มติชน X เดลินิวส์โพลรอบ 2 เปิดช่องทางประชาชนส่งเสียง รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ?

มติชนxเดลินิวส์

มติชน X เดลินิวส์ จับมือทำโพลรอบ 2 ตอกย้ำผลโพลเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ สั่นกระแสการเมืองรอบใหม่ ค้นปัญหา หาคำตอบ “รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ?”

วันที่ 13 กันยายน 2566 ที่อาคารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถนนวิภาวดีรังสิต มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างผู้บริหารมติชนและเดลินิวส์ เพื่อร่วมกันจัดทำโพลครั้งประวัติศาสตร์รอบ 2 “โพลเดลินิวส์ X มติชน” หัวข้อ “รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร ?” ต่อยอดจากการทำโพลที่มีความแม่นยำเรื่องผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

โดยคณะผู้บริหารเดลินิวส์ นำโดย นางประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นายนต รุจิรวงศ์ เลขานุการกรรมการบริหาร และนายนนท์ รุจิรวงศ์ ผอ.ฝ่ายขายและจัดจำหน่าย

มติชนXเดลินิวส์

ส่วนคณะผู้บริหารเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมี นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

พร้อมกันนี้มีทีมข่าวจาก 5 กองบรรณาธิการทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และแพล็ตฟอร์มออนไลน์ เข้าร่วมด้วย ทั้งกองบรรณาธิการเดลินิวส์ กองบรรณาธิการมติชน กองบรรณาธิการข่าวสด และกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

มติชนXเดลินิวส์

ผลโพลสะท้อนฉันทามติผู้เลือกตั้งอย่างแม่นยำ

นางประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวถึงความร่วมมือในการทำโพลครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ว่า ย้อนหลังไปช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 เดลินิวส์ และมติชน ได้ร่วมกันผนึกกำลังสร้าง ปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66” ด้วยการเปิดให้ประชาชน โหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์-มติชน 2 ครั้ง ได้รับเสียงตอบรับ มีผู้เข้าร่วม กว่า 170,000 ราย

ในครั้งนั้นผลโพลได้ทำหน้าที่สะท้อนฉันทามติในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างแม่นยำ จนสร้างความสั่นสะเทือนในวงการเมือง

นางประพิณ รุจิรวงศ์
นางประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์

ดังนั้น ในวันที่ รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน และเข้าบริหารประเทศอย่างเต็มตัว ก็คงได้เวลา ที่สื่อทั้งสองจะหวนมาจับมือกันอีกครั้ง โดยจัดทำ “โพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร ?” เพื่อทำหน้าที่ “สะท้อนฉันทามติ” ของประชาชน ส่งกลับไปที่ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และผู้มีอำนาจทุกคน ว่าอะไรคือ ความต้องการ ความคาดหวังที่แท้จริงของประชาชน ที่ต้องการให้รัฐบาลลงมือทำ และอยากเห็นฝ่ายค้านติดตามตรวจสอบ ได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น

“เรามั่นใจว่า เสียงสะท้อนกลับ ที่จะเกิดขึ้น จาก ‘โพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร ?’ ครั้งนี้จะสามารถเป็นตัวแทน ความต้องการของประชนชน ได้อย่างมีน้ำหนัก ดังเช่นที่ได้เคยแสดงให้ปรากฏในการทำโพลเลือกตั้ง เป็นเสียงที่ ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน สามารถรับฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ ตามที่ประชาชนคาดหวังต่อไป”

นายปารเมศ เหตระกูล
นายปารเมศ เหตระกูล คณะกรรมการบริหารรับผิดชอบบรรณาธิการบริหารเดลินิวส์

สื่อ 2 ค่าย อาสาหาค้นปัญหา-ส่งคำตอบให้รัฐบาล

จากนั้น นายปารเมศ เหตระกูล คณะกรรมการบริหารรับผิดชอบบรรณาธิการบริหารเดลินิวส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งผ่านไป 3 เดือน ก็หมายความว่า ประเทศจะได้เริ่มเดินหน้าอีกครั้ง ท่ามกลางปัญหา และความท้ายต่าง ๆ ที่รออยู่ สื่อทั้งสอง จึงขออาสาเดินหน้าถามประชาชนอีกครั้ง ว่าอะไรคือปัญหาที่อยากให้แก้ไขกันจริงๆเพื่อให้รัฐบาลรับทราบ จัดการนโยบายให้ตรงจุด เพราะประเทศจะไปต่อได้ เมื่อมีการสะท้อนความเห็นต่อกันบนพื้นที่สาธารณะ

