“บวรศักดิ์” ปฏิรูปกฎหมาย 100 ปี ตั้งทีมเฉพาะกิจ ค้นกรุ 20 กระทรวง

1 ในเนติบริกรลำดับต้น ๆ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชื่อนาม “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะเคยชอกช้ำหลังถูกเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย “หักหลัง” คว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่เขาร่างมากับมือ

แต่จากนั้น “ดร.บวรศักดิ์” ก็กลับลงเรือแป๊ะอีกครั้ง สวมบท ประธานคณะกรรมการปฏิรูปและขับเคลื่อนกฎหมายเร่งด่วน และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย

งานของเขาคือการ “รื้อ” กฎหมายที่โบราณ ล้าสมัยทิ้งไป โดยนับจากนี้ ภายหลังแผนปฏิรูปกฎหมาย ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะตั้งคณะกรรมการประจำกระทรวง 20 ชุด เพื่อปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เริ่มตั้งแต่กฎหมายก่อนปี 2500 หรือกฎหมายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ภายใต้การปฏิรูปเรื่องใหญ่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การทำกฎหมายให้ดี ได้แก่ การเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น-ล้าสมัย สร้างภาระให้กับประชาชน 2.ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม และ 3.ทำให้ประเทศแข่งขันในโลกได้ เช่น การแก้กฎหมายเพื่อลดการใช้โลจิสติกส์ที่ปัจจุบันสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายภาษีอากร-ดึงคนมาให้เสียภาษีในระบบเพิ่มมากขึ้น

ขอบข่ายกฎหมายที่จะถูกรื้อ เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มีจำนวน 1,300 ฉบับ กฎหมายลูก อาทิ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กฎกระทรวง จำนวนหลายแสนฉบับ และระเบียบ-หนังสือเวียนนับล้านฉบับ

“กฎหมายล้าสมัย เช่น กฎหมายเครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2497 ถ้าปัดฝุ่นมาใช้ก็ผิดกันทั้งประเทศ เพราะห้ามใช้เครื่องกระจายเสียงพูดภาษาต่างประเทศ และห้ามหน่วยงานอื่นใช้นอกจากข้าราชการ กฎหมายเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2457 ใช้มาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ขึ้นรัชกาลที่ 6 หรือ 100 กว่าปีที่แล้วก็ยังใช้อยู่”

“กฎหมายควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง บางฉบับล้าสมัยบางเรื่อง เช่น กฎหมายห้ามผู้พ้นโทษทำอาชีพบางอย่าง เพราะฉะนั้น ต้องรื้อเยอะ ๆ เยอะมาก”

ทว่าความยากของการปฏิรูปกฎหมาย คือ ระบบราชการ !

“อย่าเอาข้าราชการมานั่ง ต้องเอาคนที่มีหัวปฏิรูปมานั่ง เพราะข้าราชการชอบกฎหมายที่เพิ่มอำนาจตัวเอง เพิ่มคน เพิ่มเงิน แต่ของเก่าไม่เลิก”

“หลายประเด็นที่ขอแก้ไขไปไม่คืบหน้า เช่น การทบทวนใบอนุญาตจาก 5,000 ใบอนุญาต เหลือ 1,000 ใบอนุญาต แต่เนื่องจากใบอนุญาตหมายถึงอำนาจของเขา จึงต้องเอาคนกลาง”

กฎหมาย 5 ฉบับที่ คณะกรรมการปฏิรูป ด้านกฎหมาย ร่างออกมา อาทิ แก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวก กฎหมายว่าด้วยการจัดทำประมวลกฎหมาย กฎหมายขายฝากและกฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ด้วยระบบราชการทำให้ทุกอย่างล่าช้า

“5 ฉบับนี้พยายามผลักดันอยู่ แต่ด้วยระบบราชการไทย แต่จะบี้ได้ขนาดไหนไม่รู้ เพราะเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลัง ในระดับซี 7 ประเด็นเรื่องการจัดตั้งกองทุน แต่เมื่อข้าราชการซี 7 ทำขึ้นไปแล้ว รัฐมนตรีก็เชื่อ ซี 7 ก็ยื้อกันอยู่ มันไม่ง่าย”

“บวรศักดิ์” ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปกฎหมายว่า เป็นสิ่งจำเป็น-เร่งด่วน เนื่องจากกฎหมายเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับการบริหารบ้านเมือง และใช้แก้ไขข้อพิพาท-การจัดสรรผลประโยชน์

“ถ้าจะปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยไม่ปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจ เป็นไปไม่ได้ ต้องเริ่มที่การปฏิรูปกฎหมายเรื่องนั้น ๆ”

“การปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญ ครั้งสมัยพระบรมไตรโลกนารถทรงจัดตั้งระบบคุมกำลังคนของประเทศ ทรงตรากฎหมายพระราชกำหนดศักดินาทหารและพลเรือนหัวเมืองขึ้นใช้เพิ่งมาเลิกเมื่อใน พ.ศ. 2447-2448 หรือสมัยรัชกาลที่ 5 เลิกระบบไพร่”

“กระทั่งสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจะปฏิรูปประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ ก็ทรงต้องใช้กฎหมายปฏิรูป เลิกไพร่ เลิกทาส ทรงตราพระราชบัญญัติเกษียณอายุเลิกทาส และพระราชบัญญัติเลิกระบบไพร่”