เปิดขั้นตอนการโหวตนายกฯ วันที่ 13 ก.ค. 66 “พิธา” ต้องฝ่าด่านอะไรบ้าง ?

เปิดขั้นตอนการโหวตนายกฯ 13 ก.ค. 66

เปิดขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันที่ 13 ก.ค. 66 “พิธา” ต้องฝ่าด่านอะไรบ้าง ?

ขั้นตอนที่ 1 : การเสนอชื่อ

  • ส.ส. ทั้ง 500 คน มีสิทธิเสนอชื่อได้คนละ 1 ชื่อ
  • แคนดิเดตนายกฯ ที่จะถูกเสนอชื่อมาโหวต ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป (ปัจจุบันมี 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง)
  • ผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ต้องมี ส.ส. รับรองอย่างน้อย 50 คน จึงได้ไปต่อ

ขั้นตอนที่ 2 : อภิปราย-แสดงวิสัยทัศน์

  • ประธานรัฐสภาเปิดให้สมาชิกรัฐสภาไห้อภิปรายซักถามเต็มที่
  • ขอมติที่ประชุมให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์

ขั้นตอนที่ 3 : การลงคะแนน

  • เวลา 17.00 น. เริ่มลงมติอย่างเปิดเผยด้วยการเรียกชื่อ ส.ส.-ส.ว. ตามลำดับอักษรและให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน
  • ต้องได้เสียงโหวตอย่างน้อย 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2560 วางแนวทางการเสนอชื่อนายกฯ ไว้อย่างไร ?

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่าการให้ความเห็นชอบบุคคลใดที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะมาจากความชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง สถาบันพระปกเกล้า ได้เรียบเรียงสาระสำคัญไว้ โดยมีวิธีการ ดังนี้

1.1 กรณีที่เสนอจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามมาตรา 88

วิธีการ คือ พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าจะเลือกบุคคลใดในบัญชีรายชื่อที่เสนอมา แต่พรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกที่ได้รับการเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นต้องกระทำการลงคะแนนโดยเปิดเผยตามมาตรา 159 วรรคสาม

1.2 กรณีเสนอรายชื่อเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่ไม่มี่ชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

Advertisment

มาตรา 272 วรรคสอง กำหนดให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ และในกรณีเช่นนี้ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา (รวมทั้งสองสภา คือ 750 คน) เพื่อให้ยกเว้นได้ ทั้งนี้เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทำการเสนอบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนั้นได้นั่นเอง