เปิดโปรเจ็กต์หนังหน้าไฟ อภิปรายไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์”

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ในการบริหารราชการแผ่นดิน-ขึ้นสู่สังเวียนเป็นครั้งที่ 2 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

3 ป.กับอีก 7 รัฐมนตรี จาก 3 พรรคการเมือง พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ขึ้นบัลลังก์เป็นหนังหน้าไฟในศึกอภิปรายซักฟอก

รถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้มติดหล่มบีทีเอส

1 รองนายกรัฐมนตรี กับอีก 2 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาจาก 2 บิ๊กแห่งอาณาจักรภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรค และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรค

กับอีก 1 ป. บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต้องมา “ลงเรือลำเดียวกัน” กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว-รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ข้อกล่าวหาที่ถูก “ขีดเส้นใต้” ในห้อง “เก็งข้อสอบ” สัมมนาโรงแรมหรูย่านสุขุมวิท คือ ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน-เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ

การต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ออกไปอีก 30 ปี มีปมที่ยัง “แกะไม่ออก” ถึงขั้น “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกร 8 นายกฯ-12 รัฐบาลยังกุมขมับ

เพราะเกี่ยวพันกับกระทรวงคมนาคม-กระทรวงการคลัง-กทม. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใน 4 ประเด็น

1.การใช้สินทรัพย์ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากต่อสัญญาสัมปทานภายหลังโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลักหมดสัญญากับเอกชน-BTSC ในปี 2572 จะทำให้รัฐเสียเปรียบไปถึง 30 ปี

2.หลักการประกวดราคา-สัญญาสัมปทานโครงการของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 46 และมาตรา 47 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27

3.ค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม และ 4.คดีความ-ข้อพิพาททางข้อกฎหมายที่คาอยู่ใน ป.ป.ช.ว่าการต่อสัมปทานออกไปให้กับ “เอกชนรายเดิม” โดยไม่มีการประมูลใหม่หลังจากหมดสัญญาทำได้หรือไม่

ผนึกกับคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “โสภณ ซารัมย์” อดีต รมว.คมนาคม ค่ายภูมิใจไทย เป็นประธานกรรมาธิการ

อีก 1 โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ถูกลากเข้าซ้ำข้อกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน คือ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) วงเงิน 128,218 ล้านบาท

เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่ม BTS (บมจ.บีทีเอสฯ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราช กรุ๊ป) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะชิง “ล้มประมูล” ก่อนศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินภายหลังกลุ่ม BTS ฟ้อง รฟม.แก้ไขร่างทีโออาร์กลางคัน-ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล จากเดิมพิจารณาคุณสมบัติออกจากกัน โดยพิจารณาด้านเทคนิคก่อน หากผ่านเกณฑ์ถึงจะพิจารณาคุณสมบัติด้านราคา ชี้ขาดกันที่เอกชนรายใดให้ผลตอบแทนรัฐมากที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล เปลี่ยนเป็นพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคกับด้านราคาพร้อมกัน โดยให้น้ำหนักซองเทคนิค ร้อยละ 30 ซองราคา ร้อยละ 70 หรือตัดเชือกกันที่เอกชนรายใดให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากที่สุด เป็นการล็อกสเป็ก-เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายหรือไม่ ?

“ดิวตี้ฟรี” เอื้อคิง เพาเวอร์ ?

ตามมาด้วย “ข้อกังขา” บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. “เอื้อประโยชน์” ให้กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ หรือไม่ ในการประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) 4 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิเป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน (28 ก.ย. 2563-31 มี.ค. 2574)

และเลื่อนชำระค่าตอบแทนในการประกอบกิจการเฉพาะ และเลื่อนการชำระค่าเช่าพื้นที่จาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน

“อนุทิน” ยังถูกไม่ไว้วางใจพฤติการณ์ “ปกปิดอำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต” หลังจากถูกโยงการจัดซื้อ-จัดหาวัคซีนโควิด-19 เอื้อให้กับบริษัทเอกชน และความไม่ชัดเจนในการจองวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้า กับบริษัท AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส โดยเฉพาะ “ลอต 2” 35 ล้านโดสที่ยังไม่ระบุวงเงินงบประมาณและรายละเอียดการจัดซื้อ

ขณะที่วัคซีนโควิด-19 “ลอตแรก” จำนวน 26 ล้านโดสของบริษัท AstraZeneca จนถึงเวลานี้ยังมาไม่ถึงประเทศไทย

พล.อ.อนุพงษ์ ต้องรับหน้าศึกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ ที่อาจจะมีภาคต่อจากการอภิปรายครั้งแรก

ถุงมือยาง-หน้ากากอนามัยหลอน “จุรินทร์”

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกอภิปรายทั้งหัวหน้าพรรค-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ และรองหัวหน้าพรรค-นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

“จุรินทร์” ถูกจองกฐินซักฟอกข้อหา “ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต” กรณีการจัดซื้อ “ถุงมือยาง” ระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จำนวน 500 ล้านกล่อง มูลค่ากว่า 112,500 ล้านบาท

โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ อคส. เฉพาะอย่างยิ่งพฤติการณ์เร่งรีบ-รวบรัดโอนเงิน 2,000 ล้านบาท หลังทำสัญญาซื้อขายเพียง 3 วัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด อคส.เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 มีมติให้ “ระงับ” โครงการซื้อขายถุงมือยาง และดำเนินการทางคดีเพื่อ “อายัดบัญชี” การโอนเงินจำนวน 2,000 ล้าน

ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ป.ป.ช. ที่ฝ่ายค้านขู่ว่า สาวให้ถึงบริวาร-ญาติมิตรทางการเมือง “พรรคเก่าแก่”

“นิพนธ์” เจอข้อกล่าวหา “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ทั้งจาก “วิบากกรรมเก่า” สมัยเป็น “นายก อบจ.สงขลา” เมื่อปี’56 ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์จำนวน 51 ล้านบาท และโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน

“ประยุทธ์” เป้าใหญ่ใจกลางปัญหา

ภาพรวมการบริหารจัดการเศรษฐกิจจะพุ่งเป้าไปที่ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่เพียงผู้เดียว ทั้งในเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ปฐมบทจากการใช้อำนาจคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เอื้อประโยชน์ให้กับ “เอกชนรายเดิม” โดยไม่มีการเปิดประมูล

โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการเจรจาลับ-องค์กรตรวจสอบ โดยไม่ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562

ถูกฝ่ายค้านตั้งประเด็นเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่ตกเป็นของรัฐ ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานเดิมไปหากินต่อไปอีก 30 ปีหรือไม่ ?

การจัดซื้อ-จัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางราย การระบาดของโควิด-19 “ระลอกสอง” ที่มีต้นตอมาจากบ่อนพนัน-แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ท่ามกลางข่าวปล่อยลอยมาจากพรรคฝ่ายค้านล่วงหน้าว่ามีบิ๊กในรัฐบาลพัวพันแรงงานเถื่อน

แม้รัฐมนตรีจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 9 คน แต่เรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจคงต้องพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว