“ยิ่งลักษณ์”หนีหมายจับศาล จำคุกบุญทรงและพวกคดีข้าว

ศาลเลื่อนตัดสินคดีจำนำข้าว ออกหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” หลังเบี้ยวนัดไม่มาฟังคำพิพากษา อ้างป่วย สั่งริบเงินประกัน 30 ล้าน ด้านรองนายกฯประวิตร รับหนีไปต่างประเทศแล้ว เผ่นเข้ากัมพูชาก่อนไปสิงคโปร์ เครือข่ายขายข้าวจีทูจีโดนทั่วหน้าทั้งนักการเมือง พ่อค้าข้าว ข้าราชการ “บุญทรง” อ่วมศาลสั่งจำคุก42 ปี “ภูมิ สาระผล” 36 ปี เสี่ยเปี๋ยงเจอเพิ่มอีก 48 ปี พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1.6 หมื่นล้าน นักวิชาการจี้พรรคการเมืองปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือภาคเกษตร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันที่ 25 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องในคดีรับจำนำข้าว กับคดีที่นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 คน ถูกฟ้องในคดีทุจริตขายข้าวจีทูจีว่า มีความเคลื่อนไหวทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กลุ่มมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจฝ่ายจำเลย

เวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน นัดคู่ความ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ออกหมายจับ-เลื่อนตัดสิน 

อย่างไรก็ตาม เวลา 09.35 น.องค์คณะศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาความ โดยศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีในส่วนของ จำเลย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยอ้างว่าป่วยด้วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน และมีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยัน อีกทั้งอาการป่วยไม่ได้รุนแรงถึงขั้นมาฟังคำพิพากษาไม่ได้ ไม่เชื่อว่าป่วยจริง ขณะเดียวกันเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ให้ประกาศออกหมายจับ พร้อมยึดเงินประกันเต็มอัตรา (30 ล้านบาท) และนัดฟังคำพิพากษา 27 ก.ย. 2560 เวลา 09.00 น.

อ่านคำพิพากษาจีทูจี

ต่อมาเวลา 09.45 น. องคณะศาลฎีกาคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มีนายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะรวม 9 คน ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวกซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และนิติบุคคลกับกรรมการผู้มีอำนาจในนิติบุคคล รวม 28 ราย เป็นจำเลยที่ 1-28 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10,12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ, ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นเงิน 35,274,611,007 บาท ที่คิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าว 50,000 ตัน ที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับ

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญา ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาจึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ ทั้งนี้ อาจเป็นการมอบหมายให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์สำคัญของการทำสัญญาคือต้องการระบายสินค้าออกนอกประเทศเพื่อให้สินค้าไปตกอยู่แก่รัฐผู้ซื้อและต้องการเงินตราต่างประเทศ โดยแนวปฏิบัติในการซื้อขายแนวรัฐต่อรัฐเริ่มต้นด้วยการทาบทามการพูดคุยระดับรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ หรือการประสานงานทางการทูต หรือเป็นตัวแทนของรัฐที่เคยเป็นคู่ค้ากันมาก่อน ส่วนวิธีการซื้อขายด้วยการเจรจาระหว่างผู้แทนของแต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันราคากัน บางครั้งอาจตกลงซื้อขายในราคาต่ำกว่าตลาดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับการซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นจะดำเนินการโดย China National Cereals, Oil and Foodstuff Import Export Corporation (COFCO) รัฐวิสาหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงข้าว และแนวทางปฏิบัติท่านมา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเจรจาผ่าน COFCO เท่านั้น โดยประเทศไทยไม่เคยขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ยุทธศาสตร์ระบายข้าวเอื้อจีน

ภายหลังเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าว กรณีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้รวมถึงการขยายให้แก่รัฐวิสาหกิจด้วย และให้ใช้เกณฑ์ราคาขายแบบหน้าคลังสินค้า ซึ่งผิดไปจากแนวทางปฏิบัติในกรณีซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ส่อไปในทำนองว่าจัดทำยุทธศาสตร์การระบายข้าวเพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจมาทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐโดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้น นายภูมิได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับให้ขายข้าวแก่บริษัท กว่างตง จำกัด รัฐวิสาหกิจมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน 2 สัญญา

โดยสัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิดในสต๊อกของรัฐบาลไทย ปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาดทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นเงิน 9,717,165,177.90 บาท สัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวเหนียว 100 เปอร์เซ็นต์ ข้าวหอมมะลิหัก ปีการผลิต 2554/2555 ปริมาณ 2,000,000 ตัน ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย 1,294,109,767.87 บาท

ต่อมา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.พาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าวแทนนายภูมิ และได้ให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2555 ตกลงขายข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ปริมาณ 1,300,000 ตัน รวมเป็น 2,300,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย 5,694,748,116.09 บาท นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบให้ทำสัญญากับบริษัท ห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตกลงซื้อขายข้าวเหนียวเอวัน ปริมาณ 65,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 162,665,563.30 บาท

ปกปิดการทำสัญญา-มีพิรุธอื้อ 

โดยข้อตกลงตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ คือ วิธีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็ค รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อสามารถนำข้าวไปขายต่อประเทศที่สามเพื่อการพาณิชย์ได้ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มชนิดและปริมาณข้าวเรื่อย ๆ

โดยไม่มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ภายหลังการซื้อขายทั้ง 4 ฉบับ ปรากฏว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศหลายร้อยฉบับ และรับมอบข้าวไปโดยผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนไทยแล้วนำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือส่งออกไปประเทศอื่น อีกทั้งมีการปกปิดการทำสัญญาโดยไม่ได้รายงานต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี

ร่วมมือเสี่ยเปี๋ยงทุจริต

กระบวนการดังกล่าวกระทำโดย นายภูมิ นายบุญทรง นายอภิชาต จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) และพวกร่วมทำยุทธศาสตร์การระบายข้าว เพื่อนำบริษัท กว่างตง จำกัด และบริษัท ห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑล มาขอซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการเอาเปรียบแก่กรมการค้าต่างประเทศ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลง รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อข้าวก็จะไม่ยอมมารับข้าวตามสัญญา แต่มาขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในราคาต่ำลงกว่าสัญญาเดิม

โดยเฉพาะนโยบายการระบายข้าวที่ดำเนินการโดยนายบุญทรง ไม่เปิดประมูลขายข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวในท้องตลาดขาดแคลน ผู้ประกอบการค้าข้าวไม่สามารถหาซื้อข้าวในท้องตลาดได้ จำต้องไปหาซื้อข้าวจากกลุ่มบริษัทและพนักงานของนายอภิชาต ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศที่ซื้อข้าวต่อจากนายอภิชาตกับพวกนั้น ศาลเห็นว่าซื้อโดยไม่ทราบว่าเป็นข้าวที่มาจากสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

จำคุก ภูมิ 36 ปี-บุญทรง 42 ปี

“ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึง 21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี มีความผิดตามฟ้อง โดยให้จำคุกนายภูมิ 36 ปี นายบุญทรง 42 ปี นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 40 ปี นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 32 ปี นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ 24 ปี นายอภิชาต 48 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 15 คน

ส่วนจำเลยอื่นศาลลงโทษจำคุกลดหลั่นตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด และพิพากษาให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 นายอภิชาต และนายนิมล หรือโจ รักดี ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาจำเลยอื่นให้รับผิดขอชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 จำเลยที่ 22-28


ศาลยกคำร้องขอประกัน

ภายหลังมีคำพิพากษา จำเลยได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 195 ให้คู่ความยื่นคำอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีนั้น ๆ โดยเบื้องต้นจำเลยได้ขอประกันตัวต่อศาล แต่ศาลได้ยกคำร้อง และนำตัวไปฝากขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

นโยบายต้องรับผิดชอบต่อสังคม

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คดีนี้เป็นการพิจารณาการทุจริตทางนโยบายแต่ไม่ได้แปลว่านโยบายจำนำข้าวผิด ในอนาคตนี่เป็นจังหวะจะปฏิรูปนโยบาย หากพรรคการเมืองมาลงสมัครรับเลือกตั้งควกำหนดนโยบายที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องระบุถึงประโยชน์ของการใช้นโยบายเท่านั้น แต่จะต้องเสนอ พรบ.งบประมาณต่อรัฐสภา หรือพรบ.กู้เงิน ขณะเดียวกันภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง เข้าใจบทบาท และต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินนโยบายของรัฐบาลว่า มีความรับผิดต่อสังคมมากน้อยเพียงใด มีการทุจริตหรือไม่ เป็นต้น

ปชป.ชูนโยบายเกษตรยั่งยืน 

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลจากคดีนี้จะเชื่อมโยงกับการวางนโยบายของนักการเมืองที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการรับจำนำสินค้าเกษตรในราคาที่สูงกว่าตลาด เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่า จะนำไปสู่ความเสียหาย และการทุจริตที่สูงมาก ผลประโยชน์ไม่ถึงมือเกษตรกรเต็มที่ ทั้งยังมีกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการ

โรงสีโวยส่งออกกดราคา 

นายมานัส กิจประเสริฐ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า การรับจำนำเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เช่นเดียวกับประกันรายได้ จำนำยุ้งฉาง หากใครที่เข้ามาแล้วไม่กล้าออกนโยบายก็ต้องดำเนินการตามกลไกตลาดเสรี แต่กลไกตลาดของอุตสาหกรรมข้าวไม่ได้แข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ เพราะอำนาจต่อรองของโรงสีน้อยกว่าผู้ส่งออก โรงสีที่เข้มแข็งมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ส่งออกข้าวหนุนประกันรายได้ 

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาชิกผู้ส่งออกมีเพียง บจ.เจียเม้ง และ บจ.เค เอ็ม ซี อินเตอร์ไรซ์ (2002) จากสมาชิก 300 กว่าราย จึงถือว่าไม่ใช่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ ส่วน บจ.อินดิก้า ไม่ใช่สมาชิกสมาคม

“สาเหตุที่ราคาข้าวลดลงขณะนี้มาจากผลผลิตดีมาก แต่ดีมานด์ไม่ดีไม่มีออร์เดอร์ใหม่ ยอดส่งออกล่าสุดถึง 7 ส.ค.ส่งออกได้ 6.6 ล้านตัน ต่ำกว่าอินเดียที่ส่งออก 6.7 ล้านตัน แม้จะมีการเจรจาขายจีทูจีใหม่ แต่ราคาข้าวไทยสูงกว่าจากบาทแข็ง จึงแข่งขันไม่ได้”

“ยิ่งลักษณ์” หนีไปสิงคโปร์

ขณะเดียวกัน สื่อหลายสำนักตรวจสอบพบว่า อดีตนายกฯไม่ได้อยู่ในบ้าน มีกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่คืนวันที่ 23 ส.ค.โดยมีข้าราชการระดับสูงอำนวยความสะดวกในการหลบหนีผ่านทางเส้นทางชายแดนไทย-กัมพูชา โดยจุดหมายปลายทางคือประเทศสิงคโปร์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม คาดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีไปต่างประเทศจริง โดยฝ่ายความมั่นคงไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะหลบหนี และยืนยันว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ หรือเปิดช่องทางให้หลบหนี โดยจะตรวจสอบ และติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาดำเนินการตามกฎหมาย