กกต.ออกตัว ‘คดียุบอนาคตใหม่’ ไม่ปะทะโซเชียล เลี่ยงครหา ‘ล้วงลูก’

การตัดสินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญลงดาบ “ยุบ” พรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้เงินของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท เข้าข่ายนิติกรรมอำพรางอันขัดต่อมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ กำลังเข้าสู่จุดสิ้นสุด

ศาลรัฐธรรมนูญให้พยานบุคคลฝั่งอนาคตใหม่ 17 ปาก ได้ยื่นคำชี้แจงภายในวันที่ 12 ก.พ. และศาลจะมีคำวินิจฉัยในอีก 9 วันถัดมา ตรงกับ 21 ก.พ. 2563 

เป็นอีกคดีของพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องเข้าสู่หลักประหารยุบพรรค ต่อจากคดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ศาลยกคำร้อง และเป็นอีกคดีที่มาจากการเขี่ยลูกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อจากยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ “ธนาธร”
จากเหตุถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งเข้าข่ายเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ ท้ายที่สุดหัวหน้าพรรคไพร่หมื่นล้านไม่ได้ไปต่อในสภา

ทั้งกรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ทั้งกรณีหุ้นสื่อ ทำให้ “อนาคตใหม่” ฟ้อง กกต.ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 2 คดีซ้อน และข้อหาความผิดถึงการทำหน้าที่วินิจฉัยคดีของ กกต.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หนทางของ 7 เสือ กกต.ไม่ต่างจากหนทางของอนาคตใหม่ที่ต้องเดินขึ้นสู่ศาล “แผนเกลือจิ้มเกลือ” ถูกนำมาใช้ ! หนำซ้ำยังถูกสังคมโซเชียลมีเดียจับผิด จับพิรุธหลายกระทงตั้งแต่มารับตำแหน่ง ประเดิมหน้าที่เป็น “กรรมการเลือกตั้ง” นัดแรก แทนที่จะเป็น “ผู้ตัดสิน” เกมเลือกตั้ง แต่กลับ “ถูกตัดสิน” จากสาธารณชน-คนการเมือง ตำหนิการทำหน้าที่ของ กกต.มากมาย

กระทั่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยังถูกครหาว่าคำนวณเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง มีการตั้ง #กกต.โป๊ะแตก ฯลฯ

หากล้วงลึกหัวอกของ “อิทธิพร บุญประคอง” กุมบังเหียนเป็นประธาน กกต.ในวันที่ถูกรุมกระหน่ำแต่ไม่ยอมปริปากตอบโต้ เพราะเหตุใดเขาบอกว่า กกต.ปัจจุบันมีอำนาจเปรียบเหมือนตำรวจ อัยการ และศาล เพราะมีอำนาจสืบหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พิจารณาสำนวนและให้ใบเหลือง-ใบแดง

“ดังนั้น หากตำรวจที่มีหน้าที่สืบหาคนร้าย หากพูดไปคนร้ายจะไหวตัว ส่วนอัยการหากพูดมากไปก็จะกระทบต่อสำนวนคดี เช่นเดียวกับศาลซึ่งไม่มีหน้าที่ออกมาพูด”

“กกต.จึงเลือกที่จะไม่ตอบโต้-พูดมาก โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย แม้ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ตั้งคำถามบ่อยครั้งว่า ทำไม กกต.ถึงอธิบายมติต่าง ๆ สั้น ๆ แค่ 5 บรรทัด”

“พูดมากก็ไม่ได้ ทั้งที่ปกติเป็นคนพูดมาก ตอนที่เป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่กระทรวงการ
ต่างประเทศ เรื่องใด ๆ ก็ตาม พูดได้ง่าย เพราะมีประสบการณ์ตั้งแต่ยังเป็นข้าราชการระดับเด็ก ๆ จนกระทั่งเป็นอธิบดี สามารถตัดสินได้ว่าควรจะพูดแค่ไหน แต่ถ้ามาพูดที่ กกต.ถ้าผิด แล้วไม่ใช่ จะเกิดความเสียหายตามมา”  

“ในโลกโซเชียลมันเหมือนกับว่าใครเอาหมุดมาวางก่อน คนที่เกี่ยวข้องแก้ข่าวได้ แต่ไม่ได้อะไรเลย ได้แค่ 0-2 เป็นเรื่องปกติในโลกโซเชียล คนต้องการมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อข่าวนั้นโดยเร็ว บางครั้งก็ลืมไปว่าต้องมีการกรองก่อนหรือเปล่า ดังนั้น ถ้าเขาจะว่าเรา อย่าไปคิดอะไรเลย เรามาทำงานอย่างนี้ ก็เฉย ๆ”

“เวลาไปพูดหรือบรรยายที่ไหนมักพูดเสมอว่า การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในโลกโซเชียล การเลือกตั้งปี’54 มือถือยังไม่ถึงครึ่ง แต่เดี๋ยวนี้มีใครไม่มีมือถือบ้าง พอ กกต.พูดปุ๊บ ไปทำให้สังคมวูบวาบหรือเปล่า ต้องตระหนักว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ ต้องตระหนักว่าอย่าไปโกรธ อย่าไปเกลียด เราต้องปรับตัว ปรับใจ”

ด้าน “เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” กกต.อีกหนึ่งรายที่มาสมัครเป็น กกต.เกือบทันควันหลังพ้นตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขาบอกทำนองเดียวกับ “อิทธิพร” ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้อำนาจกับ กกต.มาก เป็นทั้งศาล ตำรวจ และอัยการ การทำงานของ กกต. ทำหน้าที่เป็นบอร์ด และ กกต.คนหนึ่งสามารถระงับการเลือกตั้งได้หากเกิดทุจริตในเขตเลือกตั้ง ดังนั้น การจะไปพูดถึงงานในด้านต่าง ๆ เหมือนในอดีตจึงไม่เหมาะสม

อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดบทบาทเลขาธิการ กกต.ให้คุมการทำงานของสำนักงาน กกต. หากจะไปก้าวก่ายงานของเลขาธิการจะถูกกล่าวหาว่า “ล้วงลูก”

ด้านเลขาธิการ กกต. “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” ผู้รับบทในฐานะ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” หนึ่งในอำนาจของนายทะเบียน คือ ชงเรื่อง “ยุบพรรค” ให้บอร์ด กกต.ตัดสินเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ “ปิยบุตร” ต่อสายโทร.หา แต่หลังจากโดน กกต.ฟาดไปหลายคดีเขาก็ไม่โทร.หา “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” อีกเลย

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” อธิบายสภาพความรู้สึกจากการทำงานอย่าง
เข้าใจง่าย ว่า “ทุกวันนี้พยายามทำงาน เวลาทำงานทำในแต่ละวันจบก็คือจบ แล้วไม่เก็บไปคิด อย่าไปเครียดกับมัน”