เทียบเส้นตายแก้รัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทย มี.ค.66 – ฉบับรัฐบาล ก.ค.66

วิษณุ เครืองาม-รองนายกฯ

เทียบไทม์ไลน์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับเพื่อไทย จะจบภายใน มี.ค.66 – ฉบับรัฐบาล พ.ค. 66 อย่างช้า ก.ค.66

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 23-24 กันยายน 2563 ว่า การตั้งส.ส.ร.ถ้าใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยจะใช้ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่ถ้าใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจะทำให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาร่างนานใช่หรือไม่ โดยเฉพาะหากตั้ง ส.ส.ร. มาร่าง นายวิษณุ กล่าวว่า ยาวนานแน่นอน เพราะไปเกี่ยวพันกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 โดยกฤษฎีกาจะใช้เวลาตรวจร่างพ.ร.บ.ประชามติ 1 เดือน และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมสองสภาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาครั้งต่อไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563

“เพราะถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ในวาระที่สามเสร็จก่อน แต่ก็ต้องรอให้ที่ประชุมร่วมสองสภาพิจารณาเสร็จก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน (ธ.ค.63) จากนั้นรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน (มี.ค.64) จากนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน (ก.ค.64) และต้องบวกไว้ 3-4 เดือน เอาไว้รอการคัดค้านและประกาศรับรองผล (พ.ย.64) และหากมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญก็จะใช้เวลาวินิจฉัยอีกประมาณ 1 เดือน (ธ.ค.64) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน (มี.ค.65) ดังนั้นจะเริ่มตั้ง ส.ส.ร. 200 คนและแล้วเสร็จภายใน 60 วัน (พ.ค.65) จึงจะเริ่มไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

นายวิษณุเปรียบเทียบให้เห็นว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน (ก.ย.65) และใช้เวลาทำประชามติอีก 2 เดือน (พ.ย.65) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก 1 เดือน (ธ.ค.65) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้า ฯ อีก 3 เดือน (มี.ค.66) จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ส่วนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลต้องร่างให้เสร็จภายใน 8 เดือน (ม.ค.66) แต่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลให้นำเข้ามาสภา ถ้าสภาลงมติเห็นชอบด้วยเสียงเกินครึ่ง ไม่ต้องทำประชามติ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 1 เดือน (ก.พ.66) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้า ฯ อีก 3 เดือน (พ.ค.66) จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตามหากสภาลงมติเห็นชอบเสียงไม่ถึงครึ่ง ซึ่งตามหลักจะต้องตกไป แต่ไม่ตกเพราะเขากำหนดให้เอาไปทำประชามติใน 60 วัน (มี.ค.66) แต่ส่วนตัวคิดว่า ไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะสภาน่าจะเห็นชอบได้ เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องไปเจอศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน (เม.ย.66) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้า ฯ อีก 3 เดือน (ก.ค.66) จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

“แต่ผมเป็นห่วงอยู่นิดเดียวที่มีเสียงพูดออกมาว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แล้วยุบสภา ไม่มี ส.ส. ไม่มี ส.ว.ก็ต้องถามว่าแล้วใครทำกฎหมายลูก เพราะต้องทำกฎหมายลูกให้หมด อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 3.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งวิธีแก้มี แต่ต้องไปคิดให้รอบคอบทั้งหมด”นายวิษณุกล่าว