4 ขุนพล “ทักษิณ” ดันกลุ่ม “CARE” เคลื่อนออกจากอุโมงค์วิกฤติเศรษฐกิจ-โควิด

คิกออฟอย่างเป็นกับกลุ่มแคร์ “คิด เคลื่อน ไทย” ที่มี 4 ขุนพลข้างกาย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี   นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

ผนึกกลุ่มนักคิด นักเขียน สื่อมวลชน สถาปนิก เป็นปรากฏการณ์รวมตัวฝ่าย “ก้าวหน้า” สร้างวาระทางเลือก ทางรอดใหม่ให้กับสังคม ในยุค New normal เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 17 มิ.ย. 2563

บนเวทีเปิดตัว มีการฉายภาพอนาคตข้างหน้าของไทยใน 150 วัน ผ่านเวทีสัมมนาในหัวข้อ  “150 วันอันตราย ทางเลือก หรือทางรอด” 3 เฉด 3 โทน จาก 3 กูรูเศรษฐกิจ นักออกแบบระดับประเทศ 

“บรรยง พงษ์พาณิช” ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร แต่ไม่ได้เป็น “สมาชิกกลุ่มแคร์” เริ่มต้นกล่าวว่า  ปกติจะไม่ฝักใฝ่ด้านการเมือง สำนึกทุกวันว่าเป็นประชาชนธรรมตัวเล็กๆ ไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่หวังว่าจะสามารถช่วยให้โลกดีขึ้นได้บ้าง

ตลอดชีวิตี่ผ่านมาถือคติดว่า ถ้าใครทำอะไรที่ดีมีประโยชน์ผมเห็นด้วย และมีศักยภาพที่จะรับใช้ได้ ก็รับใช้ตลอดมา ไม่เลือกกลุ่ม เลือกพรรค

บรรยง ยกวิกฤตที่ทั้งโลกเจอคือ เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดประเทศหนึ่ง

ข้อกังวล ความถดถอยทางเศรษฐกิจ น่าจะ -9 เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้ลบปีเดียว รุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ปีต่อมากระเตื้องเป็นบวก อีก 3 ปี ก็กลับไปยืนอยู่จุดเดิม แต่ครั้งนี้ยังมองไม่ออก

ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกไปแล้ว เช่น มาตรการทางเศรษฐกิจ เยียวยา ฟื้นฟู รักษาเสถียรภาพ ออก พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้าน ทำให้ตัวหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจหดลง ตัวบนเพิ่ม ตัวหารลด หนี้สาธารณะมีโอกาสขึ้นไปชนเพดาน แต่สำหรับตน หนี้สาธารณะไม่น่ากังวล เพราะไทยมีวินัยการเงินการคลังมาต่อเนื่องยาวนาน เขาเอาไปรวมหนี้รัฐวิสาหกิจ ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน

ส่วนตัวกังวลมากที่สุด รัฐจะขยายตัวอย่างมโหฬาร ผมเสรีนิยมใหม่ คือเชื่อว่าระเทศจะดีได้รัฐต้องมีขนาดบทบาทลอำนาจจำกัดทำเฉพาะที่จำเป็น และปล่อยให้ตลาดทำหน้าที่ แต่พอเกิดวิกฤตรัฐจะขยายตัวแน่นอน  รัฐควรที่จะถอนตัวออกไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

เรียงจากซ้าย – ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง, บรรยง พงษ์พาณิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร

4 โอกาสไทย หลังโควิด

บรรยง มองโอกาสที่ประเทศไทยน่าจะมี 4 เรื่อง

  1. รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ปฏิบัติการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รั่วไหลเยอะ เป็นโอกาสที่ดี หนี้สาธารณะของรัฐที่เพิ่มพูนขึ้น แก้ไม่ยาก แค่เอารัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ขายออกไปให้ตลาด นอกจากได้เงินคืนหนี้สาธารณะแล้ว หนี้สาธารณะก็หายไปด้วย

