นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย ที่ไม่ใช่ญาติเศรษฐา แค่มีนามสกุลพ้องรูป พ้องเสียง

ภาพนายเศรษฐา ทวีสิน และนางนลินี ทวีสิน

ชื่อของนลินี ทวีสิน กลับมาอยู่ในดงทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่งตั้งให้เธอเป็น “ผู้แทนการค้าไทย”

ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552

“นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ‘นางนลินี ทวีสิน’ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2566 เป็นต้นไป”

ชื่อชั้นของ “นลินี” เคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้นามสกุล “ทวีสิน” เหมือนนายกฯเศรษฐา แต่แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีความเกี่ยวดองในฐานะเครือญาติ

นลินีไม่ใช่ญาติเศรษฐา

เธอให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปี 2555 ครั้งที่ยังเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเธอเป็นญาติกับ “เศรษฐา ทวีสิน” เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ค่ายแสนสิริหรือไม่

Advertisment

นลินีตอบว่า เป็นเรื่องแปลก แต่รู้จักจากชื่อเหมือนกัน และมีโปรกอล์ฟคนเดียวกัน ก็มีคนแนะนำให้รู้จักกันกับคุณนลินีที่เป็นญาติคุณเศรษฐา… รู้จักกันมานานมากแล้ว”

ถามว่าเธออยู่ในตระกูลทวีสิน สายเดียวกับ “เศรษฐา” หรือไม่ นลินีตอบว่า ไม่ได้เกี่ยว คนละสายกัน เพราะทวีสินก็มีหลายสาย

ดังนั้น การที่มีนามสกุลเหมือนนายกฯเศรษฐา จึงเป็นแค่การ “พ้องรูป-พ้องเสียง” แต่ไม่มีการเกี่ยวดองกันในฐานะ “เครือญาติ”

เส้นทางการเมือง

นลินีเล่าว่า การเข้าสู่การเมืองของตัวเองไม่ได้มีแต้มต่อใด ๆ และคนที่ชักชวนให้เข้าสู่การเมืองคือ “ศันสนีย์ นาคพงศ์” อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นคอนเน็กชั่น หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 18 ในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

Advertisment

เคยสมัคร สส.กทม.พรรคพลังประชาชน สู้ศึกการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2551 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่แล้วเมื่อพรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล เธอไม่ได้หายหน้าไปจากฝ่ายบริหาร โดยได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ที่ควบเก้าอี้รองนายกฯ

มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “นลินี” ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผู้แทนการค้าไทย” ต่อมาก็ขึ้นเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เธอยืนยันว่าเป็นรัฐมนตรีโควตากลาง ที่ไม่ขึ้นตรงกับกลุ่ม-มุ้ง-ก๊วน ในพรรคเพื่อไทย

การขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯในคราวนั้น ต้องฝ่าแรงเสียดทานทางการเมืองตั้งแต่ย่างกรายเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อชื่อของ “นลินี” ถูกขุดบางมุมขึ้นมาโจมตีว่า เป็น 1 ในคนไทยที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2551 โดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติของกระทรวงการคลังระบุว่า เธอเป็นนักธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของนายโรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำซิมบับเว ที่ถูกสหรัฐระบุว่าเป็นบุคคลอันตรายในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และคอร์รัปชั่นในประเทศ

ถึงขั้นมีผู้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการแต่งตั้ง “นลินี” เป็นรัฐมนตรีว่า ผิดจริยธรรมหรือไม่ แต่ภายหลังคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความผิดตามคำร้อง เนื่องจากการถูกกล่าวหาและขึ้นบัญชี SDN ของสหรัฐอเมริกา เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่บุคคลดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551

กรณีนี้จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมตามระเบียบดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นธรรมดาที่นักการเมืองทุกคนหลบไปอยู่หลังฉาก แต่พลันที่การเมืองเปิดให้พรรคการเมืองเตรียมการเลือกตั้ง

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทย ตัดสินใจแก้เกมระบบเลือกตั้ง แบบจัดสรรปันส่วนผสม แตกพรรคขึ้นมาเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ หนึ่งในนั้นคือ “พรรคเพื่อธรรม” โดยมีมติให้ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็นหัวหน้าพรรค และนลินีเป็นรองหัวหน้าพรรค

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อธรรมกลายเป็น “พรรคหลอก” เพราะพรรคจริงที่ถูกตั้งขึ้นหลังจากนั้นคือ “พรรคไทยรักษาชาติ” เมื่อคนสายตรงชินวัตรไปกระจุกอยู่ที่พรรคใหม่ ความสำคัญของพรรคเพื่อธรรมจึงถูกลดบทบาท

“สมพงษ์” ลาออกจากพรรคเพื่อธรรม ย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย และก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่ “นลินี” ก็สวมบทบาทหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม ตาม “นิตินัย” แทน โดยที่พรรคเพื่อธรรมไม่ได้ถูกใช้งานทางการเมืองอีกต่อไป

กระทั่ง 5 ปีต่อมา นลินีแหวกอากาศขึ้นมาอีกครั้ง ในตำแหน่ง “ผู้แทนการค้าไทย” ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน