“ทีมเศรษฐกิจใหม่” จ่อกู้ทะลุเพดาน รื้อเกณฑ์หนี้สาธารณะ-ทุ่มงบแก้วิกฤต

นับถอยหลัง ครม.ประยุทธ์ 2/2 รับตำแหน่งเป็นทางการ สารพัดปัญหารอแก้ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่-ที่ปรึกษาแท็กทีมฝ่าวิกฤต “ภัทร” แนะ “ขุนคลัง-ผู้ว่าการ ธปท.” สอดประสานนโยบายการเงิน-คลัง ครึ่งปีหลังเน้น “เยียวยา-กระตุ้น” คลังถกหาช่องรับมือมรสุมเศรษฐกิจ เตรียมชงบอร์ดนโยบายการเงินการคลัง”บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ รื้อกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เปิดทางกู้เกิน 60% ของจีดีพี เอกชนหนุนทุ่มงบฯอัดฉีดฟื้นฟู ศก.

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 อยู่ระหว่างขั้นตอนทูลเกล้าฯรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง ช่วงนับถอยหลังรัฐมนตรีใหม่เข้ารับตำแหน่งเป็นทางการ ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ต่างคาดหวังให้รัฐมนตรีใหม่ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลเร่งสร้างผลงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่วิกฤตรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้าง ภายใต้ข้อจำกัดทั้งเรื่องวงเงินงบประมาณ ขณะที่วงเงินที่จำเป็นต้องใช้จ่ายมีมหาศาลทั้งการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อน คนตกงาน ภาคธุรกิจที่มีปัญหา และการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทูลเกล้าฯแต่งตั้ง 6 รมต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 ก.ค. 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงแหน่งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดินชุดใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดทูลเกล้าฯรายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้ว 6 คน 7 ตำแหน่ง ดังต่อไปนี้ 1.นายปรีดี ดาวฉาย ว่าที่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง 2.นายอนุชา นาคาศัย ว่าที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าที่ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

4.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าที่ รมว.พลังงาน 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น ว่าที่ รมว.แรงงาน และ 6.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ว่าที่ รมช.แรงงาน

ทั้งนี้ วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุม ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจะเข้ารับตำแหน่งต่อจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ที่จะครบกำหนดวาระในเดือน ก.ย. 2563 นี้

แท็กทีมรัฐ-เอกชน-ที่ปรึกษา

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ (ศบศ.) โดยนำโมเดลการบริหารและการปฏิบัติการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. มาปรับใช้ โดยนายกฯคุมทีมแก้วิกฤตเศรษฐกิจเอง รูปแบบการทำงานจะเป็นแบบไม่เป็นทางการมี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเลขาฯสภาพัฒน์ ทำหน้าที่รวบรวมแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เสนอนายกฯได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวง

รื้อเพดานหนี้เกิน 60% GDP

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่า เมื่อ รมว.คลังคนใหม่เข้ามาทำงานแล้ว อาจเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาปรับกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต้องไม่เกิน 60% เป็นมากกว่านั้น แต่จะปรับขึ้นเป็นเท่าใดขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณา

“ตอนนี้กำลังพิจารณาว่าจะปรับกรอบหนี้สาธารณะให้เกิน 60% ได้ชั่วคราว เพราะต้องเตรียมเครื่องมือไว้รับมือ หากไวรัสโควิด-19 ระบาดซ้ำ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเครื่องมือ เพราะกู้เกินกรอบไม่ได้ ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 44.01% ของ GDP แล้ว เมื่อทยอยกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท ก็เกือบจะทะลุ 60% ไม่รวมกรณีเกิดการระบาดซ้ำของโควิด เพราะถ้าระบาดซ้ำ กรอบเดิมคงไม่พอ”

ขณะเดียวกัน ทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่คงต้องมองภาพวิกฤตรอบนี้ว่า ไม่ใช่วิกฤตที่จะจบได้ในเวลาอันสั้น เพื่อเตรียมมาตรการรับมืออย่างถูกต้อง โดยมองไปข้างหน้ายังคงมีการปิดโรงงาน ปิดธุรกิจอยู่ จำนวนคนตกงานจะเพิ่มขึ้นอีกมาก กระทบประชาชนจากการขาดรายได้ เกิดวิกฤตหนี้เสียตามมา ทั้งนี้ การทำนโยบายคงต้องคำนึงถึงเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่หวังเพียงตัวเลขการเติบโตของ GDP