“หลายวันที่ผ่านมา เราได้เห็น ท่านนายกรัฐมนตรี เดินสายพบปะกลุ่มคนต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ สะท้อนให้เห็น ความต้องการ ที่ รับฟังเสียงเรียกร้องต้องการจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ‘โพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร ?’ จะเป็นเสียงเรียกร้องที่ มาโดยธรรมชาติ เปิดกว้าง จากทุกพื้นที่ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในการทำงานทั้งของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง ๆ นี่คือ ความหมายที่แท้จริงของพื้นที่สาธารณะ” นายปารเมศกล่าว

เดลินิวส์ เป็นกลุ่มสื่อที่ก่อตั้งมา 60 ปี มีเครือข่ายคนทำงานข่าว และกลุ่มผู้อ่านและผู้ติดตาม อยู่ทั่วประเทศ เราจึงได้มีโอกาสสัมผัสถึงความรู้สึก เดือดร้อน ต้องการที่เกิดขึ้นในวงกว้างอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะเป็นสื่อกลางร่วมกับมติชน ในการสะท้อนสิ่งเหล่านี้ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของการเดินหน้าประเทศไทย

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โพลสื่อเป็นทั้งกระจกและตะเกียง

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวว่า โพลครั้งที่แล้วนอกจากเป็นโพลประวัติศาสตร์ คล้าย ๆ กับการพนันขันต่อ คือการแทงหวยว่าจะเป็นแบบโพลมติชน X เดลินิวส์ทำหรือเปล่า ซึ่งเราถูกหวย

แต่ครั้งนี้จะต่างไป เพราะมติชน x เดลินิวส์ นอกจากเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนแล้ว ทั้งสองสื่อทำตรงกับทฤษฎีสื่อ คือเป็นกระจกสะท้อนจากผู้มีสิทธิออกเสียง แม้หลายที่บอกว่าเราไม่ใช่โพล แต่เราก็ยอมรับว่าไม่ได้ทำวิธีการทางสำรวจ ทางสถิติของวิชาการ แต่เราทำแบบกลับหัวกลับหาง โดยให้โจทย์ให้ผู้ตอบอยากจะตอบ เป็นคนที่มีความรู้สึกเข้าใจลึกซึ้ง หรืออินกับเรื่องนี้

“ผมถูกบ่นหลายครั้งตั้งแต่ทำงานว่า นักศึกษาประชาชนไม่ค่อยสนใจการเมือง มติชน เดลินิวส์กำลังจะบอกว่าตอนนี้คนสนใจการเมืองมากกว่าแต่ก่อนมาก ๆ แล้วที่สำคัญคือ มติชนและเดลินิวส์ทำให้วงการโพลในประเทศไทยปั่นป่วนมาก เมื่อเราเป็น Mirror-กระจก สะท้อนเสร็จ เราก็ไปฉายภาพ ประดุจเป็นไฟฉายนำทาง สังคมเราไม่ต้องการแสงสว่างปลายอุโมงค์ เราต้องการแสงสว่างตอนนี้”

ซึ่งโพลที่เราจะทำคือปรากฏการณ์ทำให้จริยธรรมของสื่อเป็นตัวอย่างของสื่ออื่น ๆ ในประเทศ เป็นกระบอกเสียงสะท้อน ทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าเขาทำงานอย่างมีความหมาย ทำอย่างไรให้สิ่งที่นักการเมือง รัฐบาลหาเสียงไว้ ทำสิ่งที่ถูกหาว่าตระบัดสัตย์ ทำให้สังคมเห็นความจริง สิ่งสำคัญคือเป็น Lamp-ตะเกียง เป็นแสงและฉายภาพให้สังคมเห็นแสงสว่าง

ปราปต์ บุนปาน
นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

โพล-ที่มีน้ำหนักคล้ายประชามติ-ประชาพิจารณ์

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ได้จากการทำโพล 2 ครั้ง ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ที่มติชนและเดลินิวส์ทำร่วมกัน ประเด็นแรก ในระบบหลังบ้านจะช่วยให้เราสามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้มาสำรวจความเห็นได้ หลัก ๆ คือทำให้เราเห็นโครงสร้างของประชากร ไม่ว่าจะเป็น อายุ เพศสภาพ รวมถึง พื้นที่และจังหวัดของผู้มาตอบแบบสอบถาม

มาถึงโพลอันล่าสุดที่เราจะทำคือถามเรื่องปัญหาของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา จะเป็นเครื่องมือที่ดี ทำให้เราเห็นความซับซ้อนของปัญหา เห็นลักษณะเฉพาะปัญหาของคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น
ประเด็นที่สอง ในแง่ความเป็นโพล ที่ 2 ครั้งแรกที่มติชน และเดลินิวส์ทำร่วมกัน เป็นเหมือนกับสำรวจความนิยมที่ประชาชนมีต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง น้ำหนักคล้ายประชามติ เป็นการถามให้ประชาชนตัดสินในเรื่องใหญ่ ๆ ด้วยคำถามที่เลือกง่าย และประชาชนตอบได้ตัวเลือกเดียว แคนดิเดตนายกฯ คนไหนที่เขานิยม

ปราปต์ บุนปาน

“แต่พอมาถึงครั้งนี้เป็นโพลเชิงนโยบาย สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักคือ จะมีความโน้มเอียงไปทางประชาพิจารณ์มากกว่าประชามติ ผู้ทำโพลต้องพิจารณา รวมถึงคนตอบแบบสอบถาม อาจจะต้องพิจารณาถึงปัญหาที่มีอยู่จำนวนมากในสังคม และคำตอบที่ออกมาก็จะหลากหลายตามโครงสร้างประชากรที่มีเยอะ คือภารกิจที่ท้าทายของสำนักข่าวทั้ง 2 แห่ง” นายปราปต์กล่าวและว่า

นอกจากทีมอาจารย์อัครพงศ์ ซึ่งเป็นแกนกลางในการทำสถิติ ทางเราต้องทาบทามนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ แบ่งเป็น 2 ชุด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ เนื่องจากคำถามที่เราถาม คำถามแรกคือ ปัญหาที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลคุณเศรษฐาแก้ไข คือปัญหาการเมือง หรือเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ 2 สาขา มาช่วยด้านข้อมูลให้กับทั้งมติชน และเดลินิวส์

ประเด็นสุดท้าย การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นโมเมนต์ที่ดี คือการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก และการแถลงนโยบาย 2 วันที่จบไป ซึ่งใครฟังการแถลงนโยบายอาจเห็นปรากฏการณ์ของรัฐบาลชุดใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเราเห็นความตั้งใจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ มีความกระตือรือร้น และมีความปรารถนาแรงกล้าจริง ๆ ที่จะผลักดันให้ประเทศนี้เดินหน้าต่อไปได้

แต่ขณะเดียวกันเราเห็นความท้าทายอีกหลายจุด รัฐบาลชุดนี้จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ใหญ่ และทะเยอทะยานมาก ๆ ทั้งในแง่เม็ดเงินและเทคโนโลยี เป็นทั้งความคาดหวังของสังคม ขณะเดียวกันมีความท้าทายอีกหลาย ๆ จุด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ต้องแบกรับความต้องการที่อยากจะเปลี่ยนการเมืองของประชาชนจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน รัฐบาลต้องแบกความฝันนี้ และหลีกเลี่ยงความต้องการนี้ไปไม่ได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะจัดการอย่างไร

นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐสภา เราจะเห็น สส.ฝ่ายค้านหน้าใหม่จำนวนมาก เราอาจมีภาพจำว่าเขาน่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนในโซเชียล แต่กลับมี สส.จำนวนมากพูดเกี่ยวกับรายละเอียดในพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ เช่น น้ำ PM 2.5 ปัญหานักท่องเที่ยวจีน ปัญหาพืชผลทางการเกษตร ปัญหาที่ดิน เหล่านี้จะเป็นชุดปัญหาหนึ่งที่จะปรากฏในโพลที่มติชนและเดลินิวส์จะทำร่วมกัน

