่อนพนันได้สักคน

ขบวนการแรงงานเถื่อนก็จับแต่ปลาซิวปลาสร้อย

คนส่วนใหญ่นึกไปถึงขบวนการค้าแรงงานเถื่อน “โรฮิงญา” เมื่อหลายปีก่อน ที่หัวหน้าใหญ่เป็นนายทหารระดับสูง

ศาลตัดสินจำคุกแล้ว

แต่นายตำรวจที่ทำคดีนี้ต้องหนีไปอยู่ออสเตรเลียจนถึงวันนี้

ไม่แปลกที่เขาจะคิดว่าคนในรัฐบาลรู้เห็นกับบ่อนการพนันและขบวนการแรงงานเถื่อน

อารมณ์สังคมจึงแรงมาก

หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ที่เคยแถลงอะไร คนก็เชื่อ

วันนี้เขากลายเป็น “เหยื่อ” ของอารมณ์สังคมที่เปลี่ยนไป

ถ้าคนในรัฐบาลจับสัญญาณเรื่องนี้ไม่ออก ยังออกมาปฏิเสธว่าบ่อนไม่มีจริง หรือโยนภาระไปให้ประชาชนเรื่อย ๆ

แรงต้านจะหนักกว่านี้

เช่นเดียวกับเรื่องการตลาด มีนักการตลาดหลายคนบอกว่าอารมณ์ของผู้บริโภควันนี้กับเมื่อต้นปีที่แล้วก็ไม่เหมือนกัน

โควิดครั้งแรก ลูกเล่นการตลาดที่คิดค้นขึ้นมาดูน่าตื่นตาตื่นใจ

เพราะคนยังมี “กำลังซื้อ” อยู่

แสนสิริมีแคมเปญให้ลูกค้าที่ซื้ออยู่ฟรี 2 ปี

เพนกวินอีทชาบู มีแคมเปญซื้อชาบูแถมหม้อ

หรือการเปิดเพจจุฬามาร์เก็ตเพลส ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ฯลฯ

ลูกเล่นแบบนี้ใช้ไม่ได้อีกแล้วในครั้งนี้

คนจะเฉย ๆ

ครั้งก่อน คนที่พลิกเกมธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19 นอกจากจะได้ “ยอดขาย” แล้ว

แบรนด์ของตัวเองยังเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างเช่น เพนกวิน อีท ชาบู หรือ “คลาส คาเฟ่”

แต่ครั้งนี้คงหาแบรนด์ที่จะพลิกเกมให้เป็นที่รู้จักน้อยลง

ทุกคนคงต้องคิดอย่างเดียว คือ เอาตัวรอดให้ได้

เพราะลูกค้าที่เคยมี “กำลังซื้อ” อยู่บ้างตอนนี้เงินในกระเป๋าเหือดแห้งมาก

อารมณ์ตลาดไม่ดีเลย

วิกฤตครั้งนี้นอกจากต้องบริหารอารมณ์ตัวเราเองแล้ว

ยังต้องดูทิศทางลม ดูอารมณ์ของผู้บริโภคด้วย

จะเล่นมุขขำ-ขำ อะไรต้องคิดดี ๆ

ไม่งั้น “ทัวร์ลง”