เศรษฐา มั่นใจ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปต่อได้ ยืนยันคิกออฟ พ.ค.นี้

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา มั่นใจโครงการแจกเงินหมื่นเดินต่อได้แน่นอน คิกออฟตามไทม์ไลน์เดิม พ.ค.นี้ เตรียมขอความเห็นสภาพัฒน์-แบงก์ชาติ

วันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ตนเป็นประธานก่อน โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กำลังดูเวลาอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในตารางการประชุมของตน

เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงินที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐากล่าวว่า ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่า มองว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความชัดเจนหรือไม่ ว่าทำได้หรือไม่ได้ นายกฯ กล่าวว่า ตนอยากจะฟังความเห็นของทุก ๆ ฝ่ายด้วย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุก ๆ ฝ่ายที่ต้องมีความเห็นของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง

Advertisment

เมื่อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ใช่หรือไม่ ในความรู้สึกของนายกฯ นายเศรษฐากล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ

เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องรัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย

เมื่อถามว่า แสดงว่าเรื่องนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไปอีกสักระยะ นายกฯ กล่าวว่า ต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งตนนั่งเป็นประธานก่อน อย่างที่ตนได้เรียนให้ทราบ ยังไงก็ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ เพราะมีหลายฝ่ายร่วมอยู่ และต้องมาแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวนายกฯมั่นใจว่าเรื่องนี้เดินไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไปต่อได้แน่นอนครับ ชัดเจนครับ และต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาทีหลัง

Advertisment

เมื่อถามว่า จะทันเดือนพฤษภาคม 2567 หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ อย่างที่บอกนัยสำคัญของกฤษฎีกาคือต้องฟังความคิดเห็นของทุก ๆ ฝ่าย

เมื่อถามว่า ยืนยันการออกเป็นพระราชบัญญัติจะทำได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ยืนยันถ้าออกก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ทำให้เกิดความหนักใจอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมด เพราะต้องดูเรื่องของความถูกต้อง ความครบถ้วนในแง่ของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย”

เมื่อถามว่า ความเห็นที่แตกต่างของนายกฯ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนหนึ่งมองว่าอาจมีผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ตนว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคืออยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น

“แต่เรื่องของการปฏิบัติงานหรือเรื่องนโยบายต่าง ๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน”

เมื่อถามว่า จะมีโอกาสเชิญผู้ว่า ธปท. มาพูดคุยกันเหมือนช่วงแรก ๆ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ยังยืนยันและขอบคุณที่สื่อมวลชนบอกว่า ไหนบอกจะมีการพูดคุยกันทุก ๆ เดือน แต่รู้สึกว่าเดือนธันวาคม ไม่ได้พูดคุยกันแต่ก็มีการยกหูโทรศัพท์คุยกัน ขอบคุณที่เตือนมา ตนก็ได้นัดไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยดี ไม่ได้มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน

“แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าท่านก็เห็นตรงกับผมบางเรื่อง ผมก็เห็นตรงกับท่านบางเรื่อง แต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาพูดคุยกันและเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของท่านว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ตรงนี้มองว่าเป็นการอยู่ร่วมกัน เป็นธรรมดาก็ต้องมีการพูดคุยกัน”