เศรษฐา ประกาศไม่ท่วม ไม่แล้ง จีดีพีโตมโหฬาร

นายเศรษฐา ทวีสิน

นายกฯ พร้อมเป็นเซลส์แมน โรดโชว์ประเทศ ปลุกนักลงทุนไทยดึงดูดต่างชาติ-ตั้งเป้า 3 เดือนน้ำท่วมน้ำแล้งต้องดีขึ้น : 4 ปี รายได้สุทธิเกษตรกรไทยโต 3 เท่า พร้อมทลายกฎระเบียบขัดขวางการลงทุน

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ห้องแมกโนเลีย บอลรูม ชั้น 10 โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษงาน Thailand Economic Outlook 2024 : Change the Future Today หัวข้อ Empowering Economy the Big Change

ลงทุนแก้น้ำท่วมน้ำแล้ง GDP โตมโหฬาร

นายเศรษฐากล่าวตอนหนึ่งว่า แม้จนเองจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็อยากให้มองตนเองเป็นนักธุรกิจคนหนึ่ง เป็นเซลส์แมน ขายสินค้าดี ๆ ของประเทศ ขายความเชื่อมั่น ที่นักลงทุนจะให้กับประเทศไทยให้ได้ เป็นหน้าที่หลักที่ตนได้รับมอบหมายให้นำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายให้ได้

อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ขับเคลื่อนได้ช้ามาก ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยออกไปเชิญชวนนักลงทุนในต่างประเทศ อินโดนีเซีย เวียดนามออกไปติดต่อกับต่างประเทศเยอะมาก ผู้นำของเขาเป็นเหมือนกับเซลส์แมน ซึ่งหน้าที่ของผมก็คือเซลส์แมน ต้องออกไปขายความเชื่อมั่น ไปขายให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในประเทศไทยให้ได้ เป็นหน้าที่และภารกิจหลักที่จะทำให้ประเทศมีการลงทุนมากขึ้น

ภาคเกษตรกรรมของไทย เป็นภาคส่วนที่น่าสงสารที่สุด เพราะรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง และสาเหตุที่รัฐบาลต้องมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร ก็เพราะยังมีปัญหาสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง แม้จะมีเงินชดเชยภัยพิบัติ ก็มั่นใจว่า เกษตรกรไม่ได้ต้องการ และต้องการมีรายได้ให้มากกว่าเงินชดเชยที่ได้รับ ดังนั้น หากประเทศไทยไม่ท่วมไม่แล้ง เศรษฐกิจไทยจะไปได้ไกลมาก

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำทั้งระบบ เพราะหากรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสูง เงินลงทุน 100 บาท จะไหลออกนอกประเทศ 90 บาท แต่หากรัฐบาลลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เงินลงทุน 100 บาท ก็จะอยู่ในประเทศ เป็นการลงทุนน้อย ใช้เพียงความใส่ใจ และแผนบูรณาการอย่างครอบคลุม ซึ่งจะทำให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร โดยไม่ต้องชดเชยภัยพิบัติใด ๆ

“ผมพบ สส.ทุกสัปดาห์ แต่วานนี้มี สส. 12 คนมาพูดกับผมเรื่องน้ำ ผมยอมรับว่าสับสน แต่มี สส.คนหนึ่งบอกผมว่าทั้งหมดคือปัญหาในพื้นที่อีสานทั้งหมด ทำไมไม่จัดสักหนหนึ่งให้ สส.ฟังว่าแผนบูรณาการเรื่องน้ำโดยภาพรวมเป็นอย่างไร เช้าวันนี้ตนเชิญ รมว.เกษตรฯ มาพูดคุยเป็นภารกิจแรก ขอให้ไปพูดคุยว่าการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ไม่ท่วมไม่แล้งมีอะไรบ้าง และแผนระยะยาวของเรามีอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหานี้เกิดขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

“ดังนั้น รัฐบาลจึงขอเวลาระยะหนึ่ง และตระหนักดีในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปลายสัปดาห์นี้ก็เตรียมลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และจะหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยมั่นใจว่าภายใน 3 เดือนนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกเกิดขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

ลงทุนน้ำ ดูดลงทุนไฮเทค 1 ล้านล้าน

นายเศรษฐากล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำว่า มีเสาหลักสำคัญ 4 เสา ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมนี้ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และต้องใส่ใจให้มากกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลได้เชิญนักธุรกิจ ที่มีแผนจะมาลงทุนในประเทศไทยมาพูดคุย เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลในการจัดการน้ำสำหรับภาคส่วนการผลิต หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนในเรื่องน้ำได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อการดึงดูดนักลงทุน

