ถอดรหัสแคมเปญ “ไทยนิยม” ชง “บิ๊กตู่” โกยแต้มการเมืองแบบไร้คู่แข่ง

หลังจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไฟเขียว “งบฯกลางปี” 1.5 แสนล้านบาท เมื่อ 16 ม.ค. 2561 หว่านงบฯ-เงินลงพื้นที่ จนถูกวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่ ?

ตั้ง คกก.ขับเคลื่อน “ไทยนิยม”

ผ่านไปแค่สัปดาห์เดียว “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ผุดวาทกรรมคำว่า “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ขึ้นมา พร้อมกับการตั้งคณะกรรมการที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยสู่ความยั่งยืน” ขึ้นมา มีโครงสร้างบริหารงาน 3 ระดับ

ระดับนโยบาย มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน แวดล้อมไปด้วยรองนายกฯ-รัฐมนตรีสายความมั่นคง และสายเศรษฐกิจระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด-ส่วนราชการ และฝ่ายทหาร ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประจำจังหวัดระดับอำเภอ มีนายอำเภอ-หน่วยความมั่นคงในพื้นที่

ผ่านกรอบทำงาน 3 มิติ 1.”ขับเคลื่อนงาน-โครงการ” ของกระทรวงต่าง ๆ ลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน 2.แก้ไขปัญหาความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ในพื้นที่ 3.สร้างความตระหนักการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ดาวกระจาย 7,463 ทีม

โดยมีทีม “ขับเคลื่อนไทยยั่งยืน” 7,463 ทีม ดาวกระจายลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน สำรวจปัญหาของประชาชนรากหญ้า กินเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค. เรียกว่า “ครูจังหวัด” อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนงบประมาณให้กระทรวงมหาดไทยปรับแผนการใช้งบฯปี 2561 ที่มีอยู่แล้ว 857 ล้านบาทมาใช้ขับเคลื่อนโครงการ

เซตโปรแกรมลงพื้นที่ 4 ภาค

ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ยังวางแผน “เซต” โปรแกรมให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลงพื้นที่คลุกฝุ่น พบปะรากหญ้าลงพื้นที่แบบ “มาราธอน” ตั้งแต่ ก.พ.-มิ.ย. 61 ทุกสัปดาห์

ในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายมีนาคม “พล.อ.ประยุทธ์” จะลงพื้นที่อีสาน อาทิ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และบึงกาฬ วันที่ 15 ก.พ. 61 ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร วันที่ 21 ก.พ. 61 ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด จากนั้นจะขึ้นเหนือ อาทิ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่

ครั้นเดือนเมษายนก็จะลงพื้นที่ภาคกลาง อาทิ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี

ส่วนในเดือนพฤษภาคม “พล.อ.ประยุทธ์” เหยียบพื้นที่ภาคตะวันออก ฐานอีอีซี ก่อนจะไปเหยียบถิ่นอีสานใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ของพรรคภูมิใจไทย

ปิดท้ายในเดือนมิถุนายนทั้งเดือน “พล.อ.ประยุทธ์” มุ่งหน้าลงใต้ฐานที่มั่นพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา ระนอง รวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สวนทางกับนักการเมือง-พรรคการเมือง เพราะถูกล็อกด้วยคำสั่ง คสช.ที่ยังไม่มีใครรู้ว่า คสช.จะปลดล็อกเมื่อไหร่

ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่รัฐบาล คสช.โกยแต้มการเมืองได้อย่างสะดวกไร้คู่แข่ง

“บิ๊กป๊อก” โต้หาเสียง

อย่างไรก็ตาม “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่เป็นการหาเสียง แต่เพื่อบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนมากกว่า เพราะโครงการไทยนิยมเป็นบูรณาการของทุกกระทรวงลงพื้นที่ ไม่ใช่แค่กระทรวงมหาดไทย แต่เป็นงานทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคง ซึ่งนายกฯ สั่งว่าจะต้องมีการบูรณาการในพื้นที่ให้เกิดขึ้น โดยจะมีคณะทำงานที่กำกับตั้งแต่ระดับบน คือ นายกฯกับรัฐมนตรี จนระดับจังหวัด และระดับตำบล ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับตำบล จะไปสร้างความเข้าใจและบูรณาการทุกอย่างในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ”

“ขณะที่ชุดตำบลจะต้องไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ก็มีชุดที่ฝึกให้ความรู้ จากนั้นไปพูดกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ความรู้ว่าอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านใช้อย่างไรบ้าง หรือโครงการเกี่ยวกับการเกษตร กระทรวงเกษตรฯก็จะลงไปดู”


“ภูมิธรรม” ซัดชิงคะแนนเสียง

ขณะที่ความเห็นของนักการเมืองอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์เกมนี้ว่าเป็นเกมแย่งชิงคะแนนนิยมทางการเมือง

“การที่กลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันอยู่ในอำนาจมา 3-4 ปี ด้วยวิธีพิเศษคือการทำรัฐประหาร การจะกลับมาเป็นรัฐบาลวิธีพิเศษอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะทำได้ยาก สิ่งที่เป็นจริงควรจะเกิดขึ้นแรงกดดันจากนานาชาติ และประชาชนในประเทศคือการเลือกตั้ง การกลับมาอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม การจะกลับมาได้แบบนี้ต้องได้มาด้วยการให้ประชาชนตัดสินใจยอมรับ”

“คสช.จึงต้องสร้างความนิยมของประชาชนให้เกิดขึ้น นี่คือสงครามแย่งความนิยม ถ้า คสช.ไม่สามารถได้ความนิยมจากประชาชน ระบบที่จะต้องเปิดการเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้ง ก็ยากที่ คสช.จะกลับคืนสู่อำนาจ การที่จะกลับสู่อำนาจได้ด้วยวิธีนี้ ก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า คสช.มีความสำคัญต่อประชาชน จึงต้องไปอำนวยประโยชน์ว่าถ้าเลือกฉันแล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะได้รับ หรือเคยได้รับก็ยังได้รับต่อไป”

ดักคอหวังได้ ส.ส.เกินครึ่ง

“การแย่งชิงไม่ใช่ฐานมวลชนเพื่อไทย แต่เป็นฐานมวลชนส่วนใหญ่ ถ้าได้ต้องได้จากเพื่อไทยเพื่อลดคะแนนนิยมของเพื่อไทย และต้องการลดคะแนนนิยมจากพรรคการเมืองอื่นทั้งหมด เป้าหมายของเขาคือต้องได้ ส.ส.เกินครึ่งของสภา วันนี้การได้เป็นนายกฯคนนอกเพียงอย่างเดียว คสช.ไม่สามารถบริหารได้ตลอดรอดฝั่ง การกลับมาเป็นนายกฯ แต่บริหารงานภายใต้สภาผู้แทนฯ ซึ่งถ้ามีพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงข้างมาก จะบริหารลำบาก ดังนั้น นอกจากนายกฯคนนอก ซึ่งมีหลักประกันด้วย ส.ว. 250 คน ยังต้องได้ความนิยมจาสภาผู้แทนฯ ได้เกิน 250 เสียง ถึงจะบริหารประเทศได้”

เป้าหมาย “นายกฯคนนอก”

“วางกติกาทั้งหมดเพื่อจะบรรลุเป้าหมายมาเป็นนายกฯ แต่จะเป็นนายกฯ คนนอกก็บริหารประเทศได้ไม่กี่น้ำก็ต้องพังทลาย ดังนั้น ต้องดึงความนิยม ลดความเข้มแข็งของพรรคการเมืองส่วนหนึ่งที่จะเป็นฝ่ายค้านให้มากที่สุด เพื่อมีหลักประกันที่จะทำให้บริหารประเทศได้ เพราะการบริหารประเทศใหม่ของ คสช.ไม่มีโอกาสใช้มาตรา 44 แต่จะต้องได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯ”

“แต่ประสบการณ์ทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเรียนรู้มากกว่านั้น รู้ว่าเพียงแค่เอารองเท้าข้างหนึ่ง เงินจำนวนหนึ่งมาแจกเขาไม่ได้ช่วยให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงความนิยมจากประชาชนได้ สิ่งที่ประชาชนอยากได้คือ มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ดังนั้น จึงเป็นความนิยมที่ฉาบฉวย การที่เอาเงินไปซื้อก็สอบตกเต็มไปหมด ถึงเวลาที่ประชาชนรับแต่ไม่เลือก”

ในช่วงเวลาที่นักการเมืองถูกปิดกั้น รัฐบาล คสช.หว่านงบฯเงินลงพื้นที่ พร้อมกับภาพผู้นำประเทศเดินสายพบประชาชนทุกภาค เป็นจังหวะเดียวกับที่กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ถูกยืดขยายวันบังคับใช้ออกไป 3 เดือน ยังไม่รวมกรณีหากเกิดอุบัติเหตุการเมืองอื่น ๆ

ประหนึ่งทอดเวลาให้รัฐบาล คสช.เตรียมสรรพกำลังให้พร้อม เพื่อเป็นแต้มต่อในการเลือกตั้ง หวังบรรลุเป้าสูงสุดคือ “เก้าอี้นายกฯคนนอก” หรือไม่