ศึกแก้รัฐธรรมนูญเดือด ส.ส.-ส.ว.ประลองกำลังเดินหน้าโหวตยกที่ 3

11 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. อาจเป็นวันชี้ชะตาอนาคตการเมือง เมื่อ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยกรณีที่สมาชิกรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ทั้งฉบับได้หรือไม่

ล็อกสำคัญคือ การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แทนรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้หรือไม่

ภายหลังรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ในวาระที่ 2 ก่อนทิ้งไว้ 15 วันเพื่อลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งลงปฏิทินไว้ที่ 17-18 มีนาคม 2564

คิวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมา “คั่นกลาง” ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติวาระที่ 3 พอดิบพอดี

เงื่อนไข ส.ว.ขวางแก้รัฐธรรมนูญ

เกมยื้อแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังจะออกหัว-ออกก้อย เดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ นักการเมืองไม่อาจคาดเดาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

Advertisment

อาจแท้งตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่อนุมัติให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมี ส.ส.ร.ได้ ทำได้เพียงแก้ไขรายมาตรา

หรือหากผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ อาจถูกล้มกระดานในการโหวตวาระ 3 ซึ่งมีด่าน 84 เสียงของ ส.ว.ขวางไว้

ตามเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (6) ในการลงมติวาระที่ 3 จะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง เห็นชอบด้วย

หาก ส.ว. 84 คน “งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกไป เสียงขู่ของ ส.ว.จึงดังออกมาเป็นระยะ

Advertisment

“เงื่อนไขใหม่” ที่ ส.ว.งัดมาใช้โน้มน้าวขอฉันทามติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จากใน-นอกรัฐสภา คือ การที่รัฐสภาให้อำนาจ ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม้จะบัญญัติว่าห้ามแตะหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีอะไรแน่ใจได้ว่าจะไม่แก้มาตราที่เกี่ยวข้องกับ “พระราชอำนาจ”

ปชป.-ชาติไทย โต้สภาสูง

“ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานวิปรัฐบาล ให้ความเห็นสวนทางกับ ส.ว.อย่างชัดถ้อย-ชัดคำ

ถ้าดูรายละเอียดแล้ว ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะมาตรา 256/13 ตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ห้ามแก้ไขที่ไปกระทบหมวด 1 หมวด 2 อย่างน้อย 24 มาตรา ซึ่งไม่กระทบแน่นอน และรัฐธรรมนูญมาตรา 255 บัญญัติว่า

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้” ซึ่งควบคุมไว้ชั้นที่ 2

และชั้นที่ 3 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ส.ส.ร.มาแล้ว หากมีประเด็นไปก้าวล่วงหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 รัฐสภามีอำนาจวินิจฉัยให้รัฐธรรมนูญตกไปได้

“เป็นกระบวนการตรวจสอบ กลั่นกรองหลายชั้น หลังสุดนี้มีการกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ อีก 14 มาตรา รวมเป็น 38 มาตรา ส่วนตัวเห็นว่า หมวดที่ 1 บัญญัติชัดเจนว่า เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจนั้นทางนิติบัญญัติ ตุลาการ และการบริหาร”

“ดังนั้น มาตราอื่นถือว่าเป็นมาตราที่เกี่ยวเนื่องในฐานะที่เป็นประมุข การแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ต้องล้อกับมาตราหมวด 1 หมวด 2 แม้จะไปเปลี่ยนในมาตราใดมาตราหนึ่ง ก็จะถูกกล่าวอ้างได้ว่ากระทบกับหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ผู้ที่อ้างเหตุผลดังกล่าวจึงไม่มีตรรกะในการจัดทำรัฐธรรมนูญ”

“พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่ชัดเจนว่าส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่ยอมให้มีการก้าวล่วงหรือเปลี่ยนแปลงหมวด 1 หมวด 2 และเกี่ยวกับพระราชอำนาจทั้งหมด”

สอดคล้องกับ “นิกร จำนง” ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความเห็นว่า การที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256/9 วรรคห้า กำหนดห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 ย่อมครอบคลุมถึงบทบัญญัติที่อยู่ในหมวดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการปกครองประเทศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องระบุบทบัญญัติมาตราอื่นใดไว้ในหมวดอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญแห่ง 2560 อีก

เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาถูกผลักขึ้นบนเวที ระหว่าง ส.ส.สภาล่าง กับส.ว.แห่งสภาสูง โดยฝ่าย ส.ว.แต้มต่ออยู่ในกระเป๋าถึง 84 เสียง กำหนดเกมแก้รัฐธรรมนูญ ไว้ล่วงหน้า

ฝ่ายค้านยุโหวตวาระ 3

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค มีการประชุมกันเมื่อ 8 มีนาคม 2564 นำโดยพรรคเพื่อไทย ร่วมกับพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย มีการอภิปรายพูดคุยอย่างกว้างขวาง

โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สรุปประเด็นหารือฝ่ายค้านว่า 1.เราหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นทางออกให้ประเทศ เพราะมีทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในทำนองเดียวกัน โดยมีกระบวนการ ส.ส.ร. เพราะทุกภาคส่วนพบว่ามีปัญหาจึงต้องร่างใหม่โดยตัวแทนของประชาชน
2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยึดหลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2555 แบบ 100% เพราะต้องทำประชามติถึง 2 ครั้ง

