ปิยบุตร รุกทหาร-ต้านทุนผูกขาด รวบมือสู้จัดรัฐบาล….แพ้เป็นฝ่ายค้าน

พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สถาปนาได้เพียง 1 ปี ได้เสียงในสภามากกว่า 80 เสียง มีว่าที่ ส.ส.ในสภามากเป็นอันดับ 3

สถานะการเมือง อนค.พลิกจากรุกมาเป็นรับ ทั้งพรรค-แกนนำ ถูกดำเนินคดีรายวัน

หนึ่งในนั้นที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค เขาเปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในวันที่ สารพัดคดีรุมเร้า

สถานการณ์ขณะนี้จากรุกกลายเป็นตั้งรับ

คาดไว้แล้วมาช้าเร็วโดนอยู่แล้ว แต่มาเร็วไปหน่อย แต่ไม่ได้ตั้งรับ ในหน้างานเราต้องแก้ปัญหาที่ต้องแก้ แต่ด้านหนึ่งการแก้ปัญหาแต่ละครั้งก็คือการยกระดับการทำงานขึ้นมาอีก เช่น ผมโดนคดีก็ปรับวิธีถือโอกาส educate (สอน) คนไปเลยว่ากฎหมายดูหมิ่นศาลเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหนทำให้แตกต่าง เพราะที่ผ่านมานักการเมืองโดนคดีเขาไม่มานั่งเลกเชอร์กฎหมายว่าดูหมิ่นศาลคืออะไร

@ คิดว่าเหตุใดถึงเจอคดีสารพัด  

ความต้องการของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ต้องการจัดการให้เรียบร้อย เวลาเขาจะเชือดพรรคการเมืองหรือนักการเมือง มันไม่ใช่เรื่องกฎหมาย และของ อนค.ยิ่งไม่มีเรื่องอะไรให้เข้าข้อกฎหมาย

 @ เกือบทุกคดีสุ่มเสี่ยงที่จะพลาด จะพลิกจากรับเป็นรุกอย่างไร

จำนวนปริมาณคดีที่พรรคโดนทั้งในแง่ตัวพรรคและตัวบุคคล ถ้ามีใจเป็นธรรมเพียงพอคงวิเคราะห์ได้ว่าผิดปกติอย่างยิ่ง พรรคการเมืองที่อายุยังไม่ถึงปีลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย กลับมีเรื่องร้องเรียนรายวันตั้งแต่วันจดทะเบียนพรรควันแรก จนกระทั่งวันนี้ โดนทุกวัน สาธารณชนก็ประเมินได้ว่าเหตุใดถึงโดน เนื้อคดีหลายเรื่องเป็นข้อหาที่เบาหวิวไปหมด

@ ให้น้ำหนักคดีการต่อสู้คดีหมิ่นศาลอย่างไร

สังคมแบบประชาธิปไตย ศาลไม่ใช่เป็นองค์กรที่อยู่สูงที่สุด เป็นองค์กรตุลาการที่อยู่ระนาบเดียวกับองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร การที่บอกว่าศาลมาตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ได้แปลว่าศาลมาขี่คอสภา ขี่คอนายกฯ แต่ต้องอยู่ในระนาบเดียวกัน ถ่วงดุลกัน ผมเข้าใจดีว่าที่ผ่านมาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยเท่าไหร่ ที่เวลาเรื่องเกี่ยวกับศาลไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กล้านำเสนอเรื่องอะไรเลย

ก่อนหน้านั้นผมวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลมาตลอด ถ้ามีคำวินิจฉัยศาลที่ไม่สอดคล้องตามหลัก มีประเด็นให้วิเคราะห์ก็เป็นเรื่องปกติ ด้านหนึ่งสื่อมวลชนต้องช่วยกัน ถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ กดองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งลงทุกวัน ทั้งคำว่า หมิ่น จาบจ้วง หมิ่นศาล มีการบอกว่าทำผิดกฎหมายแล้วไม่ยอมรับผิด แต่สิ่งที่ผมทำไม่ได้ผิดและยังไม่มีใครชี้ด้วยซ้ำว่าเรื่องที่ผมทำผิด แต่เกิดการเชื่อไปแล้วว่าผิด

@ เพราะ อนค.คนต้านก็เยอะ คนหนุนก็สูงพรรคอยู่ตรงกลางระหว่างเขาควาย

ไม่.. นับตั้งแต่วันที่ อนค.ตั้งพรรค อย่าไปคิดว่าตั้งขึ้นมาแล้วหัวรุนแรงจะล้างนั่น ลบนู่น เปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่ อนค.นำเสนอทั้งหมดเป็นเรื่องปกติ ถามง่ายๆ ว่าถ้าเชื่อว่าสังคมนี้เป็นประชาธิปไตย จะเอาทหารมาอยู่เหนือการเมือง เหนือรัฐบาลพลเรือนไหม เอาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไหม เอาอำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางไหม คนที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่เอาเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่ อนค.เสนอเป็นเรื่องปกติในทางสังคม เพียงแต่เราอยู่กับความผิดปกติจนคุ้นชิน และวันหนึ่งคนที่ออกมานำเสนอว่าจะให้กลับมาเป็นปกติ กลายเป็นว่าสิ่งที่เสนอผิดปกติ รุนแรงเกินไป

ผมอยากให้มองมุมกลับด้วยซ้ำ ฝ่ายที่ต่อต้าน อนค.แล้วบอกว่าหัวรุนแรง คนๆ นั้นก็หัวรุนแรงอีกแบบหนึ่ง จึงมองเรื่องปกติทางการเมือง มองเรื่องการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การกระจายอำนาจ ปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยสอดคล้องกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องรุนแรง ก็เพราะอยู่ในขั้วที่รุนแรงอีกด้านหนึ่ง แน่นอนเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจความคิดกับสังคม

@ หลังของ อนค.พิงมวลชน แต่คนที่มาสู้กับ อนค.มีหลังพิงอำนาจที่แข็งแรง จะยื้อกันไปอย่างนี้

ผมพยายามสื่อสารกับสังคม รวมทั้งสื่อสารกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม อย่ากังวลใจกับ อนค.ว่าเข้ามาแล้วจะกวาดล้าง ทำให้คุณไม่มีที่อยู่ที่ยืน น่ากลัวไปหมด แต่สิ่งที่เสนอคือ 14 ปีที่ผ่านมา จะทำแบบนี้ทำต่อไปอย่างนี้ไม่ได้ ควรจะต้องเริ่มต้นใหม่ ทำแบบใหม่ สิ่งที่ อนค.นำเสนอ ก็คืออนาคตของเพื่อร่วมชาติ ไม่ว่าคิดแบบไหนก็ตามก็คือเพื่อนร่วมชาติ

วิธีการคือพูดคุยกัน แล้วเดินหน้าไปสู่อนาคตแบบใหม่ด้วยกัน แต่ถ้าบอกว่าไม่รู้ล่ะ จะอยู่แบบนี้ จะเป็นแบบนี้ จะครองอำนาจแบบนี้ไม่แบ่งสันปันส่วนอำนาจให้คนอื่น วิธีคิดแบบนี้ต่างหากที่อันตรายต่อสังคมไทย เพราะชนชั้นนำปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดไม่เหมือนกัน อยากจะเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป

ดังนั้น มาตกลงร่วมกันก่อนไหมว่าระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจมา 4-5 ปี เอาทหารออกไปจากการเมือง เรื่องความเหลื่อมล้ำให้ถ่างออกไปอย่างนี้ไม่ได้ เรื่องอำนาจที่กระจุกตัวที่กรุงเทพฯ ทำต่อไม่ได้ รวมถึง รัฐธรรมนูญ 2560 ทุกคนก็เห็นฤทธิ์เดชของมันแล้วว่าใช้ต่อไปมีแต่จะถึงทางตันและวิกฤต คนเขียนรัฐธรรมนูญก็คือคนเดียวกับที่เขียนรัฐธรรมนูญ 2534 แล้วสุดท้ายจบอย่างไร

พรรคการเมืองทุกพรรคถ้าสมัครสมานกัน อยู่ได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย ทหารไม่มีทางเข้ามาการเมืองได้ถ้าพรรคการเมืองผนึกกำลังกันแน่น อย่าให้พรรคการเมืองไหนไปสนับสนุนทหาร แล้วทหารจะเข้ามาได้อย่างไร

@ ฝ่ายพลเรือนเสียงยังไม่ดังพอ ที่จะยื้อกับฝ่ายสนับสนุนทหาร  

ตัวเลขจากการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่าฝ่ายที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจมีจำนวนคนเลือกขนาดไหน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ถึงทางตัน ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 ตัวเลขออกมาแบบนี้ต้องตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ที่ไม่จบเพราะ ปล่อยให้ กกต.มีเวลา 60 วัน ถึงรับรองผล ไม่มีการเลือกตั้งที่ไหนทิ้งเวลาถึง 2 เดือน กว่าจะรู้ว่าใครเป็น ส.ส.ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีสูตรคำนวณ ส.ส. แต่กฎหมายออกแบบไปให้ห้วงเวลา 60 วันถึงรับรองผล เลือกตั้งครั้งนี้จึงประหลาดที่สุด คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลดทอนอำนาจประชาชน

ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 มีกระบวนการการออกแบบรัฐธรรมนูญบางอย่างที่จะบอกว่า เมื่อกากบาทแล้วผลของการกากบาทนั้น จะไม่แสดงออกซึ่งเจตจำนงค์ของประชาชนทันที จะมี กกต. มาดูว่าจะมีใบเหลือง ใบแดงหรือไม่ ปัจจุบันมีใบส้มเพิ่มขึ้นอีก ในทางสัญลักษณ์การทำงานทางความคิดแสดงออกให้เห็นชัดและความคิดนี้จะถูกกดเข้ามาเรื่อยๆ

ตอนที่ผมสังเกตการณ์เลือกตั้งครั้งแรกตอน ป.4 เลือกเสร็จแล้วคนรู้แล้วว่าใครจะได้เป็นนายกฯ หรือ พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคความหวังใหม่ 2 เสียง ก็ปล่อยให้ความหวังใหม่ตั้งรัฐบาล เมื่อก่อนมีการสร้าง tradition (ประเพณี) นี้ขึ้นมาแล้วเริ่มหายไปหลังรัฐประหาร 2549 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งต่อมาพรรคพลังประชาชนก็ใจตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะโดนใบเหลือง ใบแดงกี่คน ทำให้เสียงลดไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง ความคิดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

และยังมี ส.ว.250 คน ที่หัวหน้า คสช.เลือกมาอีก ทำให้หลังเลือกตั้งรอบนี้เสร็จ จัดรัฐบาลยังไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าใครเป็นนายกฯ ทางเศรษฐกิจเสียหาย รู้แค่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) จะเป็นนายกฯ ต่อไปแน่นอน จนกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ เลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนนัยยะสำคัญเรื่องหนึ่ง พลังของประชาชนฝ่ายที่ไม่เอาสืบทอดอำนาจมีพลังเพียงพอ แต่รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้พิกลพิการ

@ ต่อสู้ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการใหญ่ๆ โดดเดี่ยวแค่ไหน

ไม่มีความโดดเดี่ยวเลย มีกำลังใจเต็มเปี่ยมมาก เพราะ อนค.ตั้งมาได้เกือบๆ ปี รณรงค์เสียงตอบรับเยอะมากมีคนเห็นคล้อยกับเรา และที่สำคัญคือ เราสามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้จริงๆ มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งสนับสนุนรัฐประหารมาก่อนวันนี้เขาเลือก อนค. มีคนที่ชุมนุม กปปส.ก็เลือก อนค. ภาคตะวันออกซึ่งทุกคนทราบดีว่าฐานคะแนนเป็นอย่างไร อนค.ก็ได้ ส.ส.มา แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามอยากจะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

ผมเข้าใจคนที่ไปสนับสนุนรัฐประหารบางช่วงบางตอนดีว่า เขาผิดหวังกับการเมืองในระบบผู้แทน ขอเชิญทหารเข้ามาจัดการ จะไปกล่าวหาว่าพวกนี้สลิ่มไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้ จะทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองข้างอย่างเดียว ผมเชื่อว่าคนที่สนับสนุนจำนวนมากไม่ได้อยากสนับสนุนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มทั้งหมด แต่ต้องไปนั่งวิเคราะห์ว่าทำไมคนกลุ่มนี้สนับสนุนทหาร เพราะเขาเกิดความรู้สึกว่าเลือกตั้งแบบเดิมก็ได้แบบเดิมตลอด

