เบื้องหลังคว่ำแผนแก้รัฐธรรมนูญ ล็อกมือ ส.ว.สืบทอดอำนาจ

ญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจรัฐสภาว่ามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือให้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เสนอโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผ่านไปง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

เมื่อ ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว.ผนึกกำลัง ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน รุมจวกว่าเป็น “ดีเลย์แท็กติก” ยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายให้การสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ต้องล่าช้า บังคับใช้ไม่ทันในศึกเลือกตั้งทั่วไปมีนาคม 2566

หมายความว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ยังถูกใช้ต่อไปจนถึงเลือกตั้งใหม่ และการโหวตนายกรัฐมนตรียังต้องใช้มือ ส.ว.เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญอีกรอบ

คำถามใหญ่จึงถูกโยนมาที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถึง “ความจริงใจ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisment

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า “รัฐบาลจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะแก้อย่างไรก็ไปว่ากันมา ในส่วนของรัฐสภา จุดยืนของรัฐบาลให้แก้ไขอยู่แล้ว แต่จะแก้อย่างไรไปว่ามา จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แก้ได้-แก้ไม่ได้”

ทว่า ทฤษฎี “ดีเลย์แท็กติก” ถูกตีความหมายผ่าน “สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

หลังจากนี้ก็คงต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ถ้าศาลบอกว่าสามารถแก้ไขได้ก็เดินต่อแต่หากศาลออกมาว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ทุกอย่างที่ทำมาก็พังหมด ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลรับปากแล้ว สุดท้ายรัฐบาลเลือกประโยชน์ตัวเองและตั้งใจโกหกประชาชน

“สมคิด” เชื่อว่า สาเหตุที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายรัฐบาลกับ ส.ว.ตั้งใจไม่ให้แก้เรื่อง “บทเฉพาะกาล” ที่เกี่ยวกับ ส.ว.และการโหวตนายกฯมากกว่า ข้ออ้างเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เพราะในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้ห้ามการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ไว้แล้ว

Advertisment

“ไพบูลย์” คนต้นเรื่องกล่าวว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ มันเป็นข้อกฎหมาย ศาลสามารถวินิจฉัยได้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยตั้ง ส.ส.ร. รัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่ามีอำนาจก็เป็นไปตามขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าศาลเห็นว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ ญัตติก็ตกไป จะยื่นอีกไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน

จึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภา 45 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขมาตราอะไร จะแก้ 50-100 มาตราก็โหวตกันให้เรียบร้อยและเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา เชื่อว่าใช้เวลารวดเร็วเพราะผ่านคณะกรรมาธิการร่วกันของ ส.ส.-สว.แล้ว

“ไพบูลย์” ถามกลับเสียงโจมตีเรื่อง “ดีเลย์แท็กติก” ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญวิธีไหนเสร็จเร็วกว่ากัน

“การยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าไปหรือไม่ ถ้า ส.ส.ร.ทำได้ ใช้เวลา 2 ปี แต่ตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ ใช้เวลา 6 เดือน”

“แต่แนวโน้มผมมั่นใจมากเลยว่า จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ จะต้องแก้ไขรายมาตราด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม จะเอาเรื่องแก้ไขระบบเลือกตั้งก็ว่าไป”

“แต่ถ้าจะไปแตะเรื่องพระราชอำนาจ กับบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เราก็ไม่ให้ พวกเขา (ฝ่ายค้าน) อยากรื้อมาตรา 272 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ใคร ๆ ก็ดูออก” ไพบูลย์กล่าว

เมื่อ “บทเฉพาะกาล” เปรียบเสมือน “ไข่ในหิน” สามารถเป็นประเด็นล้มการมี ส.ส.ร.ได้ในอนาคต แถมยังมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็น “ตราประทับ”

ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำความเห็นประกอบรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สายตรงจากทำเนียบรัฐบาลเป็นประธาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้อ่านผ่านตาไปตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ระบุถึงความเห็น แก้-ไม่แก้ บทเฉพาะกาล อาทิ

1.วุฒิสภา มีความเห็น 2 แนวทาง เกี่ยวกับการยกเลิกวุฒิสภา หรือสมควรยกเลิกวุฒิสภาที่ได้มาตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 และให้วุฒิสภามาจากวิธีการปกติ ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญตามบทหลัก

“ส่วนความเห็นอีกทาง คือ ให้วุฒิสภาชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ 5 ปี แต่อาจมีการปรับในเรื่องบทบาทและหน้าที่”

2.สมควรยกเลิกมาตรา 270 วรรคหนึ่ง คือ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานปฏิรูปต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน หรือแก้ไขระยะเวลาเป็นรายงานต่อรัฐสภาทุก 6 เดือนและควรให้การออกกฎหมายทุกฉบับเป็นไปตามกระบวนการปกติของรัฐสภา

3.กรณีให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 มี 2 แนวทาง คือ ให้การเลือกนายกฯ ให้กระทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อีกแนวทางหนึ่งเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมาตรา 272 เนื่องจากวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกฯ เป็นการบังคับใช้ชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน และได้มีการเลือกนายกฯไปแล้ว

4.การยกเลิกประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. มีความเห็น 2 ทาง คือ ให้ยกเลิกมาตรา 279 เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ประกาศ ตรวจสอบได้ว่าการใช้อำนาจรัฐในขณะนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการรับรอง ประกาศ คำสั่งที่มีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

และอีกแนวทางเห็นควรคงไว้ เนื่องจากมีการออกประกาศ คำสั่งต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบทางกฎหมายตามมา และยกเลิกมาตราดังกล่าวอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและมีการชุมนุมประท้วง

สุดท้ายแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เฉพาะรายมาตรา ไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้

หรือหากเกมดีเลย์แท็กติกเป็นเรื่องจริง ต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ถึงปี 2566 คุมการเลือกตั้งใหม่

ไม่ว่าออกทางไหน บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงทรงพลัง โดยเฉพาะอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี