สานความหวังของสังคม เพิ่มอำนาจประชาชน โพลมติชนXเดลินิวส์ เสียงบริสุทธิ์

โพลนำ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

รัฐบาลผสม 11 พรรค นำโดยพรรคเพื่อไทย และมี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี แบกความหวัง ความฝันของคนไทย ผ่านหลากหลายนโยบายทั้ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง-ปัญหาการเมือง

แต่รัฐบาลอาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หากไร้เสียงสะท้อนจากประชาชน จึงเป็นภารกิจของ 2 สื่อ เครือมติชน และเครือเดลินิวส์ ผนึกกำลังครั้งสำคัญสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนไปยังรัฐบาล

ภายใต้กิจกรรม “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ?” สังคม-การเมือง หรือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป จนถึง 31 ตุลาคม 2566 “สื่อเครือมติชน” และ “เดลินิวส์” จะเปิดช่องทางการโหวต ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม

โพลครั้งนี้ รัฐบาลต้องฟัง

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มองโจทย์ของการทำโพลครั้งใหม่ของ “มติชน Xเดลินิวส์” คือ “รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร” แม้จะมีความเป็นโพลอยู่ แต่จะมีลักษณะเป็นการทำประชาพิจารณ์มากขึ้น เพราะเราต้องการรู้ความรู้สึกคนอย่างละเอียดมากขึ้นว่า ปัญหาที่พวกเขาเจอในชีวิตจริง และปัญหาที่เขาต้องการให้รัฐบาลแก้ไขคืออะไร

จุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เราจะมีตัวเลือกอื่น ๆ ที่ประชาชนสามารถเติมความเห็นลงไปได้ เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้อ่านอย่างเต็มที่ ซึ่งการเลือกชุดคำถามระหว่าง ให้แก้ไขระหว่างปัญหาการเมือง กับปัญหาเศรษฐกิจ เสมือนเป็นวิวาทะตั้งแต่การเลือกตั้ง

หากวัดจากผลเลือกตั้ง ประชาชนมีแนวโน้มให้แก้ปัญหาโครงสร้างการเมือง แต่ ณ ปัจจุบันเมื่อมีรัฐบาล ก็เป็นรัฐบาลที่หาเสียงโดยชูนโยบายเรื่องแก้ปากท้อง ดังนั้น การประมวลผลโพลของเราเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องฟังเหมือนกัน

“ณ โมเมนต์นี้ ถ้าประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องมากกว่า รัฐบาลจะได้มีความมั่นใจ แต่ถ้าไปอีกทาง (อยากให้แก้ปัญหาด้านโครงสร้างทางการเมือง) ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลก็ยิ่งต้องรับฟัง และต้องมาปรับนโยบาย”

ส่งเสียงถึงภาครัฐ นายทุน

นายปราปต์มั่นใจว่า ฐานคนอ่านของมติชน และเดลินิวส์ รวมกันผ่านกลุ่มตัวอย่างที่ทำโพล ในแง่จำนวนบวกกับเชิงคุณภาพ จะเป็นเสียงที่น่ารับฟังของรัฐบาล แต่นัยสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาคือ ไม่ได้อยู่ที่ความแม่นยำไม่แม่นยำ แต่ครั้งนี้เรามาคุยเรื่องปัญหาของประเทศ และปัญหาของคน จึงคิดว่าความสำคัญของการทำโพลครั้งนี้เป็นการเปิดบทสนทนา และรับฟังความคิดเห็นของคนจำนวนมาก เชื่อว่าจะถึงหลักแสนคน

อยากเชิญชวนคนอ่านและคนดูของเครือมติชน ซึ่งโพลนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะส่งเสียง ต่อผู้มีอำนาจในภาครัฐ เอกชน นายทุน นักธุรกิจจำนวนมาก พวกเขาจะต้องฟังเสียงของประชาชนกันอีกรอบหนึ่ง คราวนี้จะสะท้อนปัญหาจริง ๆ ว่ากำลังเผชิญปัญหาคืออะไร อยากให้ผู้มีอำนาจแก้ไขอะไร ซึ่งเป็นครั้งสำคัญของประชาชนที่จะส่งเสียง

สแกนปัญหาประชาชน

ด้าน นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า การที่เดลินิวส์และมติชนร่วมทำโพล มีความตั้งใจที่จะแปรเปลี่ยนให้เป็นนโยบายที่ทำได้จริง ๆ รัฐบาลต้องมองโพลอันนี้ เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่ปัจจุบัน เขาเป็นคนที่มีฐานะประมาณหนึ่ง แต่ถ้าโพลนี้ เราเก็บได้จากคนทุกระดับชั้น จะสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขอยู่ตรงไหน

ซึ่งรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนและจะเป็นผลดีสำหรับประชาชน และสื่อสารมวลชนอย่างพวกเราด้วย เป็นการสื่อสารสองทาง เป็นจุดสำคัญของรัฐบาลถ้านำโพลไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ มั่นใจว่าจะเป็นผลบวกกับรัฐบาลโดยตรง

โพลที่เราทำเป็นโพลธรรมชาติ ไม่มีโพลจัดตั้ง เป็นเสียงบริสุทธิ์ของประชาชนจริง ๆ ปัญหาทั้งหมดที่แต่ละคนสะท้อนออกมาผ่านโพล ก็จะสะท้อนความเป็นจริง ทั้งนี้ อยากเชิญชวนผู้อ่านเดลินิวส์ โพลครั้งนี้เราจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง และนำเสียงของประชาชนขึ้นสู่รัฐบาลโดยตรง อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในครั้งนี้ คิดว่าทั้งภาครัฐ เอกชน นักธุรกิจ สามารถนำไปวิเคราะห์ได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายเป็นอย่างมาก

ปลุกประชาชนจับตารัฐบาล

ขณะที่เวทีเสวนาการทำ “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ?” ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ฉายภาพว่า สิ่งที่หลังเลือกตั้งเราไม่ใช่ประชาธิปไตย 3 วินาที การมีโพลอย่างที่มติชน X เดลินิวส์ เป็นหนึ่งในกระบวนการภาคประชาสังคม เรามอบอำนาจให้รัฐบาล

ส่วนรัฐบาลต้องนำอำนาจอธิปไตยของปวงชนไปทำหน้าที่แทนประชาชนทุกคน

ที่เราเน้นกันคือการแก้ปัญหา สิ่งที่เป็นความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และอย่าลืมว่ารัฐบาลที่เข้ามาในตอนนี้มีข้อครหาเยอะมาก เพราะหากดูโพลมติชน X เดลินิวส์ รอบที่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ถูกประชาชนเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตามกฎกติกาจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ในแง่ของโพลเราทำเพื่อที่จะให้ประชาชนอย่าสิ้นหวังกับรัฐบาล แม้ไม่ใช่รัฐบาลอันดับหนึ่ง แต่ก็เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจ ประชาชนจะต้องจับตาดูสิ่งที่รัฐบาลทำว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้น การทำนโยบายสาธารณะจึงเน้นไปที่ปัญหา

เปิดพื้นที่รับฟัง ส่งต่อรัฐบาล

ตอนนี้สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่ 2 ข้อ คือ เอากินดีอยู่ดีมาก่อน หรือ โครงสร้างการเมืองกับอุดมการณ์มาก่อน โพลนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ให้ความจำกัดความของปัญหาว่า ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการอะไร

“โพลมติชน X เดลินิวส์ ที่สะท้อนปัญหาของประชาชน ไม่ใช่แค่ช่วยรัฐบาล แต่จะช่วยประชาชนด้วย เหมือนที่คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เคยบอกไว้ว่า ประทับใจมากตรงคำว่า เราอย่าปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยเงียบหาย”

“ฉะนั้น โพลครั้งนี้สะท้อนปัญหาว่า รัฐบาลเศรษฐาต้องแก้ไขปัญหาเรื่องอะไรบ้าง และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหา ทำการบ้าน และดูว่าเลือกเศรษฐา จะได้เป็นเศรษฐีจริงหรือไม่ นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก”

โพลนี้เป็นโพลของ active citizen อยากให้รัฐบาลเห็นว่านี่คือความตั้งใจของคนที่มาทำโพล อย่าคิดว่าผลโพลไปกระทุ้งรัฐบาล…ไม่ใช่ แต่เป็นพื้นที่รับฟังและส่งไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยฟื้นคืนศรัทธาที่มันหายไป และเพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้น และพรรคอื่น ๆ สามารถนำไปใช้ได้ด้วย

“กระบวนการทำโพล คือ ประชาพิจารณ์ของประเทศชาติ ว่าคนต้องการอะไร นับเป็นความสุดยอดของความเป็นประชาธิปไตย เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนสำรวจ อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถนำไปเคลมได้เลย ว่าแก้ปัญหาให้แล้ว”

โพลตรวจการบ้านรัฐบาล

ด้าน นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า การจัดทำโพลในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ซึ่งประชาธิปไตยก็สำคัญ เพราะในแง่หนึ่งสิ่งที่มติชนกับเดลินิวส์ทำคือโพลตรวจการบ้านถึงเรื่องที่ได้หาเสียงเอาไว้ และเรื่องที่ได้แถลงนโยบายเอาไว้ โพลนี้จะตรวจการบ้านทั้งสองส่วนคือ เรื่องที่คุณหาเสียงไว้เอาอย่างไร แล้วเรื่องนโยบายรัฐบาลเอาอย่างไร

ในแง่หนึ่งคือกลไกของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอาจจะรู้สึกว่าเร็วเกินไปที่จะตรวจสอบ แต่ในแง่ความเป็นประชาชน ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ตั้งแต่วันแรก เพราะรัฐบาลอยู่ที่ภาษีของประชาชน

“ดังนั้นผมคิดว่าโพลนี้มันมากกว่าเรื่องการเมือง ในแง่การเมืองมันคือตรวจการบ้านรัฐบาล แต่ในแง่ที่มากกว่าเรื่องการเมือง คือการดูอารมณ์ของสังคม มุมมองที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง เสถียรภาพทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนส่งผลโดยตรงต่อปัญหาปากท้องหรือปัญหาชีวิตของประชาชน มันเกี่ยวกันหมด”