“บทสรุปผมและทีมงานทั้งหมดเชื่อว่า โพล มติชน x เดลินิวส์ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะฉายภาพว่าประชาชนนอกทำเนียบรัฐบาล และนอกรัฐสภา มีความต้องการอย่างไรกันแน่ มีทัศนะอย่างไรกับปัญหาต่าง ๆ ในประเทศนี้ และความท้าทายซึ่งเกิดมาพร้อมกับรัฐบาลชุดนี้ โพลนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญ” นายปราปต์กล่าว

น.ส.ปานบัว บุนปาน
น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

รัฐบาล-ปัญหาและประชาชน เสียงที่สะท้อนย้อนกลับไป-มา

น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากย้ำถึงสาระคัญของแคมเปญนี้ ด้วย 3 คีย์เวิร์ด คือ 1.รัฐบาล 2.ปัญหา 3.ประชาชน องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนสะท้อนกันไป สะท้อนกันมา รัฐบาลมีความจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน จึงจะแก้ปัญหาได้ ประชาชนต้องสะท้อนปัญหาอย่างถูกจุด รัฐบาลจึงจะแก้ปัญหาได้ โดยหน้าที่การสะท้อนปัญหาครั้งนี้ เครือมติชนจับมือเดลินิวส์ ร่วมกัน สะท้อนความเห็นกลับไปสู่ผู้นำ ผู้มีอำนาจ ในรัฐบาลใหม่

น.ส.ปานบัว กล่าวด้วยว่า กิจกรรมวันนี้เป็นวันแรก จากนั้นเรามีสำนักที่มีส่วนร่วมการทำโพล 2 สำนัก ซึ่งอาจเปิดตัวก่อนวันทำโพล มี 2 สำนัก คือ สำนักทางรัฐศาสตร์ และสำนักทางเศรษฐศาสตร์ หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาการทำโพล 1 เดือนเต็ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2566

“แน่นอนว่ากิจกรรมการเสนอข่าว ทั้งเดือนจะเป็นการร่วมกันเสนอภาพข่าว การเชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการทำโพล หรือร่วมสะท้อนความตื่นตัวที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่จากทั้งมติชและเดลิวนิวส์” น.ส.ปานบัว กล่าว

ปิดท้ายวิเคราะห์ผลโพลด้วยเวทีใหญ่ 2 สื่อ

กรรมการผู้จัดการ บริษัทมติชน ระบุว่า การทำโพลทั่วประเทศครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า การสะท้อนปัญหาจริง ๆ จากประชาชนไม่ได้กระจุกอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่กระจายไปทั่วประเทศ อยู่ตามท้องถิ่น อยู่กับประชาชนทุกคน ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารปัญหาและความเห็นตลอดทั้งเดือน น่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองขึ้นอีกระลอกหนึ่ง

จากนั้นหลังจากปิดการทำโพล จะมีการสรุปโพล ชี้ผลโพลได้ทันที เสนอข่าวทั้งสองสื่อ แบบ breaking news ในแพลตฟอร์มออนไลน์ และลงในสื่อสิ่งพิมพ์ และจะเป็นสรุปเนื้อหารายละเอียดลงในข่าวออนไลน์ต่อเนื่อง และจะปิดท้ายแคมเปญนี้ ด้วยกิจกรรมเวทีสาธารณะ forum ใหญ่ที่จัดร่วมกับ 2 สื่อ

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (13 ก.ย.) ถึงช่วงเกือบปลายปี คือการทำโพลและวิเคราะห์ผลโพล ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบว่า ผลของความเห็นจากการทำโพล อาจจะออกมาเป็นความต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาการเมือง หรือเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นความเห็นจากคนทั่วประเทศซึ่งยังไม่มีใครทราบ เพราะทุกคำตอบจะเป็นความคิดเห็นที่สะท้อนปัญหาส่วนตัวของแต่ละคน ต่อรัฐบาล เมื่อเราจบการทำโพล จะมีการเปิดเวที นำข้อมูลที่ได้ไปสู่การวิเคราะห์ผลโพล รวมถึงนำปัญหาที่อยู่ในโพลขึ้นมาขยายผล