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่แอบโอนหุ้น 3% ของรัฐวิสาหกิจที่กำลังพังพาบ เชื่อไหมหนี้สาธารณะหายไป 3 แสนล้าน โดยที่ไม่ต้องทำอะไร ทั้งที่เป็นการเลี่ยงบาลี ไม่ได้โอนจริง ยังอยู่ในอำนาจของรัฐและนักการเมืองทุกอย่าง” 

  1. ให้มีโมเดลทดลองกระจายอำนาจ  พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท จัดสรรงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1 แสนล้านบาท จากวงเงิน 4 แสนล้านบาท ไปให้ท้องถิ่นบริหารจัดการแบ่งตามจำนวนคน หรือ แบ่งตามรายได้ประชาชาติต่อหัวตามคนในท้องถิ่นตามรายได้ผกผัน ให้ไปเป็นก้อน ไม่ต้องให้ข้าราชการคิด ตรวจสอบควบคุมเอง อะไรคือปัญหา ให้เขาตรวจสอบควบคุมเอง ดีกว่าโผล่ขึ้นมา 4 หมื่นโครงการอย่างรวดเร็ว 8 แสนล้าน ทุกคนก็รู้ว่าเป็นโครงการในลิ้นชัก รีบเสนอ ตอบโจทย์ยากว่าแก้ปัญหาให้ประชาชนหรือเปล่า
  2. จัดสรรงบประมาณ จัดสรรงบประมาณ 0.5% ของงบ 4 แสนล้านบาทที่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ 2 พันล้าน เสนอโครงการตรวจสอบ 1.9 ล้านล้านอย่างไร โดยให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบ
  3. ถือโอกาสเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวิกฤตจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเรื่องพวกนี้ได้

“ถ้าหยิบดัชนี 3 อย่างคือ ดัชนีความมั่งคั่งที่วัดโดยจีดีพีต่อหัวต่อปี  ดัชนีความโปร่งใส่ และดัชนีความเป็นประชาธิปไตย จะพบว่า 20 ประเทศแรกในโลกซ้ำกันหมด สะท้อนว่าประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยมาก ประเทศไหนที่โกงน้อย ประเทศนั้นก็มั่งคั่งยั่งยืน”

อย่าซ้ำรอยเชอร์ชิลล์

นายบรรยง  “เรียกร้องว่า ไหน ๆ เป็นวีรบุรุษปราบโควิดได้ ฝ่าฟันวิกฤตมา ดึงทุกอย่างกลับมามอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประชาชน  การวางล็อก กติกา วางคนไว้มากมาย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใช้มาแล้ว 3 ปี รู้แล้วว่าทำไม่ได้ และไม่ได้ทำด้วย วางไว้เฉยๆ ก็เลิกไปเสียที สำหรับคุณลุงทั้งหลาย นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม จะได้ไม่ซ้ำรอยวินสตัน เชอร์ชิลล์ ที่พาประเทศชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ แล้ว 3 เดือนหลังจากนั้นก็แพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยิน”

ด้าน “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อีกหนึ่งสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวว่า ไทยต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ทางเลือก ทางรอด ซึ่งมี FAAT

  1. Food ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าประเทศไทยใช้ที่ดิน 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อการเกษตร แต่จีดีพีที่มาจากการเกษตรมีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเราเป็นผู้ส่งออกอาหารสำคัญ 5 อย่าง ใอยนจำนวนนี้มีแป้งกับน้ำตาล 3 อย่าง แม้กระทั่งสินค้า เช่น ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ก็เป็นการส่งออกที่มาร์จิ้นต่ำ อย่างไรก็ต้องเปลี่ยนแปลง
  2. Aging การแก่ตัวของประชากรไทย โดยสมาคมผู้ส่งออกอาหารสหรัฐประเมินว่าไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่ยุคประชากรสูงอายุ แม้จะยังมีรายได้น้อย ยังยากจนอยู่มาก และจำนวนผู้ที่มีอายุในวัยแรงงานน้อยลง ต้องเพิ่มผลิตภาพ 
  3. Automobiles ที่บอกว่าเราเป็นดาวเด่น แต่ขอบอกว่าเราอย่าเป็น “ดีทรอยด์ ออฟ เอเชีย” เลย เพราะหากดูมูลค่าหุ้นของดีทรอยด์  จีเอ็ม เฟียต-ไครสเลอร์ และฟอร์ด บวกกันยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของเทสลา ซึ่งเข้าตลาดหุ้นไม่ถึง 20 ปี ขณะเดียวกันเทสลาได้ร่วมมือกับบริษัท CATL กำลังจะผลิตลิเทียมไออนแบตเตอรี ใช้งานได้ 1 ล้านไมล์ หรือ 1.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งไม่ทราบว่ารถที่เราผลิตอยู่ในปัจจุบันจะขายได้อย่างไร ต้องถามตนเองว่าเราจะพลิกเรื่องนี้ไปอย่างไร
  4. Tourism รายได้เหลือศูนย์ ไตรมาส 2 และ 3 เราแทบไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเลย รัฐบาลคาดหวังว่าไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาบ้าง แต่ก็จำกัดอยู่ที่ 1 พันคนต่อวัน ไตรมาสสี่คำนวณ 100 วัน ก็จะมีคนเข้ามาประมาณ แสนคน ปกติเรามีนักท่องเที่ยวไตรมาสละประมาณ 10 ล้านคน ดังนั้น จึงเหลือรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสัดส่วนของจีดีพีประมาณ 12-15 เปอร์เซ็นต์หายไป ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจต่างๆ

“หลายคนอาจไม่ทราว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ให้ธนาคารผ่อนปรนลูกหนี้ที่คิดว่าจะมีปัญหา โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมรายการนี้เขาใช้คำว่า “การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้” ส่วนแรกถูก แต่ส่วนหลังยังไม่มีการปรับโครงสร้างอะไร แต่ประเด็นสำคัญคือ มีผู้เข้าร่วมโครงการนี้ 15 ล้านคน มูลค่ามูลหนี้ 6.68 ล้านล้านบาท หรือกว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ คน 1 ใน 3 หยุด พักชำระดอกเบี้ย หยุดคืนเงินต้น และแบงก์ชาติให้พักประมาณ 6 เดือน

“คำถามคือการกลับมา ปลายๆ ปี ต้องประเมินว่าในกลุ่มนี้ใครจะใช้หนี้คืนได้บ้าง ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น ถ้ามีปัญหา สามารถแบ่งได้ว่า ในจำนวนนี้มีลูกหนี้ที่เป็นประชาชน ซึ่งเป็นหนี้ส่วนบุคคลประมาณ 13.9 ล้านคน ภาคธุรกิจ 1.1 ล้านธุรกิจ ในจำนวนนี้มีธุรกิจใหญ่ไม่กี่พันราย ที่เหลือเป็น SMEs ซึ่งมีมูลค่าหนี้ราว 2 ล้านล้านบาท ถามว่า 2 ล้านล้านบาท

“แล้วมีมาตรการรองรับอย่างไรแบงก์ชาติมีมาตรการซอฟต์โลนให้ SMEs 5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่พอ และสินเชื่อที่ปล่อยได้จริง 73,716 ล้านบาท น่าเป็นห่วงว่านี่จะเป็นระเบิดเวลา ผมเองก็ไม่มีคำตอบ” ศุภวุฒิ กล่าว

เขายกคำตอบของรัฐบาล คืองบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท โดยคำที่ออกมาเยอะสุดคือ ถนน ก่อสร้าง ไม่แน่ใจว่าตรงกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่านี่เป็นกรณีที่มีการเสนอโครงการมากมายกว่า 3 หมื่นโครงการ แต่ภาพใหญ่ไม่บอกว่าจะพาประเทศไปทางไหน เกรงว่าประเทศจะหลงทาง