ใช้โพลประชาชน ฝ่าอุปสรรค

นายศิโรตม์เชื่อว่า รัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการทำโพลครั้งนี้ เพราะคิดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ถูกสังคมวิจารณ์เยอะว่าเขาตระบัดสัตย์ ซึ่งเป็นคำที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่อยากได้ยิน ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เองก็หงุดหงิดแล้ว เพียงแต่สังคมรู้สึกกับเขาแบบนั้น

หากมองในแง่ให้ความเป็นธรรมคือ บางทีการเป็นรัฐบาลมันไม่ง่ายที่จะทำตามนโยบายต่าง ๆ ที่หาเสียงเอาไว้ เพราะมีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เรื่องกฎหมาย เรื่องงบประมาณ เรื่องคน เยอะไปหมด ซึ่ง ณ เวลานี้ คนระแวงว่าเรื่องต่าง ๆ ที่รัฐบาลไม่ทำตามที่หาเสียง ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องความตั้งใจเบี้ยว

“เช่น พูดถึงเรื่องการแก้ 112 บอกว่าผมไม่เคยพูด ปฏิรูปกองทัพไม่เคยพูด ยกเลิกเกณฑ์ทหารแปลว่าอะไรหมายความว่าอะไร มันเกิดความรู้สึกแบบนี้ว่า รัฐบาลจงใจเบี้ยว”

“โพลสำรวจนี้จะเป็นสิ่งที่หากรัฐบาลอาจมีความอยากทำอะไรบางเรื่อง แต่ติดขัดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น กฎหมาย พรรคร่วมขัดขวาง กลัวสังคมไม่เข้าใจ กลัวคนอื่นที่รัฐบาลเกรงใจเขาหงุดหงิด รัฐบาลจะได้เห็นว่าสิ่งที่สังคมคาดหวังทั้งในแง่การเมืองและในแง่ปัญหาสังคม”

“แล้วจะได้เอาเรื่องเหล่านี้ไปบอกคนที่รัฐบาลอาจจะต้องเกรงใจ หรืออุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งสกัดไม่ให้ทำเรื่องที่ซึ่งลึก ๆ แล้วอาจจะอยากทำ รัฐบาลจะได้ยกตรงนี้เหมือนกับเป็นน้ำมัน เป็นฐานอ้างอิงว่านี่คือสิ่งที่สังคมต้องการ ฉะนั้นถ้ามีอุปสรรคในการไม่ให้ทำเรื่องที่รัฐบาลอยากทำตามที่หาเสียง เช่น ข้าราชการเป็นอุปสรรค บอกคุณดูโพลนี้สิ ประชาชนเขาอยากให้เราแก้ปัญหานี้นะ”

“ฉะนั้นโพลนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยรัฐบาลในการบอกว่า ในเงื่อนไขต่าง ๆ เสียงประชาชน คุณจะฟังใคร”

อิฐก้อนแรก สะท้อนความหวัง

ด้าน ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ความสำคัญของการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของมติชนและเดลินิวส์ในครั้งนี้ มีความสำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านแรกเป็นการสำรวจในจังหวะของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อตัวเองและมีต่อรัฐบาล ซึ่งเราจะเห็นร่องรอยความเปลี่ยนแปลง หรือปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่าประชาชนเปลี่ยนแปลง

“ผมอยากจะใช้คำว่าสะท้อนถึง social hope หรือความหวังของสังคม อันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเปลี่ยนแปลงของประชาชน สังคม และรัฐบาลใหม่”

“จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รัฐบาล และสังคมได้มองเห็นว่า คนในสังคมไทยจำนวนเป็นแสนกำลังถักสานความหวังกันอย่างไร”

“ในกรณีคำถามทางเศรษฐกิจ คิดว่าชัดเจน มันมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีลักษณะของการที่รัฐบาลโน้มกายลงไปให้ เช่น แจกเงินดิจิทัลวอลเลต อีกด้านหนึ่งคือ คำถามที่กำลังจะมุ่งแก้ว่าในระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาจะแก้อย่างไร เช่น การลดต้นทุน หนี้สินครัวเรือน แก้ปัญหาการเกษตร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ”

แต่ขณะเดียวกันเราคงต้องคิดถึงการเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวบ้านในมุมต่าง ๆ ด้วย ถ้าหากเราตั้งคำถามในเรื่องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องนี้ โดยที่มีช่อง ปัญหาอื่น ๆ คิดว่าโอกาสที่พี่น้องประชาชนจะตอบปัญหาอื่น ๆสะท้อนถึงการแก้ไขที่เป็นระบบ

“คาดหวังว่าจะทำให้เรามองเห็นว่า พี่น้องประชาชนคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจ ที่เขากำลังดำรงอยู่ เขาคาดหวังว่าทางเดินชีวิตของเขาในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ มันจะเดินไปอย่างไร โพลครั้งนี้จึงถือว่าสำคัญ เป็นอิฐเป็นหินก้อนแรก ๆ ที่จะวางทางไปสู่การทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น และโพลนี้จะเป็นการสะท้อนความคิดฝันของสังคมไทย” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว