3 โซนอันตราย รัฐบาลเพื่อไทย จังหวะคดีทักษิณ-เกม สว.ทิ้งทวน

เศรษฐา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

นับจากนี้ 3 เดือนข้างหน้า เป็นห้วงเวลาอันตราย หัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

เพราะศึกการเมืองในประเด็นหลัก จะย้ายสมรภูมิไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หลังที่ประชุมสภา ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

ประการแรก การพิจารณางบประมาณจะถูกจับตาหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะ “งบฯกองทัพ”

ประการที่สอง ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน จะเข้าสู่สภา หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา “ไฟเขียว” ให้รัฐบาลทำได้

ประการที่สาม การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ โดย สว. และการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ สส.ที่เจาะคดีและกระบวนการราชฑันท์ของ ทักษิณ ชินวัตร

ประการที่สี่ การพิจารณาทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ก็เป็นอีกหนึ่งด่านอันตราย

ทั้งสี่ประการ จะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนี้ เพราะสมัยประชุมสภานี้จะสิ้นสุดภายในวันที่ 9 เมษายน 2567

เป็นศึก “รับน้อง” ในสภาที่ต้องฝ่าไปให้ได้ แม้ว่าจะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเด็ดขาด 314 เสียง แต่ถ้าตั้งหลักไม่ดี อาจเสียหลัก พลิกคว่ำ พลิกหงายได้

ศึกงบประมาณ

งบประมาณที่ถูก “จับตา” มากที่สุดในการพิจารณางบประมาณในชั้น “กรรมาธิการ” คืองบประมาณของ “กระทรวงกลาโหม” ย้อนกลับไปในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน มักอภิปราย “งบฯกองทัพ” เป็นวาระใหญ่ทุกครั้ง และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์โดยเฉพาะ “เรือดำน้ำ” ก็อยู่ในวาระต้น ๆ ที่ถูกอภิปราย

ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาเป็นฝ่ายรัฐบาล “งบฯเรือดำน้ำ” จึงกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เพราะรัฐบาลจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตก็ติดปัญหา จะเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำก็ไปต่อยาก จะยกเลิกก็จ่ายเงินไปแล้วกว่า 6 พันล้าน จึงกลายเป็นวาระใหญ่ ที่รวมอยู่ในวาระงบประมาณ

การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 จะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นเดือนเมษายน พรรคก้าวไกล เตรียมจัดเวทีถล่มอีกรอบแน่นอน

แหล่งข่าวใน ครม. กล่าวว่า รัฐบาลมีเวลาหายใจหายคอแค่ 1 เดือน คือเดือนเมษายน แต่หลังจากนั้นก็ต้องเริ่มพิจารณากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อีกแล้ว เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ก่อนชงเข้าสู่ที่ประชุมสภา ในสมัยประชุมต่อไปที่จะเริ่มวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

ระทึก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน

รัฐบาลเพื่อไทย คาดหวังสูงกับโครงการเรือธง แจก “เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” ใช้งบประมาณ 5 แสนล้าน ผ่านการออกกฎหมายกู้เงินมาดำเนินโครงการ

หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งคำตอบมายังรัฐบาล โดยตีตรา “ลับ” อธิบายข้อกฎหมายว่า หากจะออกเป็นกฎหมายกู้เงิน จะต้องไม่ขัดกับมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และต้องฟังความเห็นรอบด้าน

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ขัดข้อง-ขัดขวาง พรรคเพื่อไทย จากนี้พรรคเพื่อไทย งัดหลักฐาน-ความจำเป็นต้องกู้เงินออกมาแสดง ก่อนนำเข้าสู่บอร์ดดิจิทัลวอลเลตชุดใหญ่ ก่อนส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

พรรคก้าวไกล-สว.เตรียมรับมีดไว้รอชำแหละแล้ว

สส.-สว.ซักฟอกรัฐบาล

เพราะ สว. เตรียมใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ขอเปิดอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ

ตัวทำเกมอย่าง “สมชาย แสวงการ” สว. ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ยกตัวอย่าง เรื่องที่เตรียมนำมา “ซักฟอก” รัฐบาล ประกอบด้วย

การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลต เพราะที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เสียเวลาไป 4 เดือนแต่รัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายดังกล่าวออกมาอย่างที่เคยหาเสียงไว้ จะอ้างว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็ไม่เข้าข่าย เพราะหากเร่งด่วนจริง ก็ต้องออกพระราชกำหนดแต่รัฐบาลไม่กล้าทำเพราะรู้ดีว่าทำไม่ได้

กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่ตอนนี้อยู่ที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งกรณีของทักษิณ เป็นปัญหาและท้าทายกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ สส.ฝ่ายค้าน ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า นอกจากจับตาร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ จะมาทำดิจิทัลวอลเลตถ้ามีการเสนอเข้าสู่สภาจริง จะเป็นวาระสำคัญแล้ว ยังติดตามตรวจสอบ เก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายไม่ลงมติ

เพราะรัฐบาล เพิ่งจะทำงานได้ประมาณสัก 3 เดือน ยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ไม่ว่าความชัดเจนในการผลักดันนโยบายของรัฐบาลเองรวมถึงข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายใช้อำนาจโดยมิชอบหรือว่าทุจริตคอร์รัปชั่นจนต้องอภิปรายไว้วางใจหรือไม่ คิดว่าในช่วงเปิดมาต้นปี ก็คงเป็นช่วงที่พรรคฝ่ายค้านต้องตัดสินใจว่าจะยื่นอภิปรายไว้วางใจหรือไม่

“เรื่อง ‘ตั๋วตำรวจ’ เราติดตามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ เรื่องตั๋วผู้กำกับก็ติดตามอยู่ อาจจะมีไฮไลต์มากกว่านั้นก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะเลือกใช้วิธี อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรือเลือกใช้อภิปรายแบบไม่ลงมติ หรือที่ศัพท์การเมืองเรียกว่า อภิปรายแบบ “ด่าฟรี” ซึ่งเส้นตายการอภิปรายซักฟอกรัฐบาลจะต้องเกิดขึ้น ก่อนปิดสมัยประชุมสภา 9 เมษายน 2567

ตัดเชือกรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเดือนมกราคม 2567 “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวเรือใหญ่ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันว่า จะเสนอวาระใหญ่ คือการทำ “ประชามติ” แก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้อนุมัติ

เป็นการชงการทำประชามติ “ครั้งแรก” จากทั้งหมดที่คณะกรรมการศึกษาฯ มีข้อสรุปให้ทำถึง 3 ครั้ง

โดยการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นภายใน 90-120 วัน ไม่หนีไปจากเดือนเมษายน โดยคำถามประชามติครั้งแรกมีว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

สมมุติว่าการทำประชามติครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี รัฐบาลก็จะชงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่สภา โดยเป็นการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

เกมรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเกมใหญ่ในสภา อีกประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้า

วาระร้อนกำลังรอรัฐบาล โดยมีสภาเป็น “สมรภูมิใหญ่”