สว. 98 คน ยื่นซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา เหตุประเทศกำลังเจอวิกฤต 7 ด้าน

เสรี สุวรรณภานนท์

สว.98 คน ยื่นอภิปรายรัฐบาลไม่ลงมติ เหตุประเทศกำลังเจอวิกฤต 7 ด้าน วนเวียนอยู่กับการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม เลือกปฏิบัติ

วันที่ 22 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมด้วย สว. อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ว่าที่ร้อยตรีวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ พร้อมรายชื่อ สว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติจำนวน 98 คน ยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา

นายเสรี กล่าวว่า ที่เราต้องยื่นอภิปรายเนื่องจากประเทศกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตทั้ง 7 ด้าน ยืนยันว่าไม่ได้เลือกอภิปรายตามบุคคล ไม่ได้เลือกซักฟอกตามรัฐบาล เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ก็เป็น ครม.กับชุดที่แล้ว และคาดหวังว่าการอภิปรายในสภาจะเป็นผลบวกในทางปฏิบัติเพื่อให้

รัฐบาลสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยปัญหาที่เรานำมายื่นอภิปรายรัฐบาล ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทางรัฐบาลควรแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่กลับวนเวียนอยู่กับการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต และอาจทำไม่สำเร็จเนื่องจากมีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญตามที่รัฐบาลเคยพูดมาโดยตลอด แต่ 4 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม

อีกข้อที่สำคัญคือกระบวนการยุติธรรม ที่หากรัฐบาลสามารถรักษามาตรฐานความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ หาช่องหาผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอว่าบริหารมาเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่สามารถนำมาพูดกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมอาจมีการโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอภิปรายก่อนที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้เราไม่ได้เน้นตัวบุคคล แต่เราเน้นในหลักการ ดังนั้น จะเปิดอภิปรายก่อนหรือหลังไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจะยึดหลักยุติธรรมให้เป็นธรรมได้แค่ไหน ซึ่งเราไม่ควรให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้ขึ้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้ได้กับทุกคนเท่าเทียมกัน

เมื่อถามว่า ในการยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ และมีใครเป็นผู้อภิปรายบ้าง นายเสรี กล่าวว่า ตนตั้งใจไว้ว่าจะอภิปราย 2 วัน ส่วนใครจะเป็นผู้อภิปรายนั้นอยู่ที่ว่าใครจะมาแสดงความจำนง ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้สนใจจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ต้องแสดงความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถจัดลำดับได้

เมื่อถามถึง ความคิดเห็นของ สว. เรื่องดิจิทัลวอลเลต เนื่องจากมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกัน นายเสรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือวัตถุประสงค์ที่จะแจกเงินดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีคำถามว่า แล้วกระตุ้นได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น ประชาชนเชื่อว่าไม่ว่าจะแจกในรูปแบบใด เดี๋ยวก็ใช้หมดในเวลารวดเร็ว และเงินที่จะนำมาแจกนั้นมีที่มามาจากไหน กู้มาหรือไม่ มีดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระของประเทศจำนวนมหาศาล อีกทั้ง นโยบายนี้เป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเฉพาะจาก ป.ป.ช. ระบุว่าเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง

นายเสรี กล่าวอีกว่า ฉะนั้น รัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าการเป็นหนี้ 5 แสนล้านบาท หากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับประชาชนอย่างยั่งยืน จะสามารถช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องนำมาพูดในสภา

ขณะที่ นายพรเพชร กล่าวว่า กระบวนการในการส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลที่ระบุมาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ และต้องประสานงานไปยัง ครม. ในการมาชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น ต้องให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไปประสานงานกับ ครม. ว่าประสงค์จะมาชี้แจงในเวลาใด และใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องรายงานกลับมาที่ตน ว่า ครม.มีความพร้อมหรือไม่ ดังนั้น กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่วันนี้

เมื่อถามว่า การอภิปรายในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ถ้าเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินก็สำคัญ เพราะไม่งั้นคงไม่เข้าหลักตามรัฐธรรมนูญ ให้ ครม.ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนเรื่องอื่น ๆ ตนจะต้องไปตรวจสอบอีกที

เมื่อถามว่า จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงทิ้งทวนก่อนหมดสมัยใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่คิดว่าการทำงานของ สว. เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และถ้าสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายได้ ก็ยังอยู่ในกรอบการดำเนินงานของรัฐสภา จึงไม่มีปัญหาอะไร

“จะโบแดงหรือโบขาว ทุกคนก็จะตระหนักได้เอง ผมเข้าใจความประสงค์ของสมาชิก ว่าต้องการทำให้เกิดประโยชน์” นายพรเพชร กล่าว

เมื่อถามว่า จะแจ้งให้กับทางรัฐบาลทราบเมื่อไหร่ นายพรเพชร กล่าวว่า คงแจ้งทันทีไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดูญัตติเลย ต้องขอดูก่อน

เมื่อถามว่า คาดว่าจะได้อภิปรายในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ ใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เท่าที่ฟังมาอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกอยากได้ในช่วงเดือน ก.พ. ก็จะดูให้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนขั้นตอนธุรการ ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะจัดการให้ แต่เรื่องกรอบเวลา ตนกับผู้เสนอจะเป็นคนประสานงานกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 7 ประเด็น ที่ สว.จะอภิปรายรัฐบาล ประกอบด้วย

1. ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่ยั่งยืน การทำให้ประชาชนมีรายได้ และมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างไร รวมถึงสภาพปัญหาการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ชอบด้วยกฎหมายและไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชนจะดำเนินการได้จริงหรือไม่ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่รัฐบาลทำอยู่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาจากต้นตอ

2. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้องหาผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างมาตรฐานในกระบวนการที่บิดเบี้ยว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เท่าเทียม การทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติดและการพนัน

รวมไปถึงการแก้ปัญหาปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ การเปลี่ยนส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมอาจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน รวมถึงแนวทางการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ที่ยังไม่เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม มาตรการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกส่วยหรือการหาผลประโยชน์ทุกกรณีจะแก้ปัญหาจริงจังและเป็นรูปธรรม การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะทำให้มีประสิทธิภาพอย่างไร

3. ปัญหาด้านพลังงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างปัญหาของประเทศ และการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟ ก๊าสหุ้งต้ม และน้ำมัน นอกจากนั้นจะแก้ปัญหากลุ่มทุนพลังงาน มีอิทธิพลกับการเมือง ทำให้กลุ่มทุนกำหนดราคาพลังงานในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น จนทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระราคาเชื้อเพลิงที่สูงเกินจริง

4. ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม ไม่เร่งปฏิรูปการศึกษาเพิกเฉยต่อการผลักดันการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อให้เป็นกฎหมายบังคับใช้เป็นแม่บทในการพัฒนาการศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เร่งรัด และปล่อยปละละเลยในการแก้ปัญหาการปรับโครงสร้างของกรมส่งเสริมการเรียนรู้

ซึ่งหลังจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้มีผลบังคับใช้เกือบ 1 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถปรับโครงสร้างได้ ทำให้เกิดผลเสียต่อการศึกษาอย่างร้ายแรง รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถทำงานให้เป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส และการรักษาพยาบาล การสาธารณสุข

5. ปัญหาด้านการต่างประเทศและการท่องเที่ยว รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไรกับผู้กระทำความผิดที่เป็นจีนเทา เพราะจะกระทบกับความสัมพันธ์และความรู้สึกของชาวจีน รวมถึงการวางตัวเป็นกลาง และการเลือกข้างของรัฐบาล กับความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ จะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม และมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

6. ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการทำประชามติ ต้องมีความชัดเจน เพื่ออธิบายให้ได้ว่ามีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร โดยชอบด้วยกฎหมาย เกิดประโยชน์ของประชาชน และการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศได้อย่างไร

7. ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่วุฒิสภาได้เสนอแนะเร่งรัดต่อรัฐบาลไปแล้วนั้น รัฐบาลมีนโยบายและแนวทางดำเนินการตามข้อเสนอแนะอย่างไร

ซึ่งในญัตติ ระบุว่า ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เร่งด่วน ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการและแก้ไขปัญหาโดยทันที เพราะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งไม่บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การยื่นญัตติดังกล่าวเป็นการยื่นเพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าในการแก้ไขปัญหาสำคัญตามนโยบายที่ได้แถลงไว้