“ความฝัน” ปั้นไทยเป็น Wellness โลก

ให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกกล่าวขวัญว่าเกี่ยวข้องกับ Wellness ความสมบูรณ์ อยู่ดี มีชีวิตที่ดี เรียกเราว่า Blue zone for longevity อยากให้กล่าวถึง คนที่อยู่ในประเทศไทยในอนาคตจะมีความสุข สุขภาพที่ดี และอายุยืน เพิ่มจาก Land of smile รับความเป็นไฮเทคขึ้นมา โดยไม่สูญเสียความเป็นไฮทัช คือ “อัธยาศัยที่ดียังอยู่” พร้อมกับมี Medical tourism ซึ่งอนาคตที่ว่านี้คือประเทศไทยเป็นที่ที่มีโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยระดับโลกมาตั้งแคมปัส ผลิตบุคลากรด้านสุขภาพ อีกทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เปลี่ยนมาผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และเรื่องสุขภาพ แต่ก็ไม่ทิ้งนวดแผนโบราณ ยาแผนไทย อยากให้อยู่ใน Top 5 ไม่ใช่ Top 20 ในเรื่องสปา และควรมีสนามบินเพิ่มให้เครื่องบินของเศรษฐีมาท่องเที่ยว เชิง Medical tourism

ข้อเสนอเพิ่มเติม นำทุนสำรองของแบงก์ชาติเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ที่มีอยู่ หรือประมาณ 7 หมื่นกว่าล้านบาท ให้รัฐบาลออกพันธบัตรไทย ดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ จ่ายคืนต้น 100 ปี โดยต้นทุนที่รัฐบาลจะจ่ายปีละ 7 ล้านบาท ทำให้มีทุนให้เด็กไทยไปศึกษาต่างประเทศ 250 ทุนต่อปีไปอีก 20 ปีข้างหน้า แต่ละทุนคือ 14.9 ล้านบาท แล้วให้มาพัฒนา ขับเคลื่อนไทยเป็นประเทศ Wellness ของโลก

new normal – สมดุลใหม่ 

“ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกชื่อดัง ในฐานะสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวว่า ถ้าในมุมมองของผู้ประกอบการ หากเราได้มีโอกาสกำหนดนโยบายของรัฐจะทำอะไรได้บ้างให้เรารอด ว่า สิ่งที่ต้องสร้างคือ

1.สมดุลใหม่ ที่ไม่ใช่ new normal สังคมจะผ่านความวุ่นวายนี้ไปสู่สมดุลใหม่ที่เกิดเสถียรภาพ หน้าที่ของภาครัฐจะชี้นำว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องทำอะไรบ้าง สำคัญคือ รัฐต้องเลิกพูดว่าต้องรอให้โควิดหมดก่อนจึงจะ move on ได้  แต่ต้องเรียนรู้ว่าอยู่อย่างไรให้มีพลังทำธุรกิจต่อไป ซึ่งบทสนทนานี้จะสร้างความหวังไปสู่สมดุลใหม่ มีความหวัง ผ่านยุคโกลาหลไปสู่สมดุลใหม่ด้วยกัน

