“ปิยบุตร” เล็งขอคุ้มครองชั่วคราวบ้าง หากศาลคุ้มครอง 27 ส.ส.พปชร. เทียบคดี “ธนาธร” เร็วเหมือนขึ้น “ชินคันเซน”

กรณีถือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือหุ้นสื่อ ยังเป็น “วาระร้อน” ต่อเนื่อง ระหว่างพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ ส.ส.ของพรรค 66 คน เข้าชื่อยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 41 คน เข้าข่ายถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ โดยมี ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมอยู่ 27 คน

ขณะที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้า อนค.ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากเหตุเดียวกัน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลง-แจงยิบ 6 ประเด็นในกรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อในส่วนของ อนค.และ 41 ส.ส.

ประเด็น 1 ตั้งแต่เริ่มต้น 2562 มีแนวทางตัดสินของศาลกรณีถือหุ้นสื่อ 2 เรื่องใหญ่ 1.เกณฑ์ดูว่าถือหุ้นสื่อจริงหรือไม่ ในคำพิพากษาศาลฎีกามี 2 คดีหลัก คือ กรณีนายภูเบศร์ เห็นหลอด อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และนายศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคประชาชาติ ให้พิจารณาจากหนังสือวัตถุประสงค์ของบริษัท หากพิจารณาบริคนห์สนธิถ้าเกี่ยวกับวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถือว่าทำหนังสือพิมพ์จริงๆ โดยไม่ได้ไปดูว่าบริษัทห้างร้านประกอบกิจการสื่อจริงหรือไม่ จึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส. 2.เมื่อมีประเด็นเกิดขึ้นและร้องไปยังศาลตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 82 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับนายธนาธร เมื่อ กกต.ร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรับคำร้องและมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวด้วยเหตุผล 1.มีเหตุอันควรสงสัยถือหุ้นจริงๆ 2.หากปล่อยให้ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ต่อไปจะเกิดปัญหาทางกฎหมายและเกิดการคัดค้านต่างๆ ตามมา จนเกิดอุปสรรคการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร

@ เปรียบคดีธนาธร เหมือนขึ้นรถไฟความเร็วสูง

ทั้งสองเรื่องทำให้ต้องไล่เรียงว่า กรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นไปแล้วและกรณี 41 ส.ส.จะยึดบรรทัดฐานแบบไหน เพราะมี 4 กรณีที่มีข้อเท็จจริงคล้ายคลึงกัน 1.กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 2.กรณี 4 รัฐมนตรี 3.กรณีของนายธนาธร 4.กรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกรณีนายดอน กกต.มีการยื่นคำร้องในวันที่ 1 พ.ค. 2560 ใช้เวลาพิจารณา 386 วัน ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาว่าจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดอีก 70 วัน สุดท้าย ศาลมีคำวินิจฉัยว่า นายดอนไม่ผิด

กรณี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. มีการไปร้องต่อ กกต.เมื่อ 23 ม.ค. และ 19 ก.พ. 61 กกต.ใช้เวลาทั้งหมด 355 วัน ก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ และศาลใช้เวลาพิจารณา 75 วันรับคำร้องและไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนถึงวันนี้ยังไม่มีการวินิจฉัยใดๆ ออกมา ส่วนกรณีที่นายธนาธร มีการร้อง กกต.25 มี.ค.2562 กกต.ใช้เวลา 51 วัน ก็ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ คือระยะเวลาการทำงานของ กกต.ที่ทำงานแตกต่างกันชัดเจนที่สุด เปรียบเทียบของนายดอนและกรณี 4 รัฐมนตรี เหมือนขึ้นรถไฟชั้น 3 ของธนาธรเหมือนนั่ง รถไฟความเร็วสูงเตเชเวของฝรั่งเศส หรือชินคันเซนของญี่ปุ่น

@ สั่งหยุดทำหน้าที่เป็นความ “บังเอิญอย่างร้ายกาจ”

ประเด็น 2 “ปิยบุตร” กล่าวว่า เมื่อไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีนายดอน และกรณี 4 รัฐมนตรีศาลไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว แต่กรณีนายธนาธรศาลได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวในวันที่ 23 พ.ค. ก่อนที่จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พ.ค. ตามด้วย 25 พ.ค.เป็นการประชุมสภาครั้งแรกเลือกประธานสภาและรองประธานสภาบังเอิญอย่างร้ายกาจ

กรณี 41 ส.ส.ที่ถือหุ้นสื่อในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นผู้แทน ปธ.สภาใช้เวลา 8 วัน จึงจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประธานสภาไม่มีดุลพินิจในการตรวจสอบ แต่ดูแค่ว่าคนครบหรือไม่ ศาลรับคำร้อง 12 มิ.ย.62 ยังรออยู่ว่าศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องและสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ผ่านมา 9 วัน หากเปรียบเทียบกับนายธนาธรใช้เวลา 7 วัน ส่วนการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ทราบว่าจะใช้บรรทัดฐานเดียวกับดอน 4 รมต. หรือกรณีนายธนาธร

กรณีการถือหุ้นสื่อที่มีการสงสัยกรณีของนายธนาธร ไม่เหมือนกับกรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งบอกว่าไม่เหมือนกันจริงๆ เพราะกรณีของนายธนาธรโอนหุ้นเรียบร้อยหมดแล้วตั้งแต่ 8 ม.ค.2562 ดังนั้นเมื่อวันสมัครเลือกตั้งไม่มีหุ้นในสื่อ และวันที่เป็น ส.ส.ไม่มีหุ้นในมืออีกแล้ว แต่กรณี 41 ส.ส.วันสมัครและวันเป็น ส.ส.ก็ยังถือหุ้นสื่อ

กรณีของนายธนาธรแม้ กกต.ไม่เชื่อ บอกว่ายังโอนไม่จริงต้องว่ากันในการต่อสู้คดี แต่ชัดเจนว่า 41 ส.ส.ถือหุ้นอยู่จริงๆ มีการประชุมผู้ถือหุ้นกันอยู่ แต่มีการโต้แย้งว่าบริษัทของเขาไม่ได้ทำสื่อ เป็นแค่ข้อๆ หนึ่งในเอกสารบริคนห์สนธิ แต่นายภูเบศร์ กับนายคมสัน บริษัทคนเหล่านั้นไม่มีบริษัทที่ทำสื่อจริงๆ เช่นกัน ตกลงประเทศนี้จะเอามาตรฐานอย่างไหนกันแน่ ถ้าหากยึดกรณีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง อย่างไรเสียก็ต้องวินิจฉัยว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่ประกอบการสื่อ

@ สั่ง 27 ส.ส.พปชร.หยุดปฏิบัติหน้าที่สะเทือนรัฐบาลแน่

ประเด็นที่ 3 ส่วนที่มีการโต้แย้งว่ากรณี 41 ส.ส.ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลา 7 วันในการรับคำร้องไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก กกต.เหมือนกรณีของนายธนาธรนั้น “ปิยบุตร” โต้แย้งว่า กรณีนายธนาธร กกต. ดูเพียงการนำคำร้องของนายคนหนึ่งที่ไปก็อปปี้จากสำนักข่าวแห่งหนึ่งเขียนลงในคำร้อง และ กกต.ดูแค่ทะเบียนผู้ถือหุ้น (บอจ.) 5 และดูบริคนห์สนธิ ไม่ได้ไต่สวนละเอียดเลย และคณะกรรมการ กกต.ชุดเล็กยังไต่สวนไม่เสร็จ จะบอกว่า กกต.ไต่สวนละเอียดนั้นไม่น่าใช่ ส่วน 41 คนเราตรวจสอบละเอียดมากกว่า กกต.ด้วยซ้ำ กระทั่งค้นหาได้ว่าถือหุ้นอยู่จริงๆ จึงไม่มีสาระสำคัญว่า กกต.ตรวจมาเรื่องจะไปเร็ว และ 41 ส.ส.ต้องให้ช้าหน่อยและไม่ใช่สาระสำคัญ

ประเด็นที่ 4 ส่วนข้อโต้แย้งของ พปชร. ที่จะยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ ส.ส.27 คนของ พปชร.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะ 27 ส.ส.กำลังทำเรื่องสำคัญอยู่ “ปิยบุตร” อ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ว่า

“หากปล่อยให้นายธนาธร ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเกิดปัญหาทางกฎหมาย เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภา แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสิ่งที่นายธนาธรจะเข้าประชุมสภาเป็นเรื่องสำคัญ แต่กรณีของ พปชร.กำลังบอกว่าเขากำลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญจะสั่งหยุดไม่ได้ ถ้าว่ากันแบบนี้มาตรฐานอยู่ตรงไหน ถ้าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันก็ต้องสั่งหยุดเหมือนกัน

“โดยเฉพาะ 27 ส.ส.ของ พปชร.อยู่ใน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เสียงปริ่มน้ำส่งผลต่อการเปลี่ยนรัฐบาลได้เลย ดังนั้น ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางแบบเดียวกัน”

นอกจากนี้ ก่อนจะมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เคยกรณีเรียกคู่ความไปชี้แจงก่อนจะมีคำสั่งให้หยุดหรือไม่หยุด มีเพียงกรณีเดียวคือของนายดอน แต่สำหรับนายธนาธรไม่มีโอกาสชี้แจง ต้องดูว่าจะให้โอกาส 41 ชี้แจง ถ้าให้โอกาส 41 ส.ส.ได้ชี้แจงจะตั้งคำถามว่าทำไมไม่ให้นายธนาธรได้ชี้แจง

@ ชี้คำร้องผิดไม่ถึงกับจำหน่ายคดี

ประเด็นที่ 5 เทคนิคที่ทนาย พปชร.หยิบยกขึ้นมาสู่คือ คำร้องของ 66 ส.ส.ที่ยื่นต่อศาลทำผิดรูปแบบโดยต้องทำเป็น “คำร้อง” ไม่ใช่ “หนังสือ” และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญจำหน่ายคดี

“ปิยบุตร” กล่าวในกรณีนี้ว่า ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 41 ระบุองค์ประกอบคำร้องต้องเป็นอย่างไร เช่น โดยต้องเป็นหนังสือ กำหนดเรื่องเหตุที่ร้องศาล กำหนดมาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีแบบอย่างไร กำหนดคำขอที่จะขอจากศาล ซึ่งในหนังสือได้ระบุทุกอย่างทั้งหมดแล้ว ไม่ต้องดูว่าหัวกระดาษเป็นคำร้องหรือไม่ ถือเป็นองค์ประกอบคำร้องเรียบร้อยแล้ว

“แต่ถ้าคำร้องไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 ศาลจะเรียกให้มาแก้ การเป็นคำร้องหรือหนังสือไม่เป็นผลถึงจำหน่ายคดี เป็นรเองหยุมหยิมมาก”

ประเด็นที่ 6 กรณีที่ 27 ส.ส.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวน 2 ครั้ง ขั้นที่ 1 ขอให้ศาลเปิดการไต่สวนว่าจะรับคำร้องหรือไม่ 2.ให้เปิดการไต่สวนว่าจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ใน พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวนว่าจะรับคำร้องไว้หรือไม่ เช่นเดียวกับไม่มีกฎหมายให้ศาลเปิดการไต่สวนว่าจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตอนที่จะรับคำร้องหรือไม่นั้น ในมาตรา 49 เขียนเพียงว่า ศาลอาจตั้งองค์คณะเล็ก 3 คนพิจารณา หรือ ชุดใหญ่ 10 คนมาดูก็ได้ ถ้าศาลไม่ตั้งองค์คณะเล็กแต่ใช้องค์คณะใหญ่พิจารณารับคำร้อง ศาลต้องรับคำร้องภายใน 5 วัน แต่ขณะนี้ผ่านไป 9 วันแล้ว ยังไม่รู้คดีอยู่ตรงไหน ถ้าใช้คณะใหญ่ถือว่าเกิน 5 วันแล้ว

@ เล็งขอคุ้มครองชั่วคราวบ้าง

ประเด็นที่ 7 กรณีที่ พปชร.เตรียมขอยื่นคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ 27 ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ “ปิยบุตร” แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 คดีที่ร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือคุณสมบัติต้องห้าม วิธีการ “ชั่วคราว” มีกรณีเดียว คือเมื่อผู้ร้องร้องไปว่ามี ส.ส.ขาดคุณสมบัติ ศาลต้องปลดออก ระหว่างที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ถ้ากลัวว่าเป็น ส.ส.ต่อไปจะเสียหาย ศาลจึงใช้วิธีชั่วคราวให้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีกรณีที่กลัวล่วงหน้า และไม่มีช่องทางให้ร้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากกรณี 27 ส.ส.ของ พปชร.ได้รับการคุ้มครองชั่วคราว นายธนาธรได้คุ้มครองชั่วคราวก็ขอสงวนสิทธิขอบ้าง

“ไม่ได้ตั้งคำถามต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือศาลรัฐธรรมนูญแต่ตั้งคำถามต่อกระบวนยุติธรรมในประเทศไทย อนค.ไม่ต้องการอะไร นอกจากขอเรียกร้องให้มีมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ขอแค่นี้ สิ่งที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันต้องได้รับปฏิบัติแตกต่างกัน อำนาจขององค์กรทั้งหลายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ตั้งอยู่บนกฎหมายที่เขียนให้เขามีอำนาจตัดสิน ไต่สวน ตัดสินแล้วจบ และยังมีกฎหมายห้ามละเมิดอำนาจศาล กฎหมายไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น แต่ความยุติธรรมจะเกิดจริงได้ตั้งอยู่บนความความศรัทธาของประชาชนที่มองเข้าไปต่างหาก ต่อให้เขียนกฎหมายว่ายุติธรรม แต่อยู่ที่สาธารณะชนจะร่วมกันตัดสิน องค์กรยุติธรรมต้องสร้างมาตรฐานแบบเดียวกันให้เกิดขึ้น” นายปิยะบุตรกล่าว