โจทย์ท้าทาย รมว.คลัง

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า วิกฤตขณะนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทาย โดยเฉพาะ รมว.คลังคนใหม่ ภารกิจหลักที่ต้องเข้ามาแก้คือ “การเยียวยา” และ “การกระตุ้น” เศรษฐกิจ ในภาวะที่เริ่มมีขีดจำกัดด้านหนี้สาธารณะแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินไป 1 ล้านล้านบาท แต่เงินที่ออกไปได้จริงตอนนี้น่าจะอยู่ที่ราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีหลังการเยียวยาอาจจะไม่เท่ากับช่วงครึ่งปีแรกที่มีการปิดเมือง แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ตกงาน และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะเยียวยาอย่างไร เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การเดินทาง เป็นต้น

ใช้งบฯเงินกู้ 4 แสน ล.อืด

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ปัจจุบันงบฯ 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่งอนุมัติไปแค่ 9 หมื่นล้านบาท ถือว่าออกช้ามาก วงเงินที่เหลือก็เป็นโจทย์ท้าทายว่าควรจะให้กับโครงการแบบใดและเป้าหมายการใช้เงินคืออะไร

“การเยียวยากับการกระตุ้นจะต้องบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัดที่มีมากขึ้น คือ เรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่ง รมว.คลังต้องดูเรื่องนี้ดี ๆ เพราะปีนี้หนี้สาธารณะน่าจะเกิน 50% ของ GDP แล้ว และปีหน้าก็จะไปแตะ 60% อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องทำเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญต้องจัดลำดับความสำคัญในการใช้เงิน ดูว่าอะไรตอบโจทย์ ไม่ตอบโจทย์ นอกจากนี้ รมว.คลังต้องขันนอตระบบราชการ จากที่เกียร์ว่างในช่วงที่มีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ”

2 ภารกิจหลักผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ส่วนโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าการ ธปท.มี 2 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรให้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และมีส่วนช่วยสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินของระบบ ขณะเดียวกันต้องจัดสรรสภาพคล่องให้เพียงพอ ไม่นำไปสู่วิกฤตการเงินโดยไม่จำเป็น หากเกิดภาวะที่จะนำไปสู่ความตื่นตระหนก ธปท.ต้องพร้อมเข้าดูแลทันที 2.รับมือวิกฤตหนี้ เนื่องจากปัจจุบันลูกหนี้ 1 ใน 3 ของทั้งระบบได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการใดมาตรการหนึ่งอยู่ เปรียบเสมือนระเบิดเวลา ซึ่งมีตัวอย่างในปี 2540 มาแล้ว ว่าพอเกิดวิกฤตหนี้ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักไปเป็นเวลานาน

ต้องแก้ปัญหาสภาพคล่อง

ขณะที่การดูแลสภาพคล่องก็สำคัญ เพราะวงเงินซอฟต์โลนที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท เพิ่งใช้ไปแค่ราว 1 แสนล้านบาท ต้องเข้าไปดูว่าทำไมแบงก์จึงไม่ปล่อย เป็นเรื่องการชดเชยความเสียหายที่ไม่น่าสนใจหรือเปล่า หรือแบงก์ต้องรับความเสี่ยงมากไป ผู้ว่าการ ธปท.ต้องเข้ามาเปลี่ยนเงื่อนไขให้จูงใจมากขึ้น

ส่วนการจะนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มาใช้เหมือนกับธนาคารกลางหลายประเทศนั้น ต้องเข้าใจกระบวนการ QE ก่อนจะทำได้ จะลดดอกเบี้ยลงไปเป็น 0% ก่อน ซึ่งนโยบายการเงินของไทยยังมีกระสุนอีก 3 นัด คือ ลดดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง และลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ได้อีก 1 ครั้ง แต่ต้องศึกษาเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ ไว้ให้พร้อมรับมือ หากเกิดการระบาดรอบ 2 ของโควิด

ระเบิดเวลา 3 ลูกรอปะทุ

นายพิพัฒน์กล่าวว่า นโยบายการเงินการคลังต้องทำงานใกล้ชิดสอดประสานกัน เนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมาก ดังนั้น นโยบายการเงินก็ต้องดูแลไม่ให้ต้นทุนการกู้สูง จนเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาครัฐ

“โจทย์วันนี้คงไม่ใช่ว่าจะมีระเบิดตูมตาม มีไฟไหม้ แล้วต้องรีบดับไฟทันที แต่เป็นเหมือนต้องรับมือปัญหาระยะยาว ซึ่งจะค่อย ๆ เข้ามาใกล้เรื่อย ๆ ช่วงใกล้ปลายปีจะมีปัญหาหลายเรื่องเข้ามา 1.เงิน 5,000 บาท ที่คนเคยได้ ที่จะไม่ได้แล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังกลับไปทำงานไม่ได้ 2.ปัญหาหนี้จะรุนแรงขึ้น ซึ่ง ธปท.บอกว่าจะไม่มีมาตรการทั่วไปแล้ว ดังนั้นแบงก์ก็ต้องกลับไปดูปรับโครงสร้างหนี้ 3.เรากำลังจะมีทีมเศรษฐกิจที่ใหม่หมด ถ้าปลายปียังเปิดประเทศไม่ได้ แรงกดดันต่อเศรษฐกิจจะเยอะขึ้น”

ตลาดทุนจี้งัดภาษีจูงใจ

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตลาดทุนอยากฝากให้ทีมเศรษฐกิจใหม่เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวและบริการ นอกเหนือจากมาตรการที่ได้ทำไปแล้ว รัฐอาจต้องพิจารณาถึงมาตรการให้เงินสมทบกิจการเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทต่าง ๆ สามารถคงสถานะการจ้างงานลูกจ้างได้ต่อไป อย่างมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” อาจต้องปรับ เนื่องจากผลตอบรับไม่ค่อยดีนัก มีคนลงทะเบียนน้อย ควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่ท่องเที่ยวอย่างที่เคยทำ เนื่องจากกลุ่มคนเสียภาษีเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจริง และนำมาตรการช็อปช่วยชาติกลับมาใช้

“เราอยากให้ทีมเศรษฐกิจใหม่เน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะในฝั่งของตลาดทุนยังไม่มีเรื่องเร่งด่วนอะไร”

ส.อ.ท.ขานรับ รมต.เศรษฐกิจ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เท่าที่ทราบทีมเศรษฐกิจใหม่ของนายกฯ มีความรู้เรื่องของเศรษฐกิจดี และในภาวะแบบนี้ต้องมีคนที่มองทะลุปรุโปร่งว่าอะไรเป็นอะไร ต้องมีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับระบบราชการได้ ทำให้ภาคเอกชนเชื่อมั่น เพราะเอกชนคือผู้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลคือคนที่อยู่ข้าง ๆ คอยช่วยเหลือเรื่องงบประมาณ ในส่วนของ ส.อ.ท.ได้เตรียมเสนอเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ ให้รัฐเร่งดำเนินการ

ด้านนายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะอนุกรรมการการเงินและภาษี มองว่า ทีมเศรษฐกิจใหม่น่าจะมีไอเดียที่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางเดียวกับที่เป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งชื่อที่ปรากฏตามโผ ครม.ประยุทธ์ 2/2 รับได้ โดยเฉพาะ นายปรีดี ดาวฉาย ว่าที่ รมว.คลัง ถือว่าเหมาะสม และอยู่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รู้ปัญหาของผู้ประกอบการ และเรื่องการเงินเป็นอย่างดี

หนุนคลังทุ่มงบฯ-ฟื้นฟู ศก.

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับ ครม.โดยนายปรีดี ดาวฉาย เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง ถือเป็นคนเก่งที่มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย ในความคิดส่วนตัวมองว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้วควรออกมาแสดงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายการผลักดันงบประมาณว่าจะใช้ในด้านไหนบ้าง และจะสานต่อมาตรการเดิมไปในทิศทางไหน เพราะทุกอย่างมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ที่สำคัญคือ รัฐบาลจะต้องโฟกัสด้านมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นพิเศษ และต้องกล้าที่จะใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายบุญชัยกล่าว

ส่วนนายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้บริหารร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ และซิซซ์เล่อร์ ฯลฯ แสดงความเห็นว่า อยากให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามาสานต่อนโยบายต่าง ๆ ที่ทีมเศรษฐกิจชุดที่ผ่านมาทำไว้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากที่วิกฤตโควิดกระทบทุกอุตสาหกรรม มีปัญหาการว่างงาน ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จึงต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นโดยเร็ว