ได้นายกรัฐมนตรี 22 สิงหาคม 5 โมงเย็น เศรษฐา ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

วิป 3 ฝ่าย เคาะลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 22 สิงหาคม ใช้เวลา 5 ชั่วโมง คาดลงมติ 5 โมงเย็น-เศรษฐา ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ ปัดตก ทบทวนเสนอชื่อ พิธา ซ้ำ

วันที่ 18 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ถึงการกำหนดกรอบเวลาการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ว่าจะใช้อภิปรายเวลา 5 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น สส. 3 ชั่วโมง สว. 2 ชั่วโมง คาดว่าจะสามารถลงมติได้ในเวลา 15.30 น. และจะเสร็จสิ้นการลงมติในเวลา 17.00 น.

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ประเด็นที่สอง ข้อยุติเรื่องการที่ผู้ถูกเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมได้รับแจ้งจากประธานฝ่ายกฎหมายของสภา ว่า 1.เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาแสดงวิสัยทัศน์

2.ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไม่มีข้อกำหนดว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมคณะกรรมาธิการในการร่างข้อบังคับสภาปี 2563 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า เมื่อมีคนเสนอชื่อบุคคลภายนอกไม่ต้องให้มาวิสัยทัศน์

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สำหรับญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องให้มีการทบทวนมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับจะให้นายรังสิมันต์ได้แสดงเจตนารมณ์ แต่ก็เห็นด้วยกับข้อบังคับ 151 ไม่สามารถที่จะนำมาทบทวนได้ และหากทบทวนจะมีปัญหาว่ามติของสภาสามารถทบทวนได้เรื่อย ๆ จนกระทบกับความเชื่อถือการลงมติ

“ที่ประชุมจึงเห็นว่า เมื่อมีการเสนอในที่ประชุมแล้วประธานใช้อำนาจของประธานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมข้อที่ 5 และข้อที่ 151 ประกอบ คือ ไม่รับว่าเป็นญัตติด่วนให้นำมาเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงมติไปแล้วและญัตติอื่น ๆ ถ้ามีการทบทวนก็จะเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมนั้น ไม่ได้บอกให้ต้องทบทวน” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว