เศรษฐาชวนนักศึกษาไทยสแตนฟอร์ด กลับไทย มีงานดี ๆ รองรับในอนาคต

เศรษฐาชวนเด็กไทยในสแตนฟอร์ด กลับทำงานที่ไทย ชี้อนาคตใกล้มีบริษัทชั้นนำเปิดที่เมืองไทย มีงานรองรับ หวังเป็นอนาคตของชาติ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก สหรัฐ ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พบหารือผู้บริหารมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และพบปะนักศึกษาไทย ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)

โดยนายกฯกล่าวกับนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า หน้าที่ของรัฐบาล คือทำให้นักศึกษาเห็นด้วยว่าประเทศไทยนั้นมีอนาคต เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพยายามทำความเข้าใจ และเชื้อเชิญให้นักเรียนที่เรียนต่างประเทศ พยายามที่จะกลับมาทำงานต่อที่ประเทศไทย ซึ่งในโอกาสการเดินทางมาซานฟรานซิสโก เพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปคนี้ จึงเชิญนักลงทุนต่างประเทศหลายรายมาร่วมหารือ และเตรียมลงนาม MOU โดยในอนาคตอันใกล้ ถ้ามีบริษัทดี ๆ หลาย ๆ บริษัท ไปเปิดที่เมืองไทย ไปขยายงานที่เมืองไทย รองรับการกลับไปของนักศึกษาที่อยู่ต่างประเทศ ก็จะเป็นการดี

สำหรับการประชุมเอเปคในครั้งนี้ เป็นการพบปะของผู้นำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองได้รับตำแหน่งมาได้ประมาณ 2 เดือน ก็มาทำความรู้จักมาพบปะพูดคุยกัน นอกจากนี้มาพบนักธุรกิจ ซึ่งเมื่อวานได้พบผู้บริหาร Tesla, ADI, HP และวันนี้ได้พบผู้บริหาร อาทิ Microsoft, Google, Western Digital เพื่อจะประกาศว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เปิดสำหรับการลงทุน ไม่มีเวลาไหนที่ดีเท่าเวลานี้ที่จะลงทุนในประเทศไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน

Advertisment

เป็นที่มาที่ไปว่า ที่อยากจะมาที่ Stanford เพราะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ดีที่สุดในโลกมหาวิทยาลัยหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เกิดการลงทุนครั้งมโหฬาร เพื่อสร้างโอกาสสร้างงานให้นักศึกษาไทยในต่างประเทศ กลับไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ ไปมีอนาคตที่ดีกว่าที่เมืองไทย

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า พูดคุยกับระดับศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย มีการพูดคุยใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก การพัฒนาสตาร์ตอัพ ที่ประเทศไทย ยังไม่มียูนิคอร์น หรือบริษัทสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง เกิน 36,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะให้นักลงทุนต่างประเทศ หรือคนรุ่นใหม่ที่อยากจะมาอยู่ในประเทศไทย ได้พัฒนาธุรกิจให้กลายเป็นยูนิคอร์นให้ได้

ประเด็นที่สอง มีการหารือความร่วมมือการแก้ปัญหาการทำลายป่าและการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเดือนหน้าจะเข้าสู่ช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสะสมสูงแล้ว โดยอาจจะทำเป็นแซนด์บอกซ์ในเมืองหนึ่ง หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ลดลง

นายเศรษฐา ทวีสิน

Advertisment

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับการพบกับนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นนักศึกษาระดับท็อป หรือระดับมันสมองของประเทศ แต่ส่วนมากบอกว่าหลังสำเร็จการศึกษาแล้วจะหาประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศก่อน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ทำให้มีความกังวลว่าคนเหล่านี้จะกลับไปทำงานที่ประเทศไทยหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้นักศึกษาเหล่านี้มีความสบายใจว่าเมื่อกลับประเทศแล้วจะมีงานที่เหมาะสม มีหน้าที่การงานที่ดี เป็นอนาคตที่ดีของประเทศต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากที่พบกับนักศึกษาไทยในมหา’ลัยสแตนฟอร์ด อยากให้ช่วยเรื่องใดบ้าง นายเศรษฐากล่าวว่า นักศึกษาเหล่านี้มีความรักบ้าน แต่ก็ห่วงอนาคตตัวเอง เมื่อกลับไปประเทศไทยอยากมีงานที่ดีรองรับ หลายคนที่เป็นนักศึกษาทุน ต้องกลับไปใช้ทุน แต่หลายคนที่เรียนเกี่ยวกับงานด้านวิจัย ทำงานงานวิจัย อยู่ที่สหรัฐจะมีรายได้สูงกว่าได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน หากกลับไปเมืองไทยรายได้ก็ต่ำจึงมีความกังวลเรื่องนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน