พล.อ.สมศักดิ์ เลขาสภาความมั่นคง ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-แก้ปัญหาโควิดผิดทิศทาง

สัมภาษณ์พิเศษ
โดย ปิยะ สารสุวรรณ

กว่า 3 เดือนภายใต้การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ-สุดทางการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2563

(สมช.) และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เขาแอ่นอก “ไม่มีธง” ว่าจะต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“พล.อ.สมศักดิ์” แจกแจงเหตุผล-ปัจจัยการจะต่อ หรือไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 63 ว่า มีกฎหมายอื่นที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ หากมีก็ไม่ต้องต่อ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่กระทบชาวบ้าน

ในวันที่ 25 มิ.ย. 63 จะมีการประชุมหน่วยงานความมั่นคงและสาธารณสุข และทีมที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อพิจารณาว่าจะต่อหรือไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมกลุ่มธุรกิจสีแดงที่เหลือ ซึ่งจะผ่อนคลายให้มากที่สุด เปิดกิจการ กิจกรรมมากกว่า 95% ไม่มีเคอร์ฟิวแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากไหม ประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ประกอบอาชีพโดยสุจริต สุจริตชน (เน้นเสียง) แทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำ อาจจะไม่ถึงเป็นปกติ ต้องใส่หน้ากากอนามัย ต้องรักษาระยะห่าง

กุญแจแห่งความสำเร็จ

วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกัน 20 กว่าวัน เพราะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คุมสถานการณ์ได้อยู่หมัด ซึ่งการผ่อนคลายมากขนาดนี้แล้ว ทำไมต้องไปรังเกียจรังงอน เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีประโยชน์หลายอย่าง 1.ทำให้การทำงานของเรามีเอกภาพขึ้น 2.รวดเร็วขึ้น 3.ไปในทิศทางเดียวกัน 4.รวมศูนย์พลเรือน ตำรวจ ทหาร 5.ควบคุมเข้มการเข้า-ออกราชอาณาจักรของคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งทางบก-ทางน้ำ-ทางอากาศ

ต้องยอมรับว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ แม้ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2558 แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันให้มีประสิทธิภาพ แต่ถูกออกแบบมาเพื่อระงับเหตุ

“สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมระหว่างรักษาคนภายในประเทศ การควบคุมการเข้า-ออกประเทศ และสิ่งเดียวที่ทำได้ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

สังเกตได้ว่า พอมีแนวความคิด travel bubble คนเริ่มกังวล เพราะทุกคนเชื่อว่า สิ่งที่ทำมาตลอดถูกต้องแล้ว คือ การควบคุมการติดเชื้อจากภายนอกประเทศและรักษาคนภายในประเทศ

“ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลไกนี้จะไม่มีกฎหมายอื่นบังคับ หรือบังคับไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า เช่น สถานที่ที่รัฐจัดหาให้ (state quarantine) จะอาศัยอำนาจอะไรกักตัวคนไทย-ต่างชาติ 14 วัน เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ให้อำนาจขนาดนั้น”

“ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ท่านนายกฯบอกว่า ก็ไปดู ไปศึกษาให้รอบคอบว่า ควรจะมีหรือไม่มีต่อไป แต่ด้วยเหตุผลเหล่านี้ก็ค่อนข้างจะชัด…ยกเว้นขณะนี้มีกฎหมายอื่น ๆ ออกมาฉับพลัน หรือรวมกฎหมายหลาย ๆ ฉบับเข้ามาเพื่อให้มีประสิทธิภาพ”

กลยุทธ์ (strategy) คือ การกดไม่ให้ยอดผู้เสียชีวิต หรือยอดผู้ติดเชื้อสูงเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข แต่แน่นอนทำให้สูญเสียและต้องทุ่มทรัพยากรจำนวนมากเพื่อรักษาชีวิตประชาชน

ถ้ากลยุทธ์เปลี่ยน กฎหมายอาจจะเปลี่ยน แต่คำถามคือ เราจะเปลี่ยนกลยุทธ์หรือไม่ ต้องถามหมอ ถามกระทรวงสาธารณสุข เรายอมที่จะให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นถึงระดับไหนที่จะพอควบคุมได้

ถ้าเราจะต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์เดียว คือ ประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งอาจจะสิ้นสุดปลายเดือนนี้ก็ได้ หรืออาจจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้