พอราตั้ง อนค.ขึ้นมา ต้องไปเชื้อเชิญคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในร่องในรอยให้ได้ 1 ปี้นี้คิดว่าทำสำเร็จพอสมควร การเมืองคือเรื่องเอาชนะกันทางความคิด ถ้าคิดอย่างเดียวว่าจะแบ่งคนออกเป็นสองฝ่าย กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของเผด็จการทหาร ถ้าตีกันทหารจะเข้ามา

ที่ อนค.เข้ามา เพื่อขออนุญาตขอขีดเส้นใหม่แทนการขีดเส้นแบบเดิม ที่แบ่งสีเสื้อกันคนละกลุ่มคนละพรรค แต่ผมกำลังชวนให้ขีดเส้นว่า เป็นคนธรรมดาเหมือนกันหมดที่เดือดร้อนจากโครงสร้างของประเทศนี้ ตอนเราไปหาเสียงพี่น้องชาวประมงภาคใต้ เรารู้อยู่แล้วว่าเขาเชียร์พรรคอะไรมาก่อน แต่ ณ วันนี้ เขาบอกว่าไม่เอาเผด็จการทหารแบบนี้ ผมไปเจออีสานก็ไม่เอาทุนผูกขาดกินรวบทั้งประเทศ ภูเก็ตอยากได้จัดตั้งมหานคร เชียงใหม่ก็อยากตั้งมหานคร ซึ่งเป็นฐานคะแนนใครก็ทราบดี

ลองจัดวางความคิดใหม่ รวบรวมความต้องการของประชาชนขึ้นมาให้ได้ แล้วอธิบายให้ได้ว่าความต้องการที่ประชาชนที่ประชาชนได้มาเกิดจากโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ นี่คือโจทย์ที่ต้องแก้ แต่ถ้าบอกว่าเหนือสีนี้เชียร์พรรคนี้ ใต้เชียร์พรรคนี้ แบ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทหารก็เข้ามากิน และที่ครองอำนาจมาได้ 5 ปี เหตุหนึ่งก็เป็นแบบนี้

@ ผลการเลือกตั้งบอกได้ว่าสามารถละลายความขัดแย้ง

ให้จัดชุดความคิดใหม่ ชอบพรรคคนละพรรคได้ ชอบนักการเมืองคนละคนได้ เป็นเรื่องปกติ แต่ชุดหนึ่งที่เราต้องสู้กันแท้ๆ คือเรื่องเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมายาวนาน เรื่องทุนผูกขาดกินรวบทั้งประเทศ เรื่องอำนาจรวมศูนย์ รัฐบาลพลเรือนอยู่ใต้กองทัพ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ ส่วนข้างล่างถ้าแบ่งโจทย์สีนั้นสีนี้แบบเดิม ผลที่ตามมาคือ พอข้างนี้เริ่มเสียท่า ข้างนี้เริ่มดึงทหารเข้ามา อีกข้างหนึ่งบอกว่าไม่ได้

ผมยืนยันตลอดว่า อนค.ไม่ต้องการสลายสีเสื้อ ไม่ต้องการบอกว่าทุกคนกลับมาปรองดองกัน เลิกแล้วต่อกัน แต่จะกระตุกเตือนความคิดว่าสังคมไทยแบ่งแบบเดิมไม่ได้ เพราะทหารจะเข้ามา กลับมาสู่ระบบปกติ ตั้งรัฐบาลตามปกติ พรรคไหนแพ้เป็นฝ่ายค้าน รณรงค์ให้กลับมาเป็นรัฐบาลให้ได้ ถ้าเราเดินหน้าแบบนี้ได้ ประเทศชาติไม่ได้เสียหาย เต็มที่ที่สุดคนที่เสียหาย คือคนที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็ควรออกไปได้แล้วเพราะอยู่มาหลายปีแล้ว

@ ประเมินความพร้อมสู่รัฐสภา และไทม์ไลน์การเมือง

อนค.ไม่ได้เกิดมาแค่เลือกตั้งครั้งเดียว ที่ผ่านมามักเห็นว่าพอเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองจะไม่ทำอะไร และกลับมา reboot ขึ้นมาใหม่เมื่อเลือกตั้ง พรรคการเมืองกลายเป็นพรรคสภา ดังนั้น เมื่อ อนค.ตั้งขึ้นมา คนที่อยู่ในสภา ก็ต้องทำงานในสภา แต่พรรคต้องทำกิจกรรมต่อ อนค.ยืนยันตัวเลข ส.ส. 87 เสียง เราคำนวณแล้วว่าทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดคือเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาได้

ดังนั้น ร่างกฎหมายที่จะเสนอต่อสภาคือ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมี รมว.กลาโหม เป็นประธานที่เหลือ เป็น ผบ.เหล่าทัพนั่งเป็นกรรมการทั้งหมด เพื่อตั้ง ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ เราจะเสนอแก้ เพราะถ้าไม่แก้จะบริหารประเทศไม่ได้เลย เพราะหันไปเจอกองทัพเอาปืนจี้หลังได้ทุกวันให้ออกจากอำนาจ

หรือ ร่างการกระจายอำนาจ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรื่องการแก้ภาษีทุนผูกขาด แน่นอนสุดท้ายอาจไม่ผ่าน ไม่ได้เสียงข้างมากในสภา และยังไม่ผ่านการกลั่นกรองของ ส.ว.แต่สิ่งที่จะได้คือ มีร่างกฎหมายปักในสภา เกิดการดีเบตในสังคมให้ถกเถียงกันต่อ ถ้าคิดว่าเสนอไปก็ไม่ผ่าน ก็เท่ากับ ส.ส.ไปนั่งเฉยๆ รอยกมืออย่างเดียว

จะรื้อฟื้นเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎรกลับมาให้ได้ ให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นสภาผู้แทนราษฎร ให้เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรไทยในอดีต ถ้าฟื้นได้คนก็ไม่เกลียดการเมือง ไม่กลัวการเมือง เมื่อคนเชื่อมั่นในการเมืองก็ไม่ต้องไปกวักมือเรียกทหารเช้ามาอีก การกวักมือเรียกทหารทุกครั้งเพราะคนเสื่อมศรัทธาการเมือง ซึ่ง ส.ส.ของ อนค.หน้าใหม่หมด จะจัดสัมมนากระบวนการนิติบัญญัติ ตั้งกระทู้ถามทำอย่างไร

@ อนค.กาปฏิทินโรดแมปสภาไว้แบบไหน

ถ้าวันที่ 9 รับรองภายใน 15 วันต้องเปิดประชุมสภา อยู่ในวันที่ 20 กว่าๆ การตั้งรัฐบาล การมีนายกฯ จะอยู่ราวๆ ต้น มิ.ย.ตามโรดแมปของรัฐบาลและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อเริ่มมีสภา อนค.ก็จะเสนอการร่างแก้ไขกฎหมายต่างๆ ทันที

ส่วนเหตุปัจจัยที่จะไม่เป็นไปตามโรดแมปยังดูไม่ออก ถ้าผลเลือกตั้งผลออกมาเป็นแบบนี้ กกต.ประกาศรับรองผล พรรคการเมืองที่ผนึกกำลังสืบทอดอำนาจโดยไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. ถ้าทำได้สำเร็จก็จะหยุดการสืบทอดอำนาจได้ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราก็เป็นฝ่ายค้านเท่านี้เอง…

จะทำให้เห็นว่าเป็นฝ่ายค้านได้มาตรฐาน มีคุณภาพอย่างไร สามารถทำงานร่วมกับพรรคอื่นได้ในเรื่องที่เห็นตรงกัน ถ้าเรื่องเห็นไม่ตรงกันก็ดีเบตถกเถียงกัน อีกงานหนึ่งคือจะจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อ ตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะหาสมาชิกพรรคให้ได้ 1 แสนคน จะระดมทุนขายของที่ระลึก ประมูลสินค้ารับบริจาค

เสียงที่ อนค.ได้อยู่ในสภาตอนนี้พร้อมทำหน้าที่ได้ทุกบทบาท เมื่อได้ที่ 3 ก็ให้เกียรติพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาล และท้ายที่สุดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือ ช่องทางรัฐธรรมนูญ 272 เปิดทางนายกฯ คนนอกเข้ามาก็ว่าไปตามกระบวนการ อนค.ยืนยันว่าจะเป็นฝ่ายค้าน

@ ตัวพลิกผันอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไม่รับคำร้อง กกต.เรื่องคำนวณสูตรบัญชีรายชื่อ

ศาลรัฐธรรมนูญอีกไม่นานคงมีคำวินิจฉัย ถ้ารับคำร้องก็ต้องวินิจฉัยให้เร็ว เพราะเงื่อนเวลาล็อกเอาไว้ แต่ถ้าไม่รับคำร้อง เป็นหน้าที่ กกต.ว่าจะใช้สูตรไหนในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ถ้า กกต.รับรองผล 95 เปอร์เซ็นต์ได้เมื่อไหร่ต้องเปิดประชุมสภาทันที ซึ่งเชื่อว่าหลังการรับรองผล 9 พ.ค.มีเวลา 10 กว่าวันที่พรรคการเมืองเจรจากันเต็มที่ว่าจะตั้งรัฐบาลอย่างไร ซึ่งคิดว่าทันการเปิดสภา

@ 7 พันธมิตรสัตยาบัน ที่เรียกกลุ่มตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยยังเหนียวแน่น

แต่ทุกคนประเมินออกว่ามี ส.ว.แบบนี้อยู่การเป็นรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก น้อยที่สุดเราหาเสียงไว้ว่าหยุดการสืบทอดอำนาจ ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเรารับอาณัติจากประชาชนที่เลือกเราเข้ามาแล้ว ถ้าเรารับอาณัติแล้วบอกว่ายังไงก็จัดตั้งรัฐบาลแพ้จะอยู่เฉยๆ…ไม่ได้ ต้องทำให้ดีที่สุด แพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน

@ สไตล์การทำงานของ อนค.

เป็นพรรคการเมืองแบบประชาธิปไตย ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น และเป็นพรรคการเมืองจริงๆ แบบสากลต้องมี พรรคแบบนี้เคยมีความพยายามจะตั้งในประเทศไทยแต่ไม่สำเร็จ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยทำหน้าที่ส่งคนไปรับตำแหน่ง ส.ส. รัฐมนตรี แล้วพรรคก็หมดบทบาทกลับมามีบทบาทอีกทีตอนเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่แท้จริง การส่งคนลงเลือกตั้งเป็นเพียงหนึ่งภารกิจเท่านั้น พรรคการเมืองมีหลายเรื่องต้องทำงานกับสมาชิกและประชาชนที่สนับสนุนเราตลอดเวลา

@ ทำอย่างไรไม่ให้ ส.ส.ไหลไปตามวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า

ต้องทำงานทางความคิดทั้งกับประชาชน สมาชิก และ ส.ส.ในพรรค แน่นอนเรามาจากแม่น้ำหลายร้อยสาย แต่ที่ร่วมกันคือทนไม่ไหวกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้วอยากเปลี่ยนแปลงเป็นจุดเริ่มต้น และทำงานความคิดกันแล้วจะพัฒนาเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนวัฒนธรรมแบบเก่า เรื่องการต่อรองเรื่องตำแหน่ง ทวงเงินค่าเลือกตั้ง ประโยคที่ผมใช้อธิบายอยู่เป็นประจำว่า วันใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกแบบนี้ ให้คิดถึงวันแรกที่เดินเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรค อาสาเป็นผู้สมัคร ส.ส.รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งร่วมกัน เช่น ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าพรรคนี้จะไม่มีระบบเงินเดือน ส.ส. จะไม่มีระบบที่เจ้าของพรรคจ่ายเต็มที่ไม่อั้น..ไม่มี และเราต้องการพรรคการเมืองในฝัน พรรคการเมืองแบบใหม่จริงหรือไม่ ถ้าต้องการจริง…คำถามแบบนี้จะไม่เกิด

ตัวผมยังไม่ทราบว่าแต่ละท่านจะพอใจไม่พอใจอย่างไร แต่ต้องทำความเข้าใจกัน และในท้ายที่สุดมีคนไม่พอใจขึ้นมาก็เป็นเรื่องปกติในทางการเมือง เมื่ออยู่บ้านหลังนี้แล้วเริ่มรู้สึกอึดอัดไม่ตรงแนวทางก็จากกันด้วยดี

@ เลวร้ายที่สุดคือแยกทางกัน

อธิบายให้เข้าใจว่าจุดยืนพรรคเป็นอย่างไร ตัวอย่างหนึ่ง เช่น การใส่ซองงานบุญ งานบวช เราทำงานความคิดในพรรคว่านี่คือจุดเริ่มต้นของคอรัปชั่น ต้องเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ แล้วไปหาหัวหน้ามุ้งที่จ่ายคุณได้ ถามว่าใช่พรรคการเมืองในฝันที่เราต้องการหรือไม่ ต้องทำงานทางความคิดแบบนี้ ผมคัดคนที่ชนะเลือกตั้ง ส.ส. 4 คนมาพูดบนเวที เช่น ว่าที่ ส.ส.เขต 6 เชียงราย ใช้งบ 2 แสนกว่าบาทในการรณรงค์หาเสียง เขาใช้วิธีเดิน 300 กว่ากิโลเมตร ถ้าเรารู้ว่าข้อจำกัดแบบนี้ก็ต้องคิดวิธีใหม่ นี่คือการ change และ disrupt การเมืองไทย

ผมเชื่อจริงๆ ว่าต้องปรับพฤติกรรมด้วยกัน แต่อีกด้านหนึ่งต้องคุยกับประชาชนว่าอยากได้นักการเมืองที่ดีไหม ถ้าอยากได้ ก็ต้องไม่ขอเงินนักการเมือง แต่ต้องถามว่าจะทำอะไรให้กับประเทศ เรื่องนี้ค่อยๆ เปลี่ยนและคิดว่าจะดีขึ้น  แต่ถ้าวันหนึ่งอึดอัดก็จากกัน..ไม่มีปัญหา

……………………………..

ความรัก “ปิยบุตร” จาก 1 แตกเป็น 2 และสไตล์เลขาธิการพรรค “สีส้ม”

วัฒนธรรมการเมืองไทยตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน ตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” จัดว่าต้องเป็นบุคคลประเภทต้องมี “บารมี” พอตัว อาจสำคัญพอๆ กับ “หัวหน้าพรรค”

เลขาธิการพรรคในละครการเมืองไทย มีนิยามหลากหลาย ทั้ง พ่อบ้าน – กระเป๋าตังค์ – มือประสานสิบทิศ

เจรจาต่อรองทั้งดีลลับใต้ดิน – บนดิน หากพรรคชนะเลือกตั้งก็อาจมีสถานะเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”

ตำแหน่งเลขาธิการพรรคในสายตามนุษย์การเมือง อาจต้องทำได้ทั้งเรื่อง “ขาว” และ “เทา”

แล้วสไตล์เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นเป็นอย่างนั้นหรือไม่ “ปิยบุตร” ตอบว่า  “อะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องทุจริต แลกเปลี่ยนสินบน ยืนยันว่าไม่ทำ”

“ด้านหนึ่งเราต้องการเปลี่ยนการเมืองไทยให้ได้ สกัดไม่ให้เผด็จการทหารฉวยโอกาสเข้ามายึดอำนาจบ่อยๆ นักการเมืองก็ต้องปรับ ถ้านักการเมืองสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ไม่ได้ วันข้างหน้าก็วนลูปเดิมตลอดเวลา ดังนั้น จึงให้ความสำคัญตั้งแต่วันก่อตั้ง พยายามเซ็ตอุดมการณ์นี้ให้ได้ ถ้าอุดมการณ์ฝังลงไปได้จริง ใครมาเดินตามก็เดินตามนั้น เราต้อง change ต้องคิดสิ่งที่ควรเป็น”

“ถ้าคิดถึงภาพเลขาธิการพรรคในอดีตหลายๆ ท่าน แต่ละคนเป็นอย่างไร เมื่อมาเป็นแล้วเราต้องทำแบบเดิม อย่างนี้ก็ไม่ได้ change ส่วนเรื่องการพูดคุยเจรจาต่อรอง การพูดคุยกับคนทุกคนผมว่าทำได้ และเคยทำมาแล้ว ผมยืนยันว่าพรรคการเมืองเป็นคู่แข่งไม่ใช่ศัตรู เมื่อแข่งจบก็เป็นเรื่องที่พูดคุยกันระหว่างพรรคการเมือง”