ดังนั้น รัฐบาลยืนยัน และจะทำให้ได้ เพราะตนเองได้เดินทางไปต่างประเทศ ติดต่อกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งไมโครซอฟท์ กูเกิล เทสลา และไมโครชิปอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 1,000,000 ล้านบาท รัฐบาลก็คาดหวังให้บริษัทเหล่านี้ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้สูงขึ้น ทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้น ยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้สูงขึ้น เพราะในช่วงที่ผ่านมา ประเทศคู่แข่งขันของไทย

สะกิดเอกชน เพิ่มความทะเยอทะยาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องกฎหมาย ที่มีความเยิ่นเย้อ ซับซ้อน ไม่เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา แต่รัฐบาลก็มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะหลายบริษัทดังกล่าวที่ตนเองไปพบเจอ มีหลักการเจรจาที่เป็นสากล แต่หลักการของประเทศไทยยังไม่เป็นสากล

จึงจำเป็นต้องทลายกำแพงเหล่านี้ เพื่อเปิดประตูการแข่งขันอย่างเต็มที่ และเป็นภารกิจใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเป็นหัวหอกสำคัญ ควบคู่กับกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล ในการติดต่อเจรจาความร่วมมือการค้า เพื่อเปิดประตูการค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น เอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศต้องพบกับนักลงทุน และเอกชนมากขึ้น

รวมถึงรัฐบาลต้องไม่กลัวต่อการเจรจา เพื่อให้ทุกคนเป็นทีมไทยแลนด์ สร้างความมั่นใจกับนักลงทุน ช่วยกันเจรจา เพื่อเป็นบริบทใหม่ของการทำงานรัฐบาลนี้

“ทุกครั้งที่ผมไปต่างประเทศ หากไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญ ผมก็อยากเชื้อเชิญให้หลายภาคส่วน เดินทางไปร่วมกับตนเพื่อดึงดูดนักลงทุน ยกระดับภาคอุตสาหกรรม และความมั่นใจที่ทั่วโลกมีต่อประเทศไทย นักลงทุน และนักการเงินไทย เพิ่มความทะเยอทยาน และมีความมั่นใจกับ Next Step ของประเทศไทย โดยยอมรับว่า หลายหน่วยงานรัฐจะต้องพัฒนา และปรับปรุงการทำงาน”

นำประเทศไปโรดโชว์ทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่มีความแข่งแกร็งมากที่สุดในภูมิภาค ดังนั้น ประเทศไทยจึงจะต้องเป็นศูนย์กลาง นำบริษัทต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย และพบปะกับเวทีต่างชาติมากขึ้น เพื่อส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมแก่การลงทุน ดังนั้นหลังจากนี้ การนำเสนอประเทศไทยจะต้องไม่นำแค่บริษัทไป Road Show แต่จะต้องนำประเทศไป Road Show ทั้งยุโรป อเมริกา และทั่วทุกภูมิภาค เพื่อนำเสนอต่อนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงความจำเป็นในนโยบายพักหนี้เกษตร ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว 13 ครั้งในรอบ 9 ปี และล่าสุดเป็นครั้งที่ 14 ว่า เพราะเกษตรกรมีความเดือดร้อน และเพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเดินต่อ เพราะภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่น่าสงสาร เพราะมีรายได้ต่ำ องค์ความรู้น้อย หากไม่จำเป็นจริง ๆ หรือมีวิกฤต จะไม่มีนโยบายประกัน จำนำ หรือจ้างผลิต

แต่จะเสริมให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิของเกษตรกรโตขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปีของอายุรัฐบาลชุดนี้ ผ่านการสร้างองค์ความรู้ การเปิดตลาดใหม่ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นจะต้องสนับสนุนองค์ความรู้ที่ดี เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรกรไทย เพื่อให้รายได้สุทธิเกษตรกรสูงขึ้น

เจรจาแก้กฎ IUU

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเห็นใจต่อภาคการประมงไทย ทั้งที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าสมุทร เคยมีการส่งออกปีละกว่า 350,000 ล้านบาท ว่าปัจจุบันต้องนำเข้า 150,000 ล้านบาท และไปกลับกว่า 500,000 ล้านบาท จังหวัดที่มีชายฝั่ง เรือประมงจอดเป็นซากจำนวนมาก เพราะมีปัญหาเรื่องกฎหมาย IUU ของสหภาพยุโรป แต่ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องยินยอมทั้งหมด

และการต่อรองของนักธุรกิจสามารถต่อรองได้ เพื่อให้เรือประมงสามารถกลับมาเดินเรือต่อได้ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร แม้จะมีข้อกังวลว่าอ่าวไทยจำนวนสัตว์น้ำลดลง แต่ก็ไม่จำเป็นจำกัดพื้นที่เฉพาะอ่าวไทย เพราะน่านน้ำอินโดนีเซียก็สามารถทำการประมงได้ เพราะมีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน และทรัพยากรพร้อม แต่ชาวประมงไทย และอุปกรณ์ของชาวประมงไทย ยังไม่มีความพร้อม

ดังนั้นรัฐบาลก็พร้อมไปเจรจา และเปิดตลาดให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดการส่งสัตว์น้ำของไทยไปสหภาพยุโรปนั้น มีเพียง 8% แต่กลับมีข้อตกลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากกว่าที่สหภาพยุโรปกำหนดมา จึงจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขในรายละเอียด ให้ภาคประมงของไทยสามารถกลับมาผงาดได้อีกครั้ง

ปรับตัวสู่ Green Energy

นายเศรษฐากล่าวถึงพลังงานสะอาด หรือ Green Energy ว่า เป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องมีการพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศอีกมาก เพราะต่างชาติให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาด และมีความเห็นร่วมกัน เพราะสถาบันการเงินบางแห่งไม่ให้ความช่วยเหลือบริษัทที่ใช้ Brown Energy หรือพลังงานแบบดั้งเดิมในอดีต ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพัฒนา และสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศ เพื่อให้เป็นประเทศเป้าหมายสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ

โดยเราจะเป็น EV Hub ที่ใหญ่ แต่ก็ไม่ลืมบุญคุณญี่ปุ่น เพราะก็จะต้องให้ความช่วยเหลือบริษัทที่ยังคงใช้พลังงานดั้งเดิมภายในประเทศด้วย เพราะถือเป็นต้นน้ำในอดีตที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจไทยในอดีต

ถอดสลักปัญหาท่องเที่ยว แข่งกับเมืองท็อปโลก

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับภาคท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ หรืองานระดับโลกนั้น มั่นใจว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมาก แม้จะมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่กระทบต่อการท่องเที่ยว เช่น สถานบันเทิงที่ไม่สามารถเปิดบริการได้ถึงเที่ยงคืน แต่ก็มีการลักลอบเปิดให้บริการนักท่องเที่ยว ก็จะต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สามารถเพียงพอกับการแข่งขันกับเมืองท่องเที่ยวของประเทศต้น ๆ เราต้องมาคิดดูถึงความเหมาะสม

เช่น การขยายเวลาเปิดบริการ ควบคู่กับการปรับระบบภาษีต่าง ๆ เพื่อทำให้ประเทศดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลเตรียมพร้อมแล้ว สำหรับนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปองของต่างชาติ โดยยอมรับว่า หลายนโยบายมีทั้งข้อดี และข้อเสีย แต่ก็ขอให้มีการนำเสนอทั้ง 2 ด้าน ตรงไปตรงมา และสร้างสรรค์

นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศว่า ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อให้ความเสมอภาคในทุก ๆ ด้าน และมีสิทธิในการเลือกประกอบอาชีพ เลือกเพศสภาพ และมีสิทธิทางความคิด เพราะทั่วโลกให้การยอมรับแล้ว ดังนั้น ประเทศไทยจึงจะต้องพัฒนาต่อไป เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

และเชื่อว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกสังคมไทยในระยะยาวได้ เพราะคนแต่ละช่วงวัยก็มีความเชื่อต่างกัน แต่หากมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผล แม้จะเห็นต่างกันบ้าง แต่หากมีความเข้าใจกันได้ ก็สามารถพูดคุยกันได้ พร้อมแสดงความกังวลถึงการใช้สื่อออนไลน์ของประชาชนทุกช่วงวัย

โดยเฉพาะผู้ที่มีความพร้อมทางสังคม จะต้องคำนึงถึงบุคคลที่ขาดแคลน หรือมีน้อยกว่า และดูแลจิตใจซึ่งกันแลกัน ดังนั้นจึงควรจะต้องคิดก่อนพูด คิดก่อนโพสต์ และแสดงตัวตน เพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข และขอให้นักลงทุนไทย มีส่วนร่วมใน Next Chepter ของประเทศไทย เพราะขณะนี้ ประเทศไทยเปิดแล้ว นับจากนี้เป็นต้นไป