2.ห่วงโซ่อุปทาน ซื้อมา ขายไป เมื่อก่อนอาจจะสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศจากสถานที่ไกล แต่จะทำอย่างไรให้สั่งที่ใกล้ได้ หากเป็นเช่นนี้ ท้องถิ่นต่างๆ จะเกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ๆ ผลคือความเจริญลงไปสู่ท้องถิ่นเพราะซื้อขายกันในท้องถิ่น สร้างอุปสงค์อุปทานในประเทศใหม่พร้อมๆ กัน ซึ่งหากมองในแง่นักธุรกิจ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แบบ ‘องคาพยพ’ ถ้าเราเป็นรัฐบาล อยากเห็นนโยบายของรัฐลงไปสร้างให้ซัพพลายเชนนี้ให้เข้มแข็งขึ้น ทำอย่างไรจะโปรโมทซัพพลายเชน คือสิ่งที่ทำได้ในแง่นโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะสามารถแลกเปลี่ยนได้รวดเร็ว แพร่หลาย สามารถทำให้ระบบทั้งระบบฟื้นฟูระบบได้อย่างรวดเร็ว

3.Micro enterprise เป็น ธุรกิจจิ๋ว ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)  คือ 95 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นฐานของประเทศ นับเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด เรามีเอสเอ็มอีทั่วประเทศ กว่า 3.7 ล้านรายเป็นฐานธุรกิจของประเทศ ซึ่งเป็น “เอส” หรือ วิสาหกิจขนาดย่อม ถึง 3.29 ล้านราย

ถ้านิยาม Micro SMEs คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 5 คน เช่น บริษัทออกแบบ หรือ ร้านอาหาร กลุ่มนี้มีอยู่จริง วิสาหกิจขนาดเล็กจำนวน 2.6 ล้านราย แต่รัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนให้แข็งแรง ซึ่งหากทำให้แข็งแรง และสร้างเป็นเครือข่ายได้จะแข็งแรงมาก เช่น ทำตลาดนัดให้คนมาขายของด้วยกัน 1 คน 2 คน ไม่มีใครซื้อ แต่ถ้าทำเป็นเครือข่าย จะมีพลังดึงดูดการตลาด ดึงดูดคนมาซื้อของได้ ดังนั้น นโยบายเร่งด่วนใน 150 วันคือ เรามีเครือขายธุรกิจจิ๋วก็สร้างนโยบายบางอย่างให้แข็งแรงขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

ปลดล็อกความคิดคนรุ่นใหม่

4.สร้างการสร้างธุรกิจ จากการสร้างสรรค์ ข้อมูลสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระบุว่า 1 ปี เรามีสตาร์ตอัพ 1,700 ราย แต่ประสบความสำเร็จเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเรามุ่งสร้างสตาร์ตอัพ แต่สิ่งที่ขาดคือ การแสดงออกซึ่งตัวตน เด็กไทยไม่มีอิสระที่จะแสดงความคิด พูดเรื่องบางอย่างที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย  เรามองว่าแหกคอก ลามปาม เรามีคำเยอะมากในการกดการแสดงออกของผู้คน  พรุ่งนี้เราก็เปลี่ยนได้

การสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เราแข็งแรง เราเป็นชนชาติที่เชื่อได้ว่า ครีเอทีฟที่สุดในโลก เรามีทักษะพื้นฐานในการคิดสร้างสรรค์ คือ ปัจจัยอีกด้านในการสร้างเศรษฐกิจ ประเทศที่เจริญแล้วจะอนุญาตให้คิดได้ ประชาชนจะหลุดจากพันธนาการกรอบเดิม จะสนับสนุนศิลปะ วัฒนธรรมแบบอิสระ ไม่ใช่แบบประเพณี ดังนั้น การทำให้ธุรกิจใหม่เกิด คิดอย่างสร้างสรรค์ไม่พอ ต้องอนุญาตให้มีอิสระทางความคิดและการแสดงออกด้วย ซึ่งปลดเงื่อนไขนี้ได้ง่ายมาก ถ้ารัฐและสังคมอนุญาตให้เกิด ในฐานะนักธุรกิจหลายคนพร้อมเสี่ยง กล้าผลิต กล้าทำ แต่เขาไม่มีอิสระ เหล่านี้คือแนวคิดที่เชื่อว่า ใน 150 วัน เริ่มต้นได้ทัน ทำอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถรอดวิกฤตนี้ไปได้”