เช็กลิสต์คดีร้อน รับ กกต.ป้ายแดง 3 รมต.ถือหุ้นต้องห้าม-“ทักษิณ” บงการเพื่อไทย

5 เสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่-ชุดที่มี “อิทธิพร บุญประคอง” เป็นประธาน ออกตัวได้สวยหรู

รับตำแหน่งไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็คลอดไทม์ไลน์วันเลือกตั้งออกมา ล็อกวัน ว. เวลา น. ไว้ที่ 24 ก.พ. 2562

นักเลือกตั้ง คนในวงโคจรการเมืองขานรับกันถ้วนหน้า แม้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในใจผู้คุมเกมอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แต่ ณ วันนี้ กกต.ชุด “อิทธิพร” เป็น กกต.ชุดที่ 5 ต้องจัดการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมานาน 5 ปี

เป็น กกต.ชุดที่ 2 ซึ่งถูกแต่งตั้งช่วงที่มีคณะรัฐบาลจากรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต่อจากชุดแรกในยุคของ 5 เสือ กกต.ที่ อภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน

แถม กกต.ชุดปัจจุบันยังผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เครือข่ายแม่น้ำ 5 สายของ คสช.ในช่วงที่ คสช.มีอำนาจล้นฟ้า เหนือรัฐธรรมนูญ

ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจ กกต.ยุค คสช.มากกว่าชุดไหน ๆ แจกได้ทั้งใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งผู้เป็นนายกฯในบัญชีต่อ กกต.พรรคละ 3 ชื่อ ยังมีอำนาจตรวจนโยบายพรรคการเมืองว่าเข้าข่ายประชานิยมหรือไม่

ภาระจึงตกมาอยู่บนบ่า กกต.ชุดใหม่ “อิทธิพร” ที่รับบทเป็นหัวหน้ากรรมการ คุมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด 6 เดือนข้างหน้า เอ่ยประโยควรรคทอง-แสดงความตั้งใจหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น กกต. เพียงไม่กี่นาที เลี่ยงครหาว่าจะมาทำความประสงค์ของผู้มีอำนาจหรือไม่ว่า

“ตั้งใจมุ่งมั่นว่าจะได้คนที่เชื่อถือได้ว่าเมื่อมาทำงานจะเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ซื่อสัตย์ ยึดกฎหมายเป็นหลัก”

“ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เขียนชัดเจนว่าต้องเป็นกลาง กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใด ๆ เป็นคาถาที่ กกต.ทุกคนรวมถึงผมต้องยึดมั่นจริงจัง”

แต่เมื่อถามถึงคดีการเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของ กกต. “อิทธิพร” ปฏิเสธที่จะตอบ “เพิ่งมารับหน้าที่ อย่าเพิ่งไปพูดถึงตรงนั้น”

หากพลิกสำนวนคดีการเมืองร้อนที่รอให้ กกต.ชุดใหม่วินิจฉัย ที่มีทุกกลุ่ม ทุกข้างถูกแปะป้ายข้อหา ไม่ว่าขั้วอำนาจ คสช. และพันธมิตรการเมือง หรือขั้วฝ่ายตรงข้ามอย่างเพื่อไทย

เริ่มต้นที่คดีฝั่ง คสช.-คนในรัฐบาลที่ถูกไล่เช็กบิล คือ เรื่องแรกเป็นกรณี “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ขอให้ กกต.ตรวจสอบบรรดารัฐมนตรีที่เข้าข่ายถือหุ้นต้องห้ามในรัฐธรรมนูญ หรือถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานกับหน่วยงานรัฐ

1.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคำร้องระบุว่า ถือหุ้นของ GPSC คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าลักษณะเป็นหุ้นสัมปทานทั้งทางตรงและทางอ้อมตามความในรัฐธรรมนูญ

2.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ถือหุ้นประเภทพลังงานที่เข้าข่ายเป็นหุ้นสัมปทานหลายรายการ อาทิ ถือหุ้นของ GPSC จำนวน 50,000 หุ้น หุ้นของ IRPC (บมจ.ไออาร์พีซี) จำนวน 200,000 หุ้น หุ้นของ PTT (บมจ.ปตท.) จำนวน 5,000 หุ้น

3.นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ถือหุ้นสัมปทาน SCG ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000 หุ้น

นอกจากนี้ “เรืองไกร” เจ้าเดิมยังร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 187 และมาตรา 170(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 90 คน

เรื่องที่สอง “สุชาติ ลายน้ำเงิน” อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องถึง กกต.ระงับและไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มีนายชวน ชูจันทร์ เป็นผู้ยื่นขอจดจัดตั้งพรรค

เนื่องจากสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์ อยู่เบื้องหลัง มีการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะข้าราชการการเมือง ไปเดินทางสายพูดคุยเพื่อดูดอดีต ส.ส.ให้เข้าพรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (4) ที่บัญญัติห้ามมิให้คณะรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

ขณะที่“นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ถูกร้องกรณีไปเสนอให้ผลประโยชน์กับอดีต ส.ส.ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งก็จะเข้าข่ายผิดมาตรา 30, 31 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่กำหนดว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด

ทั้งหมดยังอยู่ในการดำเนินการของอนุกรรมการไต่สวนของ กกต.

ส่วนเรื่องที่ฝ่ายตรงข้าม คสช.อย่างพรรคเพื่อไทย ถูกร้องเรียนคือกรณีที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลมายังแกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 และมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือไม่

ทุกอากัปกิริยา ทุกความเคลื่อนไหว ทุกคำพูดของ “ทักษิณ” ที่เกี่ยวโยงกับเพื่อไทย ถือเป็นเรื่องเสียวสันหลังของ ส.ส.ในพรรคว่าจะเป็นต้นเหตุของการยุบพรรค แม้พยายามจะบอกว่าสำนวนดังกล่าวไม่น่ากลัวก็ตามที แต่ในยุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ยิ่ง “ทักษิณ” เปิดวอร์กับผู้มีอำนาจ หล่นคำพูดการเมืองไว้ที่เกาะฮ่องกงว่า “ผมบอกทุกคนว่า ถ้าเราไม่ยอมแพ้ คำว่าแพ้มันมีได้ 2 กรณี คือ กรณีที่เราตาย หรือกรณีที่เรายอมไปเอง ถ้าเรายังสู้อยู่นี่ ถือว่าไม่มีปัญหา นั่นก็คือมีแต่แบตเทิล ไม่มีวอร์ วอร์มันจะเอนด์ ต่อเมื่อทุกอย่างมันจบ แต่ว่าสู้กันกี่ยก ๆ นั้นคือแบตเทิล แม้ว่าเราจะมีซับแบตเทิล แต่ว่าวอร์ยังไม่เอนด์ เราต้องทำต่อไป วอร์ที่สำคัญคือวอร์เรื่องประชาธิปไตย”

สิ้นคำพูดของ “ทักษิณ” ถึงคิวที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตอบกลับไปว่า

“เรื่องนี้สื่อมวลชนก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีความผิดตามกฎหมายอะไรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนเคยเตือนไปแล้วไม่ใช่หรือ ก็เป็นเรื่องของ กกต.จะพิจารณากันต่อไป”

ทุกนาทีคนในเพื่อไทยยังหายใจไม่ทั่วท้อง ขณะที่คดีที่ฝ่าย คสช.ถูกร้องก็ยังอยู่ในชั้นกระบวนการหาข้อมูล

ถึงคิวที่ กกต.ชุดใหม่จะต้องลงมือสะสางคดีที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ตามที่ “อิทธิพร” ประธาน กกต.ป้ายแดง ลั่นวาจาไว้