สัมภาษณ์พิเศษ/ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
“พรรคภูมิใจไทย” ภายใต้การนำของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ไปไกลกว่าการเลือกตั้งปี 2554
พัฒนาจากพรรคภูมิภาค เป็นพรรคระดับชาติ ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต+ปาร์ตี้ลิสต์ครบทุกตำแหน่ง 500 คน
สารพัดนโยบายถูกจัดทำขึ้นให้ครอบคลุมกับ voter ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น
ตั้งแต่เศรษฐีไปจนถึงชาวสวนภาคเกษตร และไม่มองข้าม first new voter คนรุ่นใหม่ โลกยุคใหม่ digital economy ต่อยอดไปสู่การสร้างงานรูปแบบใหม่ ที่เข้ากับศตวรรษเทคโนโลยี
หนึ่งในทีมงานของ “อนุทิน” ที่วางแผนนโยบายในโลกยุคใหม่คือ “พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ” อดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ
โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มารับตำแหน่งโฆษกพรรคสีน้ำเงินพูดถึงนโยบายที่จะขายกับ voter ว่า
Work From Home ลดภาษี
อันดับแรก work from home การทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน สนับสนุนตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานอิสระ ต้องคิดมาตรการว่าบริษัทใดให้ความร่วมมือจะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งมีต้นแบบจากต่างประเทศ เช่น มีพนักงาน 100 คน มีกี่คนที่ให้ทำงานที่บ้านได้ ก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คิดจำนวนชั่วโมงทำงาน ในการลดภาษี หรือภาครัฐต้องแก้ไขระเบียบบางอย่างให้ข้าราชการทำงานที่ไหนก็ได้ ผลที่ได้รับโดยตรงคือ การเคลื่อนย้ายรถออกจากบ้านลดลง คนจะอยู่กับครอบครัวมากขึ้น คนแก่จะได้รับการดูแลในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น เพราะขณะนี้สื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำงานที่ไหนก็ได้ ตอบโจทย์กับปัจจุบัน
“เช่นเดียวกับ Thailand Sharing University ที่ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย แต่จะมีการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาให้คนในแวดวงวิชาการ หรือติวเตอร์ เปิดคอร์สการสอนต่าง ๆ ในแพลตฟอร์ม แล้วหารายได้จากยอดวิว โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดกรองเนื้อหาขึ้นมา อีกทั้งทำให้คนเรียนออนไลน์ได้รับการรับรองเท่ากับการจบมหาวิทยาลัย ที่ยอมรับในระบบ”
“ขณะที่คนขายของออนไลน์ แต่ไม่รู้จะเปิดกิจการอย่างไร เสียภาษีอย่างไร ขายเดี๋ยวโดนจับ แต่ตอนนี้คนจำนวนมากซื้อของบนออนไลน์ไม่ได้ซื้อข้างถนน ร้านอาหารเล็ก ๆ กลายเป็นไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า มานั่งรอซื้อของ ไม่มีคนมานั่งกิน ที่ผ่านมาเราไม่ได้สนับสนุนให้ถูกต้องตามกฎหมาย Grab Airbnb แอบ ๆ ทำเพราะไม่มีใครรู้ ฝรั่งจองห้องมาพักไม่ต้องเสียภาษี ประเทศไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว”
ปลดพันธนาการกฎหมายล้าหลัง
“ส่วนรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีตึกว่างเต็มไปหมด แม้แต่สำนักงานเขต ถ้ามี นโยบายขอความร่วมมือทำ coworking space ผมคิดว่าทำได้อยู่แล้ว เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตฟรี หรือการให้เอกชนมาร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันเอกชนร่วมมือกับรัฐบาลเยอะแยะ ทำไมทำเรื่องนี้ทำไม่ได้ ใครทำธุรกิจ coworking space ก็ให้แรงจูงใจเป็นพิเศษ”
“ดังนั้น ต้องจัดการเรื่องกระบวนการทางภาษี ปรับปรุงกฎหมายเก่า ๆ สมัย พ.ศ. 2400 ปลาย ๆ ที่ยังล็อกอยู่ เพราะเป็นเรื่องตลกที่คนเอาทรัพย์สินมาทำอาชีพแล้วผิดกฎหมาย จึงเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่จะสนับสนุนให้ถูกกฎหมาย”
“พ.อ.เศรษฐพงค์” บอกว่า ถ้าปลดล็อกได้จะทำให้เกิดตำแหน่งงานแปลกใหม่มากมาย เพราะอาชีพใหม่เกิดขึ้นบนโทรศัพท์ ถ้าสนับสนุนจะทำให้มีอาชีพตอบโจทย์โลกอนาคต เช่น เกิด e-Sport developer ถ้าเรารู้จักโปรโมตในกรอบที่เหมาะสม จะเกิดอาชีพพัฒนาซอฟต์แวร์ influencer youtuber ตำแหน่งงานพวกนี้เป็นแสน ซึ่งทำงานอยู่ในแอปพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม งานพวกนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ ถ้าทำให้ถูกต้อง รัฐก็จะได้เงินภาษีจากงานรูปแบบใหม่ ๆ
เขาเชื่อว่า นโยบายเหล่านี้จะตอบโจทย์คนกรุง-มนุษย์เงินเดือน และบรรดาคนรุ่นใหม่ประเภท first time voter
ดูดยักษ์ไอทีตั้ง HQ เมืองไทย
นโยบายปลีกย่อยของภูมิใจไทยที่จะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ อีกอย่างหนึ่งคือปั้นไทยให้เป็น head quarter ของยักษ์ไอที “เศรษฐพงค์” ฉายภาพว่า
“ระบบไฟเบอร์ออปติกใต้น้ำ หรือ gateway ของไทย สู้สิงคโปร์ไม่ได้ เพราะสิงคโปร์เอาทราฟฟิกไปวิ่งผ่านเขามาก โดยสนับสนุนให้ราคาต่ำที่สุด เพื่อที่จะทำให้ Google Alibaba Amazon ไปตั้งบริษัทที่เขา ซึ่งไทยสามารถทำตรงนี้ได้โดยภาครัฐโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะต้องส่งเสริม ต้องเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารลงทุนเคเบิลใต้น้ำ สร้าง gateway รวมทั้งระบบ cloud ในไทย ส่งเสริมให้ infrastructure ของประเทศเป็นทางผ่านที่สำคัญของภูมิภาค จะดึง Google Alibaba Amazon มาอยู่ที่ไทย
“ระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ SCC จะช่วยได้เยอะ หรือจะเอามาไว้ที่ EEC ก็สามารถทำได้ เพราะตอนนี้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) คุมทราฟฟิกทั้งหมด ถ้ารัฐยอมปลดล็อกให้มีการแข่งขัน ก็จะทำให้มีโอกาสย้ายทราฟฟิกจากสิงคโปร์มาได้ เพราะประเทศไทยภูมิประเทศดีกว่าสิงคโปร์ และยังใกล้จีน แต่สิงคโปร์ฉลาดในการต่อรองมากกว่า ซึ่งถ้าทำได้ก็จบเลย ไทยจะกลายเป็น hub เทคโนโลยี”