3.การพิจารณาวาระ 3 จะต้องเดินหน้าต่อไป เป็นอำนาจของรัฐสภา ไม่ว่าผลของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร

จุดเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากไล่เรียงจุดเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองที่ “จุดพลุ” เรื่องนี้หลังเลือกตั้งคือ “พรรคประชาธิปัตย์” เพราะแนบเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลให้เสียงโผล่พ้นน้ำ กลายเป็น “วาระเร่งด่วน” ในข้อที่ 12 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ขั้วการเมืองที่ “คิกออฟ” แก้รัฐธรรมนูญช่วงสิงหาคม-กันยายน 2562 มิใช่พรรครัฐบาล แต่เป็น 7 พรรคฝ่ายค้าน นำโดย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เพื่อชาติ ประชาชาติ พลังปวงชนไทย เสรีรวมไทย และเศรษฐกิจใหม่

จัดเวทีสัมมนาแก้รัฐธรรมนูญ 4 ภาค เหนือจดใต้ ผนึกกับ “ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ช่วงตุลาคม 2562 จุดไฟแก้รัฐธรรมนูญให้กลับมาคึกคัก

ในเวลาเดียวกัน ฟาก ส.ส.รัฐบาล และฝ่ายค้าน ได้เสนอญัตติด่วน ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ถึง 5 ญัตติ นำมาสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

เกมแก้รัฐธรรมนูญมีการชิงไหว-ชิงพริบระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล และรัฐบาลด้วยกันเองอย่างดุเดือด

พรรคประชาธิปัตย์มีมติเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค นั่งเก้าอี้เป็นประธาน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ปล่อยชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ต่อมามีชื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพิ่มอีกคน

24 ธันวาคม 2562 ในการประชุม กมธ.นัดแรก ได้บทสรุปคนที่นั่งเป็นประธาน กมธ. คือ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถูกส่งตรงจากตึกไทยคู่ฟ้า มาคุมเกม

แฟลชม็อบฟื้นกระแส

หลังจากก้าวข้ามศักราช 2562 สู่ 2563 วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกกลบด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนเงียบกริบ แต่แล้วจุดพลิกผันของเรื่องก็เกิดขึ้น เมื่อมีลูกเรือ-ทหารอียิปต์ ซึ่งเป็นแขก V.I.P. เข้าพักใน จ.ระยอง จนแตกตื่นกันไปทั่ว ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วงในโซเชียลมีเดีย

18 กรกฎาคม 2564 การชุมนุมแฟลชม็อบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ภายใต้กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth ก็อุบัติขึ้น จากนั้นการชุมนุมระบาดไปทั่วทั้งเมือง เงื่อนไข 3 ข้อเรียกร้อง 1.ต้องยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังไปทุกหัวระแหง

จึงเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่างชิงพื้นที่การเมือง “หยิบ” วาระการแก้รัฐธรรมนูญโหนกระแสม็อบนักเรียน นักศึกษา ฟื้นประเด็นแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ฝ่ายรัฐบาลโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงจุดยืนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ

ขณะที่ฝ่ายค้านกลับไม่เป็นเอกภาพ เมื่อพรรคเพื่อไทยยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ทำให้พรรคก้าวไกลถอนชื่อและชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาเอง พร้อมพ่วงประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว.

แต่สุดท้าย “ก้าวไกล” ต้องกลับลำถอนญัตติ เนื่องจากพรรคการเมืองซีกรัฐบาลถอนชื่อจากการสนับสนุน ทำให้เสียงไม่พอ ต้องมาร่วมแก้ไขกับผองเพื่อนฝ่ายค้านแบบยอมจำนน

เกมหักมุมในรัฐสภา

กระนั้น เมื่อม็อบนอกสภาบีบบังคับให้นักการเมืองในสภาให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นผลให้ นักการเมืองในสภาระดมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมกัน 6 ร่าง และมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ที่รณรงค์โดย “ไอลอว์” อีก 1 ร่าง

23-24 กันยายน 2563 เป็นวันที่รัฐสภาเตรียมลงมติโหวตรับ-ไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เกิดการ “หักมุม”180 องศา เมื่อแกนนำพรรคพลังประชารัฐงัดข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม ตั้ง กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ก่อนรับหลักการ ขั้นรับหลักการที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” นั่งหัวโต๊ะ ยื้อการพิจารณาอีก 30 วัน

ผ่านไป 1 เดือนเศษ 18 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน แต่คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ พร้อมกับตั้ง กมธ. 45 คน ไปยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ข้ามศักราช จาก 2563 มาถึง 2564 เกมรัฐธรรมนูญในชั้น กมธ.ก็เป็นรูปเป็นร่าง และผ่านการโหวตในวาระ 2

แต่แล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 366 เสียง ต่อ 315 เสียง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร.ได้หรือไม่ ตามที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “สมชาย แสวงการ” ส.ว. ร้องขอ

และศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะวินิจฉัย 11 มีนาคมนี้ โปรดรอด้วยใจระทึกว่าจะแท้งหรือไปต่อ

พรรคที่ระทึกที่สุด คือ “ประชาธิปัตย์” หากเกมแก้รัฐธรรมนูญที่เคยเป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาลเกิดแท้งขึ้นมา จะกล้าถอนตัวร่วมรัฐบาลหรือไม่