ไทม์ไลน์ “รัฐบาล-รัฐสภา” ติดเชื้อโควิด ล็อกดาวน์แก้รัฐธรรมนูญ ดองกฎหมาย

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำลายล้าง (disruption) ทุกสิ่ง ตั้งแต่ห้องประชุมตึกสูงเสียดฟ้า-บัลลังก์ผู้ทรงเกียรติในสัปปายะสถาน ลามเก้าอี้ประมุขทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนักธุรกิจ-ตระกูลเจ้าสัวผู้ถือครองความมั่งคั่งเป็นหลักทรัพย์-สินทรัพย์เสี่ยงหลักแสนล้าน ถึงนักการเมือง-เสนาบดีผู้ถือครองต้นทุนทางการเมืองไว้เต็มบ่า

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “บิ๊กอีเวนต์” ที่ขุนพลพรรคแกนนำพลังประชารัฐ-พรรคแนวร่วมประชาธิปัตย์ “หมายมั่นปั้นมือ” ให้เป็น “ปีแห่งรัฐธรรมนูญ” ลากยาวตลอดทั้งปี เป็นอันต้อง “สะดุด”

ภายหลังรัฐสภาลงมติ “รับหลักการ” ร่างรัฐบาล-ฝ่ายค้านเพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อรื้อ-ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ “ปีกลาย”

“วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล-ผู้คุมเสียง ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “วางโรดแมป-ไทม์ไลน์” การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จในชั้น กมธ. ราว “กลางเดือนมกราคม”

Advertisment

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะครบถ้วนกระบวนความ-ลงมติในวาระที่ 3 “เดดไลน์” ไม่เกินสมัยประชุมนี้ หรือไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2564

“สมมุตินัดสุดท้าย กมธ.ประชุมเสร็จวันที่ 14 มกราคม ก็ต้องส่งไปพิมพ์ อีกสัปดาห์หนึ่งจะถึงประธานสภา อาจเป็นวันที่ 21 มกราคม และประธานยังมีอำนาจบรรจุวาระอีก 15 วัน มองดูแล้วจบในสมัยประชุมนี้ ที่จะสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์แน่นอน พอเสร็จจากตรงนี้แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ผมแล้ว” วิรัช-ผู้กุมหางเสียงเปิดไทม์ไลน์ไว้ก่อนเปิดศักราช 2564

นอกจากอุปสรรค “วันหยุดชุก” ในปี 2564 ตั้งแต่ “ต้นปี” ยันกลางเดือนมกราคม จนต้องประชุมกันทุกวัน-วันหยุดแล้ว การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 “ระลอกสอง” ยังดิสรัปต์-ดีเลย์การแก้รัฐธรรมนูญออกไปอย่าง “ไม่มีกำหนด”

มิหนำซ้ำยังกระทบกับการเปิดศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน “จองกฐิน” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงส่งท้ายปีเก่า

Advertisment

นอกจากโควิด-19 ระลอกที่ 2 จะกระทบกับไทม์ไลน์-โรดแมปการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมี “งานประจำ” ในสภา ทั้งข้อหารือ-กระทู้ถาม-รับรองรายงานการประชุม ที่มีอันต้องกลายเป็น “ดินพอกหางหมู” ไปโดยปริยาย

รวมทั้งเรื่องด่วน-เรื่องที่ค้างการพิจารณา-เรื่องที่เข้าใหม่ ต่อคิวยาวเหยียด-หางว่าว อาทิ เรื่องด่วน-เรื่องค้าง

  • ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ลงมติร่างพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 2.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 3.ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

กระทู้ถามสด-ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง การชดใช้เงินทุนในบทบัญญัติ มาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เรื่อง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อสร้างถนนในการใช้สัญจรไปมาของประชาชนในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอเบญจลักษ์ และอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เรื่อง ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการปรับเพิ่มเบี้ยความพิการสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เรื่องค้างพิจารณา-ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา-แก้ปัญหา 149 เรื่อง อาทิ ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาเส้นและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาเส้น ปัญหาประชาชนบุกรุกพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหมดอายุสัมปทานในพื้นที่ภาคใต้ ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายเพชรบุรี-สุไหงโก-ลก

ปัญหาขนส่งและจัดเก็บสินค้าของท่าเรือ ปัญหาเจ้าพระยาเน่าเสีย การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสุรา สุราพื้นบ้านและคราฟต์เบียร์ ศึกษาการโอนท่าอากาศยานกระบี่ ไปสังกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอยใน กทม. ศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ ศึกษาผลกระทบจากการทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่

ขณะที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางอำนาจบริหาร-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 เร่งเครื่องปั่นผลงานก่อนเลือกตั้งใหญ่ ยังต้องประคองสถานการณ์การเมือง-ม็อบราษฎร และเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้ผ่านพ้นช่วงโค้งหักศอก-กลางปี 2564 โครงการ “เมกะโปรเจ็กต์” ถึงจะเดินเครื่องได้เต็มสูบ

มิหนำซ้ำเม็ดเงินงบประมาณ-เงินกู้ ซึ่งมี “เดดไลน์” กู้เงินก่อนเดือนกันยายน 2564 ที่เตรียมไว้กระตุ้น-ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อ ต้อง “เปลี่ยนแผน” กวาดเงินเกือบ 6 แสนล้าน มาเยียวยาโควิด-19 ระลอก 2

3-6 เดือนเป็นอย่างน้อยที่สภาผู้ทรงเกียรติ-ทำเนียบสามัคคีชัยของ พล.อ.ประยุทธ์-ท่านผู้นำ ต้องอยู่ในสภาวะเสมือน “ปิดปรับปรุงชั่วคราว”