ครม.เห็นชอบ ร่างกฎหมาย Ease of Doing Business ปลดล็อกทำธุรกิจง่ายขึ้น

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎหมาย อำนวยความสะดวก ผุดซูเปอร์ไลเซนส์ ขอใบอนุญาตใบเดียว เปิดกิจการได้เลย

วันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้เสนอหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ และให้บริการแก่ประชาชน

ซึ่งนายกฯเคยพูดบ่อย ๆ ว่า หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล คือทำอย่างไรที่จะให้เป็นรัฐเอื้ออำนวยการไม่ใช่รัฐอุปสรรค บัดนี้แนวนโยบายข้อนี้เริ่มนับหนึ่งแล้ว โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้เสนอหลักการร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งร่างกฎหมายมีลักษณะก้าวหน้าในหลายประเด็น

เช่น การกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถกำหนด Fast Track ได้เอง การกำหนดให้มีหลักการอนุมัติโดยปริยาย หมายถึงการขอใบอนุญาตหรือขอบริการ จะมีคู่มือระบุว่าการขออนุญาตนั้น ๆ ใช้เวลากี่วัน ถ้าถึงเวลาตามที่กำหนดแล้วยังไม่มีการอนุมัติให้ถือว่าได้รับการอนุญาตโดยอัตโนมัติ การที่ประกอบธุรกิจใหม่ ๆ กฎหมายใหม่จะเอื้อประโยชน์ให้ทดลองประกอบกิจการได้ก่อนโดยไม่ต้องรอใบอนุญาต และใบอนุญาตอะไรก็ตาม เช่น ใบขับขี่ ทะเบียนบ้าน หากสูญหายหรือชำรุด เมื่อไปขอออกใหม่ไม่ต้องใช้ใบแจ้งความ ส่วนอายุของใบอนุญาตต่าง ๆ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

จะเน้นว่าไม่อยากให้มีใบอนุญาตชั่วคราว แต่จะให้เป็นใบอนุญาตถาวร ถ้าจำเป็นต้องเป็นแบบชั่วคราวต้องขยับเป็น 5 ปี ไม่ใช่มีอายุแค่ 2 หรือ 3 ปี การกำหนดให้มีศูนย์รับเรื่องคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ภาคเอกชนมาให้บริการ รวมถึงกำหนดให้มีใบอนุญาตหลักสำหรับกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตหลายหน่วยงาน หรือซูเปอร์ไลเซนส์

Advertisment

“กิจการบางอย่างไม่ได้ขออนุญาตแค่หน่วยงานเดียว กิจการเดียวอาจมีหน่วยงานของรัฐกำกับ 3-4 หน่วยงาน ต่อไปนี้จะมีการกำหนดใบอนุญาตหลัก เรียกว่า ซูเปอร์ไลเซนส์เป็นใบตัวหลัก ถ้าได้ใบหลักแล้ว ใบรอง ๆ ไม่ต้องคอย ดำเนินการได้เลย และถือว่าใบรอง ๆ ต้องได้อนุมัติตามมา” นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าวว่า Ease of Doing Business เป็นการจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการปลดพันธนาการกฎระเบียบที่ทำให้การพัฒนาประเทศต่ำลง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นแทบไม่ได้ใช้งบประมาณ หรือใช้ก็น้อยมาก ๆ ซึ่งที่ประชุม ครม. โดยทุกกระทรวงเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว และมีมติส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาโดยละเอียด และรีบส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเดินหน้ากระบวนการทางกฎหมายต่อไป