“ผมยังไม่มีผลการพิจารณาในหัวใจ สุดท้ายต้องถามบุคลากรทางการแพทย์ว่า ต้องการเครื่องมือนี้อยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการก็ไม่ต้องต่อ”

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยุติกักตัว 14 วัน

สำคัญที่สุด คือ ปัจจุบันคนไทยยื่นความจำนงขอกลับเข้าประเทศทุกวัน เดิม200 คนต่อวัน ขณะนี้ 400-500 คนต่อวันตัวเลข 200 คนต่อวันมาจากขีดความสามารถในการจัดหา state quarantine กักตัว 14 วัน

“แต่ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระบวนการเหล่านี้จะทำไม่ได้ เพราะ 1.ใครจะจ่ายค่าโรงแรม (state quarantine และ local quarantine) ปัจจุบันรัฐจ่ายให้ทั้งหมด ติดเชื้อรักษาฟรี ค่าตรวจไม่ได้คิดแม้แต่บาทเดียว เสียค่าเครื่องบินอย่างเดียว”

พอมาถึงมีที่พัก (กักตัว) 14 วัน อยู่ฟรี-กินฟรี ถ้าป่วยเอาไปรักษาฟรี รัฐจ่ายทุกอย่าง เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอนุญาตให้จ่ายได้ รวมถึงสามารถกักตัวได้ 14 วัน จะติดหรือไม่ติด ต้องกักตัว 14 วันก่อน

“แต่ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ดี ๆ เอา พ.ร.บ.โรคติดต่อไปกักตัว ไม่ง่าย เพราะเขาไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย แต่ปัจจุบันไม่ต้องสงสัยเลย คุณมาจากประเทศไหนไม่รู้ ต้องเข้า state quarantine ก่อน”

“เราไม่ได้ต้องการรักษาตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศให้เป็นศูนย์ตลอดเวลา เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอยู่ในจำนวนที่เราควบคุมได้ คือ สิ่งที่เราต้องการโดยให้ความสำคัญด้านสาธารณสุขเป็นหลัก”

ไม่ได้ต้องการรักษาตัวเลขให้เป็นศูนย์ เป็นผลพลอยได้ที่ดี แต่วัตถุประสงค์ คือ อะไรที่สาธารณสุขยอมรับได้

ทางสองแพร่งแง้ม-เปิดประเทศ

กิจกรรมที่จะเปิดต่อไปนี้ เช่น travel bubble เกี่ยวกับการแง้มประเทศ ไม่ได้เปิดโดยสิ้นเชิง ถ้าเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องยอมให้นักธุรกิจเดินทางเข้ามา ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น

ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องชั่งน้ำหนัก แม้รายได้หลัก คือ การท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการที่มั่นใจว่า เข้ามาแล้วไม่เอาเชื้อเข้ามา เพราะเรามั่นใจว่าภายในประเทศเราคุมอยู่แต่ประชาชนจะไม่มั่นใจทันที หากมีการแง้มประเทศให้ต่างชาติเข้ามา หรือคนไทยเข้ามาแล้วไม่ถูกกักตัว 14 วันจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

ที่สำคัญ มีหลายปัจจัย 1.เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 2.ความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 ของแต่ละประเทศ

3.การตรวจคัดกรองของแต่ละประเทศต้องมี 4.ต้องตรวจซ้ำเมื่อเข้ามาในไทย

“ท่านนายกฯบอกว่า ถ้าเรากำหนดมาตรการเข้มข้นอย่างไรก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ให้เข้า ต้องมาต่อรองกันไม่ง่าย แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้เข้ามา แต่ต้องเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมในมาตรการที่สาธารณสุขยอมรับได้”

ต้นทุน-รายจ่ายทางเศรษฐกิจ

ไม่มีใครรู้ว่ามีวัคซีนแล้วถึงจะเปิดประเทศได้ แต่เราค่อย ๆ แง้มไปเรื่อย ๆ แง้มบนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การยอมรับของคนในชาติ

“สมมุติเราแง้มให้นักธุรกิจประเทศนี้เข้ามา กระตุ้นเศรษฐกิจในวอลุ่มที่สูงจริงหรือไม่ ถ้าไม่สูงขนาดนั้นจะเสี่ยงไปทำไม ต้องหาความสมดุลให้ดีที่สุด”

