ส.ว.สายแข็ง ดาหน้าต้านแก้รัฐธรรมนูญ ยื้อลงมติหวั่น 6 ญัตติคว่ำ

การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ โค้งสุดท้าย ส.ว.สายแข็งดาหน้าไม่เห็นด้วย และอภิปรายถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่การลงมติ และการตั้ง ส.ส.ร.

ในช่วงเย็นวันที่ 24 กันยายน 2563 ก่อนที่มีการปิดการอภิปราย เพื่อลงมติด้วยการขานชื่อ นายกล้านรงค์ จันทิก วุฒิสมาชิก อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญเมื่อผ่านการลงประชามติของประชาชนมาแล้ว และเมื่อตราเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมาจากประชาชน เหมือนกับประชาชนสร้างบ้านให้เรา 750 คนอยู่ คน 750 คนอยู่ในบ้านหลังนั้น เจ้าของบ้าน คือ ประชาชนเขาก็ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ 750 คน มีภารกิจ มีหน้าที่อะไรบ้างในบ้านหลังนั้น

แต่วันดีคืนดี 2 ปีขึ้นมาเขาสร้างบ้านมาแล้วมาบอกว่า ไม่เอาบ้านหลังนี้ เราจะรื้อทิ้ง แล้วเราจะสร้างบ้านใหม่ ผมถามว่า รื้อทิ้งแล้วสร้างบ้านใหม่ต้องไปถามประชาชนเขาก่อนไหม เพราะเขาเป็นเจ้าของบ้าน

ขณะนี้มีคนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง คือ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขอตั้งประเด็นไว้ว่า ก่อนที่เราจะรื้อบ้านหลังนี้ ไม่ใช้รื้อแล้วค่อยไปถามประชาชน ก่อนจะรื้อบ้านหลังนี้ถามเขาก่อนดีไหม ตรงนี้คือการคืนอำนาจสถาปนาให้กับประชาชน ถ้าเขาเอา 750 คนเป็นเอกฉันท์ แต่ถ้าเจ้าของบ้านเขาไม่เอาเราก็ทำไม่ได้

“ผมมีข้อสักถามประกอบการลงมติ ญัตติทั้งหมดมี 6 ญัตติ ขอถามไปยังเจ้าของญัตติ (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ผู้นำฝ่ายค้าน”

“ถ้าสมมุติเราเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติที่ 1 และญัตติที่ 2 คือ แก้ไขมาตรา 256 ใหม่ แต่เราไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ 3 ถึง ญัตติที่ 6 ส.ส.ร.ที่เราจะตั้งนั้นสามารถจะหยิบยกจุดที่รัฐสภานี้ไม่เห็นด้วยกลับมาดำเนินการใหม่ได้ไหม”

นายกล้าณรงค์ อภิปรายว่า “ถ้าท่านตอบว่า ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้นที่เราจะมาวินิจฉัยในญัตติที่ 3 ถึง ญัตติที่ 6 แต่ถ้าท่านตอบว่า ไม่ได้ ก็จะต้องปรากฏบันทึกเอาไว้ในการประชุม และฝากกรรมาธิการต้องไปเพิ่มมาตราเหล่านี้ลงในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256”

ถ้าไม่ตอบตรงนี้ ไม่สร้างความกระจ่างตรงนี้ การลงมติทั้ง 6 ญัตติจะเกิดปัญหา จะเกิดความสับสน ว่า ถ้าเราเอาญัตติที่ 1 ญัตติที่ 2 แต่ไม่เอาญัตติที่ 3 ถึง ญัตติที่ 6 แล้วญัตติที่ 3 จนถึงญัตติที่ 6 เอาไปใส่ใน ส.ส.ร.ได้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่รัฐสภาซึ่งเป็นแม่ของ ส.ส.ร.ไม่เอาแล้ว ก็เท่ากับว่า ลูกสามารถดำเนินการในสิ่งที่แม่ไม่เอาได้ ถ้าคำถามตรงนี้กระจ่างชัดการลงมติก็จะไปเป็นได้อย่างราบรื่น

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า ที่สุดแล้วเราจะมีวิธีการลงมติอย่างไร ท่านประธานบอกว่าจะใช้วิธีขานชื่อทีเดียว 6 ญัตติ จึงอดไม่ได้ที่จะคิดต่อไปได้ ถ้าผลการลงมติเป็นไปอย่างที่ตนจะยกตัวอย่าง ผลที่จะผูกพันต่อรัฐสภา ผลที่จะผูกพันพี่น้องประชาชน ผลที่จะผูกพัน ส.ส.ร. หากมีจะเป็นอย่างไร เช่น

“ผมเห็นชอบกับญัตติที่ 1 ขณะเดียวกันสภาเห็นชอบกับรายมาตรา บางมาตรา แปลว่า ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นใหม่ไม่สามารถไปยกร่างมาตราที่รัฐสภาเป็นชอบปรับปรุงแก้ไขจะเกิดสภา 2 สภา ต่างคนต่างร่างรัฐธรรมนูญงั้นหรือครับ”

“หรือ ในทางกลับกันหากเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะเดียวกันไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 4 ญัตติ แปลว่ามาตราต่าง  ๆ เหล่านั้น ส.ส.ร.จะไปปรับปรุงแก้ไขเลยไม่ได้ใช่ไหมครับ เพราะรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในการขอแก้ไขไปแล้ว”

ปัญหาเหล่านี้จะไปเกิดขึ้นในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าท่านออกแบบให้ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วขึ้นมาเสนอให้รัฐสภาพิจารณาก่อน ซึ่งสร้างความลำบากใจต่อการลงมติเป็นอย่างยิ่ง