“ถามว่าผมเป็นเลขาธิการพรรคสีไหน เป็นส้มแล้วกัน ตามพรรค” ปิยบุตร ยิ้มตอบ

กว่า 1 ปี ที่ “ปิยบุตร” ทิ้งกระดานเลกเชอร์ จากนักวิชาการ มาคลุกฝุ่นเป็นนักการเมือง ขึ้นเหนือ ล่องใต้เดินสายปราศรัยทั่วประเทศ จนพา ส.ส.เข้าสภาได้อย่างน้อย 80 ที่นั่งในสภา เขายอมรับว่า “ชีวิตเปลี่ยน”

“ที่เปลี่ยนมากที่สุดคือ ความเป็นส่วนตัวจะลดน้อยถอยลง ไปที่ไหนคนจะรู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งจะเอาเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี ล่าแม่มดกลับมา ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องระวังมากขึ้น อย่างจะแวะกินข้าวต้ม กินเบียร์สักขวดก่อนเข้าบ้าน ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบเดิมเริ่มทำไม่ได้ ทำใจไว้ล่วงหน้า”

“เรื่องวิถีชีวิตเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับงานในหน้าที่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ตระหนักทบทวนตลอดเวลาคือเรื่องความคิดว่ายังเป็นตัวของเราอยู่ไหม ผมตรวจสอบทุกวันว่ายังไม่เปลี่ยน ยังสนใจเรื่องงานวิชาการ ช่วงหยุดสงกรานต์ที่ผมไปหาภรรยาที่ฝรั่งเศส เป็นเวลาที่ผมได้กลับไปอ่านหนังสืออีกรอบแบบหนักๆ ทั้งวัน อ่านเสร็จตามนิสัย..คันมือ อยากโพสต์เล่าให้คนอื่นฟัง หลังๆ ก็เริ่มโพสต์ยากขึ้นแล้ว เดี๋ยวสำนักข่าวต่างๆ นำไปขยายความ ซึ่งเสียดายแทนที่จะนำมาเล่าให้คนได้อ่าน”

@ คนรอบข้างเป็นห่วงบ้างไหม?

เป็นโชคดีของผมที่ไม่มีคนค้าน บางคนเป็นปัญหาครอบครัวเลย แต่ของผมภรรยาผมเข้าใจดีมาก และชีวิตที่ต้องอยู่คนละประเทศ ถ้าหากเราต้องอยู่ร่วมกันในประเทศเดียวกัน ที่เดียวกัน ภายใต้การบังคับให้คนอีกคนหนึ่งต้องทิ้งสิ่งที่ตัวเองอยากทำ คิดว่าไม่แฟร์

เช่น ผมอยู่เมืองไทยคุณต้องกลับมาอยู่กับผม และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยสักแห่ง แต่เขาไม่สามารถไปในระดับนานาชาติได้ โอเค..วันแรกอาจจะดี แต่วันข้างหน้าทะเลาะกันก็จะต้องโยนเรื่องนี้ว่าเธอมาบังคับฉัน เช่นเดียวกัน ถ้าผมทิ้งงานที่นี่หมดแล้วไปอยู่ฝรั่งเศส ไปเป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย วันแรกๆ อาจโอเค แต่หลังๆ หากคิดว่าทำไมไม่กลับประเทศอย่างที่เราทำก็ต้องทะเลาะกันอีก

ดังนั้น ผมพูดอยู่บ่อยๆว่า ความรักแบบโรแมนติกแบบเดิมคือจะเอาสองสิ่งมาผนวกกันให้เป็นหนึ่ง แต่ความรักของผมที่คิด ต้องแตกให้เป็น 2 ให้ได้ ที่ผ่านมาต้องรวม เปลี่ยนชีวิตทุกคนมารวมให้เป็นหนึ่ง แต่อันนี้คือ 2 ดังนั้น เขาก็ใช้ชีวิตของเขา เราก็หาเวลามาเจอกันแทน ซึ่งผมดูไปดูมาลงตัวดี ลองคิดดูถ้าเขาต้องมาอยู่กับผมช่วงที่ผมหาเสียง กลับบ้านตี  1 ตี 2 ทุกวันแล้วเขานอนรออยู่ที่บ้าน คงไม่ใช่ครอบครัวที่ดีเท่าไหร่ นี่คือโชคดีของผมที่คนรอบข้างเข้าใจ