“ท่านนายกฯก็ไม่ได้เร่งรัด ท่านรู้หลักการ travel bubble แล้ว แต่ท่านให้ไปดูให้รอบคอบก่อนนะ เราทำมาดีขนาดนี้แล้วก็ต้องดูให้รอบคอบ ที่สำคัญ ประชาชนมั่นใจว่า เราจะเปิด หรือจะแง้มประเทศขนาดไหน ประชาชนไม่มีอคติกับเรื่องนี้”

“พล.อ.สมศักดิ์” ไม่ปฏิเสธว่า ต้องแลกกับต้นทุน-รายจ่ายทางเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบทั่วโลก แต่เราผ่อนคลาย-ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในแง่ของการเดินทางไปมาหาสู่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

แน่นอนรายได้หลักของประเทศ คือ การท่องเที่ยว แม้กระทั่งการส่งออกแต่ก็ต้องแลกมากับความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งเป็น priority แรกตั้งแต่ต้น

“ต่อให้เราเปิดประเทศขนาดนี้ ผมก็ไม่เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะมาปริมาณเท่าเดิมอย่างที่เคยเป็น เพราะทุกคนกลัวเรากลัวที่จะรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชาวต่างชาติกลัวที่จะเดินทาง”

สุดท้ายต้องมาหาจุดลงตัวระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านสาธารณสุข ผ่อนมาตามลำดับ 1 2 3 4 ทำทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่อนคลายประชาชนก็เริ่มเดินทางออกนอกจังหวัด ไปต่างจังหวัดมากขึ้น ท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งช่วยในระดับหนึ่ง แต่แน่นอนเศรษฐกิจไม่สามารถดีดตัวได้มาถึงระดับที่เคยเป็น เพราะโลกไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

อย่าหวังจีดีพีโต 4-5%

เขาย้อนถามว่า ถ้าเปิดประเทศแบบสุด ๆ เลวร้ายที่สุดของระบบสาธารณสุข-เศรษฐกิจ คืออะไร คนในประเทศยอมหรือไม่ ยอมแลกกับเศรษฐกิจที่อาจไม่เหมือนเดิมด้วยซ้ำต่อให้เปิดอย่างสมบูรณ์ เราต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

“เป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะโต 4-5% ทุกประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแน่นอน ท่องเที่ยว ส่งออก จีดีพีหดตัว ติดลบทุกประเทศ ขึ้นอยู่กับจะมากหรือน้อยประเทศไหนจะปรับตัวได้เร็วกว่ากัน”

เราโชคดีที่อยู่ในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ท่องเที่ยวกันเองในประเทศก็ได้อยู่ อาจจะไม่อู้ฟู่เหมือนแต่ก่อน แต่ก็พออยู่กันได้ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงพิสูจน์ให้เห็นว่าใช้ได้จริง

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไร้ธงการเมือง

“พล.อ.สมศักดิ์” ยอมรับว่า ยังคิดไม่ตก หากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ศบค.ยุติบทบาท และความแตกต่างระหว่างการบริหารสถานการณ์ในรูปแบบของกลไกอำนาจปกติ-อำนาจพิเศษ “ต้องช่วยผมตอบอันนี้ยากต่อการตอบ”

“ผมยังคิดไม่ออก ศบค.ต้องมีสถานะเหมือนกับ ศบค.ในยุคแรก คือ ท่านนายกฯนั่งหัวโต๊ะ คุยกับรัฐมนตรี 20 กระทรวง เหมือนการประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ง่ายที่จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง การตัดสินใจแก้ปัญหาล่าช้า ไปคนละทิศละทาง”

“เลขาฯ สมช.” ยืนยันว่า เหตุผลการต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ผมรู้ดีว่าจะต้องถูกดึงไปเรื่องการเมือง แต่ถ้าหมอบอกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อทำงานได้แล้ว ผมพร้อม ก็ไม่ต้องต่อ”

“ผมกล้ายืนยัน ไม่มีนัยทางการเมือง นักการเมืองเคลื่อนไหวและสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ปกติ แม้มีการชุมนุมตอนนี้ก็มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะจัดการได้อยู่แล้ว”

การรวมตัวกันของกลุ่มแคร์ ไม่ได้ห้าม พรรคการเมืองจะปรับเปลี่ยนผู้บริหารไม่ได้ว่าอะไร เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ไม่เคยเห็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจับใครที่เคลื่อนไหวทางการเมือง

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขเท่านั้น ใช้เพื่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ ต้องการเครื่องมือในการช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”