น.ส.ปานบัว บุนปาน

รัฐบาล-ฝ่ายค้านเข้มแข็ง ประชาชน-สื่อต้องตื่นตัว

“สาเหตุที่ทำโพลและกิจกรรมเกี่ยวเนื่องครั้งนี้ ความเห็นส่วนตัว คือ รัฐบาลใหม่เข็มแข็ง ฝ่ายค้านเข้มแข็ง สิ่งที่ต้องการคือภาคประชาชนเข้มแข็ง สื่อจึงอยากให้ประชาชนมีบทบาท ตื่นตัวทางการเมือง เราจะเห็นการตื่นตัวทางการเมืองขึ้นสูงมาก ๆ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งก็ยังสูง ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลก็สูง จนกระทั่งตั้งรัฐบาลเสร็จ ทำไมการตื่นตัวลดวูบ ซึ่งการตื่นตัวทางการเมืองต้องหล่อเลี้ยงไว้เสมอ ไม่ต้องรอรอบใหม่ แล้วอยู่กันนิ่งๆ ไม่ใช่” น.ส.ปานบัว กล่าวและว่า

เมื่อรัฐบาลเข้มแข็ง ฝ่ายค้านน่าจับตามอง ภาคประชาชนส่งเสียง ภาคสื่อทำหน้าที่เต็มที่ ในการเป็นกระดานสะท้อนปัญหา หลายคนคิดว่าสิทธิและเสียงของเราหมดไปตั้งแต่การเลือกตั้ง หมดไปสิ้นเชิงเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย จริง ๆ ไม่ใช่ สิทธิและเสียงยังอยู่เท่าเดิม และเสียงดังได้ไม่น้อยกว่าเดิม ถ้าหากเรายังมีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดเห็นกลับไปสู่รัฐบาล

“สุดท้ายเชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน และแก้ปัญหาที่ถูกจุด ไม่ว่าจะประกาศอะไรไว้ เมื่อเข้ามาสู่ในตำแหน่ง ต้องฟังเสียงประชาชนสม่ำเสมอ ฟังตลอดเวลาที่อยู่ในวาระ เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามอยู่ได้ด้วยประชาชน พิสูจน์ตัวเองได้ด้วยการรับฟังประชาชน นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาแก้ไข ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล”

หวังโพลสื่อสร้างกระแสตื่นตัวการเมือง

น.ส.ปานบัว กล่าวอีกว่า หวังมากว่าการทำแคมเปญในครั้งนี้จะนำไปสู่การตื่นตัวทางการเมืองอีกรอบหนึ่ง เป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ขอให้สะท้อนความเป็นจริง ปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจริง ๆ ออกมา และเป็นผลดีกับทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาล และเราจะส่งผลโพลให้รัฐบาลทั้งหมด เพื่อให้นำไปปรับจูนนโยบาย แก้ปัญหาให้ภาคประชาชนที่เดือดร้อนอย่างเร่งด่วนได้

“ในส่วนสื่อต้องกระตุ้นเสมอไม่ให้ประชาชนแผ่ว เพราะนี่คือวิถีของประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุด และเป็นปกติที่สุด ไม่ต้องรอนิ่งไม่ต้องรอปะทะกัน 4 ปี ปะทะกันทีหนึ่งไม่ใช่เรื่อง เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติดตามตรวจสอบตามปกติ สงคมจะอยู่ได้ด้วยวิถีของประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและมั่นคงในอนาคต อย่าเรียกร้องวันข้างหน้า ต้องเรียกร้องตั้งแต่วันนี้ ต้องทำกันตั้งแต่วันนี้กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้เป็นปกติ”

“เมื่อผลโพลออกมา รัฐบาลต้องไม่โกรธไม่ต้องงอน โพลคือเสียงสะท้อน ที่จะทำให้ทุกท่านนำไปเป็นประโยชน์ได้ โพลจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะกระดานนี้ใหญ่มาก ความคิดเห็นจากกระดานนี้ใหญ่สุด คราวที่แล้วมีมากถึง 170,000 คน กระดานใหญ่ขนาดนี้ใครจะทำได้ ก็ต้องกลุ่มสื่อประมาณมติชน-เดลินิวส์ สะท้อนขึ้นมา ครั้งนี้อาจจะมากกว่าเพราะเปิดทำโพลถึง 1 เดือนเต็ม เสียงนี้สำคัญมากสะท้อนทั้งระดับจังหวัด ทุกพื้นที่ ใครมองโพลนี้เป็น สามารถนำไปปรับนโยบายได้เยอะ คิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย ตามครรลองระบอบประชาธิปไตย”

น.ส.ปานบัว บุนปาน