ป.ป.ช.เผยเบื้องหลัง ตีตกนาฬิกาหรู อ้าง หยุดสอบเพราะหลักฐานไปต่อไม่ได้-ตปท.ไม่ให้ข้อมูล

ป.ป.ช.เผยเบื้องหลัง ตีตกนาฬิกาหรู “บิ๊กป้อม” แค่สงสัยอาจเป็นของเพื่อน ยังไม่รู้เป็นของใคร อ้าง หยุดสอบเพราะต่างประเทศไม่ให้ข้อมูล

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการ ป.ป.ช.จัดกิจกรรมพบบรรณาธิการสื่อ โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตีตกไปว่า สำหรับการตรวจสอบนั้น กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยตอนแรกที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เรื่องนี้ไม่เข้าข่ายที่ต้องใช้ช่องทาง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2535 ดังนั้นจึงเหลือช่องทางการใช้ระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สิน คือ ขอข้อมูลผ่านทางสถานทูตในต่างประเทศ ด้วยวิธีทางการทูต แต่สถานทูตในประเทศต่าง ๆ จะมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการขอข้อมูล เนื่องจากไม่ใช่ความผิดทางอาญา ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิต 3 บริษัทตอบกลับมาตรง ๆ ว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่กรณีการทุจริต ส่วนบริษัทอีกแห่ง ตอบกลับมาว่า ขอให้ใช้วิธีการขอข้อมูลอย่างถูกต้องตามช่องทางกฎหมาย โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ แต่กรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต จึงไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมาวินิจฉัยอีกครั้งว่า เรื่องนี้สามารถใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ ได้หรือไม่ ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะใช้ช่องทาง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯจริง คงใช้เวลาเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน-1 ปี และคำตอบคงออมาแบบเดิมว่า กรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต ท้ายที่สุดเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยตามพยานหลักฐาน

นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุมวันลงมติคดีนาฬิกาหรู เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ถอนตัว กล่าวว่า พยานหลักฐานที่ปรากฏกับบุคคลที่ให้การ ทั้งหมดยืนยันว่า ตัวนาฬิกาเป็นของผู้เสียชีวิต (นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์) เมื่อตรวจสอบในเรื่อสภาพฐานะ หรือความเป็นอยู่ พบข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียชีวิตชอบสะสมเรื่องนี้ มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อให้เพื่อนฝูงหยิบยืมของ จากการตรวจสอบบ้าน ผ่านการร่วมมือจากทายาท แสดงให้เห็นถึงทุนทรัพย์ในส่วนของนาฬิกาหรูว่ามีถึง 137 เรือน โดยจำนวน 22 เรือนที่เป็นประเด็นก็รวมอยู่ในนี้ด้วย ในเมื่อไม่มีหลักฐานจากต่างประเทศ และข้อกฎหมายที่จะไปต่อได้ เพราะฉะนั้นเสียงข้างมากจึงเห็นว่า ควรจะหยุดเพียงเท่านี้ เพราะพยานหลักฐานไปต่อไม่ได้ ส่วนข้างน้อยเห็นว่า ยังมีบางประเด็นที่ตรวจสอบเชิงลึก และหารายละเอียดได้อยู่ จนอาจมีมูลไต่สวนได้ เป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกัน

นายปรีชา กล่าวว่า ส่วนข้อเปรียบเทียบกับกรณีการครอบครองรถโฟล์คตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจนเป็นที่ยุติแล้วว่า เงินและรถคันดังกล่าวเป็นของนายสุพจน์ นอกจากนี้ศาลฎีกา พิพากษาในคดีแพ่งด้วยว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากได้รับรถมาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จุดต่างคือ ลักษณะการครอบครองหรือได้มาต่างกัน คือ กรณีรถโฟล์คตู้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสุพจน์ครอบครองต่อเนื่องระหว่างปี 2552-2554 จนกระทั่งถึงวันทีเกิดเหตุการณ์ปล้นบ้าน และเงินที่จัดซื้อจัดหา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจที่ให้เงินไป พบว่า นายสุพจน์ เป็นผู้เลือกรุ่น เลือกสี และที่สำคัญครอบครองเป็นเวลาถึง 2 ปี 4 เดือน และเลขรถ ตรงกับเลขทะเบียนบ้านของนายสุพจน์ รวมถึงการบำรุงรักษาที่ใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นี่เป็นเรื่องที่นำคำพิพากษามาเทียบกับกรณีนาฬิกาหรู ที่พบว่า ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ยืนยันว่า ในการพิจารณา เป็นไปโดยอิสระ ไม่มีอะไรกดดัน ขณะเดียวกันหากชี้แจงมากก็อาจกลายเป็นการแก้ตัวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจกระทบกับครอบครัว ดังนั้นจึงกราบเรียนให้ทราบว่า พิจารณาด้วยพยานหลักฐานเท่าที่มี

“ยืนยันว่า ในการพิจารณา เป็นไปโดยอิสระ ไม่มีอะไรกดดัน ขณะเดียวกันหากชี้แจงมากอาจกลายเป็นการแก้ตัวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจกระทบกับครอบครัว ดังนั้นจึงกราบเรียนให้ทราบว่า พิจารณาด้วยพยานหลักฐานเท่าที่มี ส่วนข้างน้อยยืนยันว่าควรตรวจสอบต่อไป เพราะไม่มีอะไรชัดเจน ก็เป็นดุลพินิจของแต่ละคน” นายปรีชา กล่าว

ด้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งในเสียงข้างน้อยคดีดังกล่าว ระบุว่า ที่เป็นเสียงข้างน้อยเพราะรู้สึกว่าสามารถไล่ต่อได้ เพราะหากต่างประเทศบอกว่าไม่ให้ ก็จบ แต่วันนี้มันยังไม่ถึงจุดนั้น จึงคิดว่าเอาให้สุดสายเลยดีกว่า ทำให้ประชาชนสิ้นสงสัยในการวินิจฉัยของเรา แม้จะช้า เรายอมโดนด่า แต่เราสามารถชี้แจงได้ สิ่งที่พยายามทำให้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นาฬิกาทั้งหมดเป็นของใคร ยืมจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ของคนที่ให้ยืมแล้วเป็นของใคร มันยังมีคำถามต่อ นี่คือสิ่งที่นักบัญชีคิดและทำ ต้องตรงเป๊ะ อยากให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยว่า จะตีตกหรือไต่สวน ถ้าไต่สวนแล้วจะออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนทั้งหมด

น.ส.สุภา กล่าวว่า ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่านาฬิกาที่ครอบครองเป็นของผู้ที่ถูกอ้างหรือไม่ ข้อมูลไม่สุดสาย เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักแต่ละกลุ่ม แล้วมีมติยอมรับ จบก็จบ แต่ว่าในส่วนที่ความเห็นวินิจฉัยส่วนตนก็ยังมี ดิฉันจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน เพราะว่า การใช้ดุลพินิจในทุกเรื่อง ต้องมีมาตรฐาน ถ้าใช้ดุลพินิจที่ไม่มีเหตุและผล ไร้มาตรฐานอาจมีคำถาม แล้วกฎหมายนี้ มีสิทธิ์ให้ประชาชนตรวจสอบได้ เรียนว่า พวกเราทุกคนระวังกันหมด มีเหตุผลในการชี้แจง ดิฉันมีเหตุผลในส่วนของนักบัญชี แต่เคารพความเห็นกรรมการท่านอื่นเช่นกัน ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของ ป.ป.ช.

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์