“บรรสาน” อดีตทูตญี่ปุ่น ชูประโยชน์ 6 ข้อ สุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37  

นายบรรสาน อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รองเลขาฯนายกฯ ชูผลประโยชน์ 6 ประการที่ไทยและอาเซียนจะได้รับจากการประชุมสึดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ตลอด 4 วันที่ผ่านมา ทั้งการระดมเงินจากประเทศมหาอำนาจเข้ากองทุนอาเซียนโควิด และการฟื้นเศรษฐกิจในระยะยาวจากการลงนามเข้าร่วม RCEP อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 นายบรรสาน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2563 ทั้ง 14 การประชุมในกรอบอาเซียน และ 2 การประชุมในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย ดังนี้ 

1.  ปลอดภัยจากโควิด-19  มีความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข และมีภูมิคุ้มกันจากโรคระบาดในอนาคตมากขึ้น: ผ่านความร่วมมือทั้งในกรอบอาเซียน และกับประเทศคู่เจรจา โดยอาเซียนจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นประกาศให้เงินสนับสนุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐฯ ประกาศให้เงินสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ประเทศละ 1 ล้านเหรียญ เพื่อนำมาจัดซื้อหน้ากากอนามัย ชุด PPE รวมถึงวัคซีนและยาต้านไวรัส

นอกจากนี้ ทุกประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติได้ยืนยันที่จะร่วมมือกับอาเซียนในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน โดยให้ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าถึงวัคซีนเป็นประเทศแรก ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนไทย

2.  บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น:  ผ่านกรอบการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเน้นการให้ความช่วยเหลือ SME กลุ่มเปราะบาง และเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ การเสริมสร้างความรู้ดิจิทัลและทักษะที่จำเป็นสำหรับยุค new normal และ 4IR เพื่อให้ ‘ล้มแล้วลุกไว’

3.  สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคในระยะยาว: การลงนาม RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดที่มีประชากรมากถึง 2,200 ล้านคน GDP รวม 1 ใน 3 ของ GDP โลก ซึ่งรวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น e-commerce และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

4.  ช่วยแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย:  โดยสหประชาชาติ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะให้ความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติ ในขณะที่ไทย สหรัฐฯ และจีนจะร่วมกันจัดการสัมมนาออนไลน์เพื่อร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาขยะทะเล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

5.  เยาวชนไทยจะเข้าถึงโอกาสในการศึกษามากขึ้น:  โดยประเทศคู่เจรจา ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะให้ทุนการศึกษา และฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ แก่เยาวชนอาเซียน

6.  คนไทยจะมีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น: ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และกับประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์  การแแก้ปัญหา fake news และ hate speech ปัญหาการค้ามนุษย์ การต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