แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือรายมาตรา ปมจำนวน-ที่มา สสร. เกมยื้อลากยาว

เกมแก้รัฐธรรมนูญ ในปี 2564 จะเป็นชนวนเดือดอีกหนึ่งไฮไลท์ที่เริ่มกันตั้งแต่เปิดศักราช

อาจเพราะเป็นโควิด -19 ที่กลับมาแพร่ระบาดรอบสอง ทำให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช… ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นั่งเก้าอี้เป็นประธาน ต้องถ่างวาระ ขอขยายเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป

เพราะตามกำหนดเดิม กมธ. คณะนี้ มีกรอบเวลาพิจารณา 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ 8 มกราคม 2564 แต่ในความเป็นจริง กมธ.ประชุมกันแค่ 5 นัด ก็ถึงคราวต้องเว้นวรรค เพราะบังเอิญเกิดความขัดแย้งจนประธานในที่ประชุม ในช่วงที่ “มหรรณพ เดชวิทักษ์” ส.ว.รองประธาน กมธ. ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมชั่วคราว ได้สั่งยุติการประชุม เนื่องจากมีการถกเถียง ระหว่าง กมธ.ที่เป็น ส.ส.ในฝ่ายค้าน กับ กมธ.จากสัดส่วน ส.ว.

จึงนัดประชุมกันรอบใหม่ 24-25 ธันวาคม ที่ผ่านมา กลับเกิดวาระโควิด – 19 แทรกซ้อน ทำให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา สั่งเลื่อนทุกวาระการประชุมในรัฐสภาออกไป ว่ากันใหม่ต้นปี 2564 ในวันจันทร์ที่ 4 มกราคม

ดังนั้น เมื่อการประชุมยังดำเนินไปได้เพียงแค่ 5 นัด และต้องล่มไปด้วยความขัดแย้งภายใน กมธ. บวกกับมรสุมโควิด – 19 ที่ลุกลาม จึงส่อแววว่า กมธ.จะขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขยายเวลาการพิจารณาจากเดิมที่จะครบวันที่ 8 มกราคม ขอต่อออกไป 30 วัน

Advertisment

“กมธ.เลื่อนการประชุมเพราะความขัดแย้งมา 1 ครั้ง ต่อด้วยเลื่อนเพราะโควิด -19 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณาให้จบภายในวันที่ 8 มกราคม ดังนั้น มีแนวโน้มว่า กมธ.จะขอขยายเวลาต่อที่ประชุมรัฐสภา ออกไป 30 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้ครบ 30 วันก็ได้ เพื่อให้ไทม์ไลน์การพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจบตามกำหนดในเดือนมกราคม 2564” แหล่งข่าว ใน กมธ.กล่าว

ขณะที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า คงไม่มีการเลื่อนประชุม แต่ กมธ.จะนัดประชุมตามการนัดประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าประธานสภาไม่เลื่อนนัด คณะกรรมาธิการก็ไม่เลื่อนนัด

นอกจาก โควิด – 19 ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการประชม เกมสู้รบในชั้น กมธ.ที่ดุเดือดเลือดพล่าน อันนำมาสู่การ “ตัดบท” ปิดประชุม เมื่อการประชุมครั้งที่ 5 วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การประชุมถึงขั้น “จบไม่ลง”

ส่องปมร้อนในชั้น กมธ.มีอยู่ 5 ปมขัดแย้งหลักไล่เรียงตามดีกรีความไม่ลงรอย

Advertisment

1.วาระที่ยอมกันไม่ลงคือ ประเด็นจำนวนเสียงในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การประชุมรัฐสภา โดยค้านยืนยันว่าต้องให้แก้ไขง่าย คือ กำหนดการขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากส.ส. จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของส.ส. (50 คน) หรือจากส.ส. และส.ว. จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (75 คน)

ส่วนฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ยืนยันว่าจะให้แก้ไขยาก คือ แก้จำนวนให้เป็น 2 ใน 5 ของทั้งสองสภาคือ 150 คน ดังนั้น จึงมีพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส.เกิน 100 เสียงที่พอจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น

อีกปมหนึ่งคือ จำนวนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าจะต้องใช้เสียงขั้นรับหลักการ 3 ใน 5 คือ 450 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านขอให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง แต่มีแนวคิดที่ 3 โผล่มาใหม่จาก กมธ.ฝ่ายรัฐบาลคือ ใช้เสียง 2 ใน 3 คือ 500 เสียงขึ้นไป

2. จำนวน ส.ส.ร. ฝ่ายรัฐบาลบวก ส.ว. ยืนยัน ส.ส.ร.150 มาจากการเลือกตั้ง และสรรหา 50 คน ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอไป แต่ฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทย – ก้าวไกล เห็นต่างและยืนยันว่า ส.ส.ร.จะต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 200 คน เท่านั้น

3.คุณสมบัติ ส.ส.ร. ทั้งร่างฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล ใช้คุณสมบัติการเป็น ส.ส.มาเป็นตัวตั้ง มีเกณฑ์ห้ามผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นพื้นฐาน ขณะที่เกมนี้ “ก้าวไกล” ดูเหมือนโดดเดี่ยว เพราะต้องการให้ ส.ส.ร.เปิดกว้าง ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นร่างประชาชน แต่ถูกมองว่าพยายามเปิดช่องให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – ปิยบุตร แสงกนกกุล” เข้ามานั่งเป็น ส.ส.ร. เกมนี้อาจถูกตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

4. ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน กำหนดให้มีเวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 120 วัน แต่ที่ประชุมเห็นว่าสั้นเกินไป ส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล กำหนดเวลา 240 วัน ส่วนร่างแก้ไขของ ไอลอว์ ใช้เวลา 360 วัน ดังนั้น กมธ.อาจตกลงให้เหลือกึ่งกลาง คือ 210 วัน

5. รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขได้ทั้งฉบับ หรือ แก้ไขได้เฉพาะรายมาตรา ยังเป็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุม กมธ.ภายหลังเชิญ “อุดม รัตอมฤต” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาให้ความเห็น โดย “อุดม” ระบุในที่ประชุมว่า

“ในนามส่วนตัวมิใช่ในนาม กรธ. เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และมิได้มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้”
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”

“รัฐสภาอาจสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็ได้” อุดม ให้ที่ประชุมบันทึกถ้อยคำ

ซึ่งประเด็นดังกล่าว “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.พลังประชารัฐ และ “สมชาย แสวงการ” ส.ว.ได้ยื่นญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว เหลือแค่รอมติจากที่ประชุมว่าจะอนุมัติให้ “ส่ง” หรือ “ไม่ให้ส่ง” เท่านั้น โดยจะมีความชัดเจนใน กุมภาพันธ์ 2564

5 ประเด็นร้อนจะถูกจุดทันทีเมื่อเปิดศักราช 2564