“เพื่อไทย” เตือน กกต. อย่าคำนวณ งอกที่นั่ง ส.ส.ให้ 11 พรรคเล็ก ชี้ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรค พท. พร้อมด้วย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิก แถลงถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้สูตรคำนวณเพื่อหา ส.ส.ที่พึงมีของระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อจัดสรร ส.ส.ให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก ว่าตามข่าวที่ปรากฏว่าจะมี 11 พรรคการเมืองขนาดเล็กได้ที่นั่ง ส.ส.จำนวน 1 ที่นั่ง ทั้งที่คะแนนนิยมจากการเลือกตั้งได้เพียง 20,000-30,000 คะแนน จากคะแนนค่าเฉลี่ยกลางที่คำนวณแล้ว ส.ส. 1 คน จะต้องได้คะแนน 71,000 คะแนน เนื่องจากเป็นการคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส. ผิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ตนยืนยันว่าวิธีคิดของ กกต.ที่งอก ส.ส.ให้ 11 พรรคเล็กนั้นผิด เพราะเมื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงมีตามสูตรของกฎหมาย กรณีที่จะปัดเศษให้กับพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งจะมีเฉพาะกรณีที่ได้จำนวนไม่ถึง 150 ที่นั่ง แต่จากสูตรที่ผมพิจารณาพบว่ากรณียึดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 จำนวนที่นั่งทุกพรรครวมกันจะเท่ากับจำนวน ส.ส. 152 เสียง ดังนั้นต้องคำนวณเพื่อให้ได้จำนวนไม่เกิน ขณะที่สูตรที่งอก ส.ส.ให้ 11 พรรคเล็ก ตนยืนยันว่าจะเป็นการคำนวณที่ได้ ส.ส.เกินจริง

นพ.ทศพรกล่าวอีกว่า ตนเตรียมขอนัดพบกับ กกต.ในช่วงบ่ายวันนี้ (9 เมษายน) เพื่อนำสูตรคำนวณที่ได้ไปปรึกษาหารือและต้องการยืนยันว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่งอก ส.ส.ให้ 11 พรรคเล็กนั้นผิดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าสูตรคำนวณที่ผิดดังกล่าวหวังผลเพื่อช่วยบางพรรคการเมืองได้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้มีโฆษกของบางพรรคการเมืองระบุว่าอยู่ระหว่างเจรจา 11 พรรคเล็กที่ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง เพื่อรวมเสียงตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรค พท.

นพ.ทศพรกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ตนเตรียมเข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาที่มีนายอานนท์ นำภา ทนายความนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเป็นแกนนำ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่ออธิบายสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงมี โดยนำสูตรการคำนวณเคลื่อนที่ไปอธิบายเพื่อให้ความรู้กับประชาชนด้วย

เมื่อถามว่าสูตรที่คำนวณดังกล่าวเป็นสูตรเดียวกับของพรรค พท.ที่เตรียมยื่นกับ กกต.หรือไม่ นพ.ทศพรกล่าวว่า มีหลักการเดียวกัน แต่จะแตกต่างในรายละเอียดว่าด้วยวิธีการคิดในรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนกรณีที่มีคำอธิบายจาก กกต.และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าการคิดปัดเศษนั้นยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียงนั้น ตนมองว่าเป็นคำอธิบายที่รับฟังไม่ได้ เนื่องจากการจัดสรรให้ 11 พรรคเล็กได้ ส.ส.ทั้งที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์พึงมี ส.ส. จะทำให้คะแนนของพรรคใหญ่หายไป เช่น คะแนนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ควรได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21 ที่นั่ง จะหายไป 2 ที่นั่ง หรือคะแนนนิยมหายไป 1.4 แสนคะแนน, พรรคอนาคตใหม่ ที่ควรได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 57 ที่นั่ง จะหายไป 7 ที่นั่ง หรือคะแนนนิยมหายไป 5 แสนคะแนน เป็นต้น เพราะต้องนำคะแนนส่วนดังกล่าวไปปันให้กับ 11 พรรคเล็ก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์